แนะธุรกิจปรับกลยุทธ์ รับสงกรานต์คนกรุงฯ ปี61







     อีกไม่กี่วันก็เข้าสู่เทศกาลสงกรานต์แล้ว ถือเป็นอีกช่วงวันหยุดยาวของคนไทย ทั้งนี้ จากการประเมินศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์วันที่ 12-16 เมษายน 2561 คาดการณ์ว่า คนกรุงฯ จะมีการจับจ่ายใช้สอยคิดเป็นเม็ดเงิน 24,140 ล้านบาท  ขยายตัวร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงสงกรานต์ปีที่แล้ว ซึ่งในปีนี้ภาพรวมการจับจ่ายใช้สอยน่าจะให้มุมมองที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนจากบรรยากาศที่ผ่อนคลายขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ในช่วงของการไว้อาลัย ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ทั้งการเพิ่มวันหยุดและมาตรการลดหย่อนภาษี เพื่อการสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง 
 

     แต่ผลจากความไม่สะดวกในการเดินทาง (การจราจรที่ติดขัด/การเดินทางที่ต้องใช้เวลานานในช่วงเทศกาล) สภาพอากาศที่ร้อนมากและแปรปรวน ยังเป็นปัจจัยกระทบต่อการวางแผนตัดสินใจเลือกทำกิจกรรมและการจับจ่ายใช้สอยในช่วงสงกรานต์ปีนี้ รวมถึงประเด็นในเรื่องของค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือน ที่อาจจะทำให้คนกรุงฯ บางส่วนยังคงระมัดระวังกับการใช้จ่าย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ไม่สูงมาก เช่น ลดการช้อปปิ้งในสินค้าที่ไม่จำเป็น เลือกที่จะพักผ่อนอยู่บ้านในช่วงสงกรานต์ที่หยุดยาว หรือเลือกอยู่ในกรุงเทพฯ แทนการกลับบ้านต่างจังหวัด (กรณีคนที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ) เป็นต้น
 

เม็ดเงินค่าใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2561
 
     ทั้งนี้ เม็ดเงินค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2561 แยกเป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสังสรรค์ (อาหารและเครื่องดื่ม) 9,200 ล้านบาท ค่าที่พัก/เดินทาง 6,300 ล้านบาท ช็อปปิ้ง 4,500 ล้านบาท ทำบุญไหว้พระ 2,040 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในกิจกรรมอื่นๆ อาทิ ให้เงินผู้ใหญ่ในครอบครัว ค่าเที่ยวสถานที่ต่างๆ/ดูหนังฟังเพลง/เล่นน้ำ 2,100 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายในทุกกิจกรรมมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น 
 

     อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในบางกิจกรรม อย่าง การช้อปปิ้งและทำบุญไหว้พระ จะพบว่า มีอัตราการขยายตัวที่น้อยกว่าค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะคนยังระมัดระวังกับการใช้จ่ายอยู่ ทำให้งบประมาณที่จัดสรรไว้สำหรับการใช้จ่ายในส่วนนี้อาจจะไม่เพิ่มจากปีที่แล้วมากนัก
 

วางแผนทำกิจกรรมในกรุงเทพฯ ช่วงสงกรานต์
 
     ขณะเดียวกัน คนกรุงฯ กว่าร้อยละ 53.0 เลือกวางแผนทำกิจกรรมในกรุงเทพฯ ช่วงสงกรานต์ปีนี้ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน รองลงมาคือ กลับบ้านต่างจังหวัด (ร้อยละ 27) และท่องเที่ยว (ร้อยละ 20) ประเด็นที่น่าสนใจคือ พฤติกรรมคนกรุงฯ เริ่มเปลี่ยน จากเดิมที่นิยมกลับบ้านต่างจังหวัดหรือวางแผนเดินทางท่องเที่ยว เปลี่ยนมาเป็นเลือกอยู่ในกรุงเทพฯ ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว
 

     เหตุผลหลักน่าจะมาจากความแออัดของแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในช่วงเทศกาลที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ความไม่สะดวกในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นทั้งสนามบิน สถานีขนส่ง ตลอดจนการจราจรบนท้องถนนที่คับคั่งและหนาแน่น  ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า แนวโน้มที่คนกรุงฯ จะหันมาทำกิจกรรมต่างๆ ในกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลสงกรานต์น่าจะเพิ่มขึ้น และน่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในปีนี้และปีต่อๆ ไป ในการวางแผนจับตลาดผู้บริโภคคนกรุงฯ ที่เลือกอยู่กรุงเทพฯ ในช่วงสงกรานต์ เพราะน่าจะมีจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น
 

     นอกจากนี้ เป็นที่สังเกตว่าในกิจกรรมหลายๆ อย่างที่คนกรุงฯ สนใจจะทำในช่วงสงกรานต์ปีนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมที่ทำภายในบ้าน หรือหากเป็นกิจกรรมนอกบ้าน ก็จะเป็นการท่องเที่ยวในระยะใกล้ๆ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
 
  • การนัดเลี้ยงสังสรรค์ เป็นกิจกรรมที่คนกรุงฯ ส่วนใหญ่วางแผนจะทำมากที่สุด รองลงมาคือ พักผ่อนอยู่บ้านและทำบุญตักบาตร ซึ่งในส่วนของการนัดเลี้ยงสังสรรค์ ซึ่งเป็นกิจกรรมยอดนิยมนั้น จากผลการสำรวจพบว่า คนกรุงฯ ร้อยละ 41 สนใจซื้ออาหารและเครื่องดื่มมาจัดสังสรรค์หรือปาร์ตี้ที่บ้านมากที่สุด รองลงมาคือ สั่งบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery Service) ส่วนหนึ่งเพราะความนิยมในบริการของ Food Delivery ที่สั่งซื้อง่าย ไม่ต้องออกจากบ้านก็มีอาหารส่งตรงถึงบ้าน ส่วนในกิจกรรมรองลงมาอย่าง พักผ่อนอยู่บ้าน คนกรุงฯ ส่วนใหญ่ก็เลือกดูทีวี/ดูหนัง/ฟังเพลง สั่งอาหารและเครื่องดื่มผ่านช่องทางเดลิเวอรี่มารับประทานและเล่น Social Media (แชทพูดคุยกับเพื่อน/อัพรูป/ เช็คข่าวสารโปรโมชั่นสินค้าและบริการต่างๆ) 

  • คนกรุงฯ ที่เลือกอยู่ในกรุงเทพ บางส่วนมีแนวโน้มหันมาท่องเที่ยวจังหวัดใกล้เคียงที่สามารถเช้าไปเย็นกลับเพิ่มมากขึ้น โดยจังหวัดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ อยุธยา ซึ่งส่วนหนึ่งคาดว่าน่าจะได้รับอิทธิพลจากละครย้อนยุคเชิงประวัติศาสตร์ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ รวมถึงการเลือกท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ซึ่งสถานที่ยอดนิยมที่คนกรุงฯ ยังให้การตอบรับมากก็คือ ห้างสรรพสินค้าต่างๆ และย่านสีลม (ที่มีกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงสงกรานต์)
 
โอกาสทางธุรกิจและการปรับตัว
 
     เนื่องจากปีนี้ คนกรุงฯ ส่วนใหญ่เน้นทำกิจกรรมอยู่ที่บ้าน (เช่น เลี้ยงสังสรรค์หรือจัดปาร์ตี้ที่บ้าน สั่งอาหารเดลิเวอรี่มาทาน รวมถึงช็อปปิ้งออนไลน์) ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เพื่อกระตุ้นให้คนกรุงฯ เกิดการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ บรรดาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นค้าปลีก ร้านอาหารเดลิเวอรี่ รวมถึงธุรกิจจัดส่งสินค้า (ที่สนับสนุนธุรกิจค้าปลีกออนไลน์) จะต้องมีการเตรียมความพร้อมต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มบริการที่หลากหลายและครอบคลุม เช่น การจัดเซตอาหารเพื่อเลี้ยงสังสรรค์ตามจำนวนคน มีเมนูอาหารที่หลากหลายให้เลือก รวมถึงการบริหารจัดการหลังร้าน ตั้งแต่การประกอบอาหารไปจนถึงการบริการจัดส่งที่รวดเร็ว เนื่องจากคาดว่า ในช่วงเทศกาลจะมีออเดอร์เข้ามามากกว่าปกติ ดังนั้น เพื่อไม่ให้ลูกค้าต้องรอนาน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องบริหารจัดการหลังร้านให้ดี ตั้งแต่ปริมาณอาหาร พนักงานและตารางการจัดส่งเดลิเวอรี่ หรือถ้าเป็นช็อปปิ้งออนไลน์ก็อาจมีบริการจัดส่งสินค้าเพิ่มในช่วงวันหยุด เป็นต้น
 

     ขณะที่คนกรุงฯ บางส่วนยังคงเลือกทำกิจกรรมในห้างสรรพสินค้า ซึ่งรวมถึงร้านอาหารภายในห้างฯ ก็อาจจะต้องปรับกลยุทธ์เพื่อจูงใจให้คนตัดสินใจใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคบางกลุ่มที่ยังคงกังวลในเรื่องของกำลังซื้อ ผู้ประกอบการอาจจะต้องเน้นไปที่การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกในด้านบริการต่างๆ เพราะคาดว่าคนน่าจะเข้ามาใช้บริการมากกว่าปกติในช่วงเทศกาล เช่น ที่จอดรถ จุดชำระเงิน การต่อคิวร้านอาหาร เป็นต้น  โดยรูปแบบของการทำการตลาดก็ยังคงให้ความสำคัญกับการลดราคาสินค้า การชูความคุ้มค่าคุ้มราคา และการผ่อนชำระ 0% ที่นานขึ้น ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมร่วมสนุกที่เชื่อมโยงกับช่องทางออนไลน์ เช่น ถ่ายรูปสินค้าหรือแบรนด์และโพสต์ลง Social Media เพื่อลุ้นรับของรางวัลหรือส่วนลด หรือร้านอาหารอาจจะมีการเพิ่มเมนูสุดคุ้มหรือเมนูพิเศษในช่วงเทศกาล
 

     นอกจากนี้ ห้างสรรพสินค้าก็อาจมีการจัดงานอีเว้นท์ต่างๆ เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศภายในห้างฯ และกระตุ้นหรือจูงใจให้คนเข้ามาใช้จ่ายภายในห้างฯ มากขึ้น สะท้อนจากผลสำรวจกิจกรรมทางการตลาดที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของคนกรุงฯ มากที่สุด ยังคงเป็น กลยุทธ์ลด แลก แจก แถม (ร้อยละ 29) ตามมาด้วยการจัดโซนถ่ายรูปที่ระลึก เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าสนใจแวะชมสินค้า (ร้อยละ 19) การจัดอีเว้นท์ร่วมสนุก/ชิงรางวัล (ร้อยละ 15) และการให้สิทธิพิเศษกับลูกค้าที่ร่วมกิจกรรมของทางร้าน เช่น แต่งกายชุดไทยตามละครมาใช้บริการ ให้ส่วนลดเมนูอาหารดังในละคร (ร้อยละ 14) 
 

     อย่างไรก็ตาม การที่คนกรุงฯ บางส่วนวางแผนท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯ ก็น่าจะเอื้อต่อผู้ประกอบการในละแวกสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ หรือตามจุดแวะพักอย่างสถานีบริการน้ำมัน/แก๊ส ร้านอาหาร ร้านของขวัญ/ของฝาก เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรเตรียมความพร้อมในการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

Luxumer โอกาสธุรกิจปี 2025 โตสวนกระแส ไม่แคร์เศรษฐกิจ

ปรากฏการณ์ “เสพติดความลักซ์” ของคนไทยกลายเป็นประเด็นที่น่าจับตา จากพฤติกรรมต่อคิวรอซื้อ เกลี้ยงเชลฟ์ “หยุดไม่ได้ ก็ใจมันลักซ์” ของชาว Luxumer จึงกลายเป็นเทรนด์ทางการตลาดที่น่าสนใจสำหรับหลาย ๆ ธุรกิจ

เช็คเลย! ธุรกิจรุ่ง-ร่วง 2568 จะไปต่อหรือพอแค่นี้ดี

ส่งท้ายปี 2567 ด้วยการอัพเดตเทรนด์ผู้บริโภคที่ธุรกิจจะต้องปรับตัวตาม ในปี 2568 พร้อมเช็คกันว่าธุรกิจไหนจะรุ่ง-ร่วง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกัน

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด