“สมมติ” บูธหนังสือที่เป็นมากกว่าบูธสี่เหลี่ยม







     จากที่ได้ไปลองเดินสำรวจงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งล่าสุด เพื่อสรรหาหนังสือถูกใจมาอ่านสัก 2 - 3 เล่มเหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา บรรยากาศของานยังคงคึกคักละลานตาไปด้วยบูธจำหน่ายหนังสือมากมายจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่ขนกันมาเอาใจแฟนหนังสือ แต่แล้วสายตาก็พลันไปสะดุดเข้ากับบูธๆ หนึ่งที่มีการจัดตกแต่งไว้อย่างสวยงาม ออกแบบจัดวางพื้นที่ใช้สอยเป็นสัดส่วนลงตัว ยังไม่ทันที่สมองจะคิดอะไรต่อ ขาก็ก้าวออกไปข้างหน้า มารู้ตัวอีกทีก็หยุดยืนอยู่ในนั้นเสียแล้ว
 

     บูธที่ว่านี้มีนามว่า ‘สมมติ’ เป็นชื่อบูธและชื่อของสำนักพิมพ์เล็กๆ แห่งหนึ่งที่ผลิตหนังสือวรรณกรรมคลาสสิก ทั้งวรรณกรรมไทย วรรณกรรมแปล และงานวิชาการ ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น และบทกวี เป็นแนวหนังสือที่เน้นเนื้อหาหนักแน่นจริงจัง ก่อตั้งขึ้นเมื่อสิบปี 2551
 




     ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์สมมติ ได้เล่าที่มาของไอเดียการออกแบบรูปแบบบูธที่แตกต่างให้ฟังว่า
 

     “เราเริ่มต้นออกแบบบูธในรูปแบบที่แตกต่างนี้ขึ้นเมื่อปลายปี 2558  จุดเริ่มต้นมาจากการที่สำนักพิมพ์ได้แตกไลน์สินค้าเพิ่มขึ้นมาอีกส่วนหนึ่งนอกจากหนังสือเรียกว่า the Object เป็นสิ่งของต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือและการเขียน เช่น แก้วน้ำ ปากกา ดินสอ กล่องดินสอ ถุงผ้า ฯลฯ พอมีสินค้าเพิ่มขึ้นมาอีกไลน์หนึ่ง ทำให้เราต้องจัดสัดส่วนและลำดับความสำคัญของสิ่งของที่มีอยู่ในบูธให้ออกมาลงตัวมากที่สุด โดยก่อนหน้านั้นเราก็มีแนวคิดที่อยากจะทำอยู่แล้วด้วย หากลองสังเกตดูการจัดบูธทั่วไปส่วนใหญ่แล้วโต๊ะขายหนังสือมักจะถูกวางติดขอบพื้นที่บูธพอดี เวลาคนมาซื้อหนังสือก็จะยืนมุ่งออกันอยู่ด้านหน้า ทำให้เกิดการติดขัดอยู่บนทางเดิน นี่คือสิ่งที่เราคิดอยากแก้ไขปัญหามาตลอด พอได้จังหวะแตกไลน์สินค้าออกมาพอดีก็เลยลองทำขึ้นมา”
 




     การฉีกกรอบจากรูปแบบบูธแบบเดิมๆ ที่เคยทำของสำนักพิมพ์สมมติ เริ่มต้นขึ้นจากการออกแบบจัดวาง เพื่อทำให้พื้นที่ของหนังสือและสินค้าอื่นๆ อยู่รวมกันได้อย่างกลมกลืน โดยออกแบบมาในรูปแบบเป็นเหมือนห้องๆ หนึ่ง ที่ถูกจัดวางไว้เป็นสัดส่วน มีชั้นวางที่ทำขึ้นมาจากกล่องกระดาษลูกฟูก โต๊ะวางหนังสือ มุมวางสินค้า โทนสีที่ใช้ คือ สีดำ สีเข้ม เพื่อเข้ากับแนวของหนังสือที่ทำ บรรยากาศโดยรวมคล้ายกับเดินเข้ามาในร้านหนังสือเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย น่าอ่านน่าหยิบจับ
 




     “เราออกแบบในลักษณะเหมือน room in room หรือ ห้องในห้อง มีมุมหนังสือเป็นห้องใหญ่ลิฟวิ่งรูมอยู่ตรงกลาง ส่วน the Object เป็นห้องเล็กในห้องใหญ่อีกทีอยู่ด้านข้าง ปีนี้ครบรอบ 10 ปีของเราพอดีด้วย ดังนั้นสินค้าจะมีความพิเศษหน่อย แคชเชียร์ก็อยู่มุมด้านใน การจัดวางนั้นหนังสือของสำนักพิมพ์เราจะวางอยู่ที่ชั้นด้านหลังเป็นผนัง ส่วนโต๊ะข้างหน้าจะเป็นหนังสือของเพื่อนๆ ที่ฝากขาย ซึ่งเป็นทำเลที่ดีที่สุด โดนวางหมุนเวียนสลับกันไปให้ทุกคนได้อยู่ในทำเลทอง แม้ว่าเล่มนั้นอาจจะขายดีหรือไม่ดี เพื่อให้ผู้อ่านได้รับรู้ว่าอย่างน้อยๆ ก็มีหนังสือแบบนี้อยู่นะ โทนสีที่เลือกใช้ คือ สีดำ เพราะโดยปกติปกหนังสือเราจะใช้โทนสีเข้ม ดำ น้ำตาล ฟ้าเข้ม ส้มหม่นๆ อยู่แล้ว ตรงกับภาพลักษณ์ของสำนักพิมพ์และแนวหนังสือที่ทำ นอกจากนี้เราก็มีการจัดแต่งด้วยข้าวของบ้างเพื่อสร้างบรรยากาศ เช่น ดอกไม้แห้ง เครื่องพิมพ์ดีดโบราณ เราทำงานคลาสสิก นักเขียนยุคนั้นก็ใช้พิมพ์ดีด โดยก่อนหน้านี้เราก็เคยออกแบบมาแล้วหลายครั้ง ทำคนเดียวบ้าง ทำร่วมกับเพื่อนสำนักพิมพ์อื่นบ้าง แต่ครั้งนี้ผมว่าออกมาได้ลงตัวและใกล้เคียงกับที่ผมจินตนาการไว้มากที่สุด”
 




     นอกจากเพื่อประโยชน์ในการใช้งาน การจัดออกแบบบูธของสำนักพิมพ์สมมติยังช่วยสื่อสารถึงตัวตน ภาพลักษณ์ และอีกสิ่งที่ปิยะวิทย์มองว่าสำคัญ คือ การตอบแทนผู้อ่านที่เป็นแฟนหนังสือด้วย
 

     “เราเป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ ฉะนั้นโจทย์ของเรา คือ ต้องแสดงตัวตนเพื่อให้ผู้อ่านที่เป็นแฟนๆ หนังสือจดจำได้ การออกบูธก็เป็นการสร้างภาพจำอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ยังเป็นเหมือนการตอบแทนผู้อ่านด้วย ในเมื่อเราได้มีโอกาสมาออกงานในนามของสำนักพิมพ์แล้ว ก็อยากให้ผู้อ่านได้อะไรกลับไปมากกว่าที่เขาจะหาได้จากบูธอื่นหรือร้านหนังสือปกติทั่วไป แม้จะเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาสำหรับสำนักพิมพ์เล็กๆ และอาจไม่ได้รีเทิร์นกลับมาในแง่ของการตลาดที่เพิ่มขึ้นมากนัก แต่พื้นที่การออกบูธเพื่อพบผู้อ่านเป็นสิ่งที่เราคำนึงถึงเสมอ แฟนหนังสือหลายคนชม บอกว่าไม่เคยเจอบูธหนังสือที่ตกแต่งแบบนี้ เราเองคงยึดรูปแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ คงไม่กลับไปเปลี่ยนเป็นโต๊ะยาวสองตัวมาวางเรียงเฉยๆ เพราะนั่นคือ การไม่ซื่อสัตย์กับคนอ่านของเราเอง ทุกวันนี้ผมขายหนังสือไม่ลดราคานะ ขายราคาปกเลย เพื่อรักษาโครงสร้างวงการหนังสือ เราเป็นสำนักพิมพ์ไม่ควรไปขายแข่งกับร้าน ค่าจัดส่งก็คิดด้วย แต่ก็มีผู้อ่านหลายคนที่ยินดีซื้อกับเรา โดยไม่เปลี่ยนไปซื้อที่อื่นทั้งที่อาจถูกกว่า เพราะเขาอยากสนับสนุนเรา ดังนั้นผมจึงต้องเกรงใจและซื่อสัตย์กับเขาให้มากที่สุด”
 




    จากความเพียรพยายามและตั้งใจมาหลายปี ดูเหมือนว่าในปีนี้ความตั้งใจของเขาและเหล่าคนทำหนังสือของสำนักพิมพ์สมมติจะเป็นผลขึ้นมาแล้ว ใครจะไปรู้ว่าครั้งนี้งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติจะมีการมอบรางวัลบูธสวยงาม ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก และแน่นอนเขาย่อมไม่พลาดแน่ๆ
 

     “ผลลัพธ์จากการทุ่มเทออกแบบบูธ เพื่อให้ผู้อ่านได้อะไรที่มากกว่าการซื้อหนังสือนั้น คือ เราได้รับรางวัลบูธสวยงาม 'รางวัลชนะเลิศ’ ประเภทบูธขนาดเล็ก ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 46 ต้องขอขอบคุณทุกคน น้องๆ ทีมงานที่มีอยู่ไม่กี่คน หุ้นส่วนคุณชัยพร อินทุวิศากุล ที่เหนื่อยร่วมกันมา”
 




      ขอแอบบอกว่าตอนติดต่อขอสัมภาษณ์นี้ เกิดขึ้นก่อนที่จะรู้ว่ามีการมอบรางวัลนี้ รวมถึงไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสำนักพิมพ์สมมติจะเป็นหนึ่งในผู้ชนะเลิศ แสดงให้เห็นว่าการออกแบบของเขาโดดเด่นและเข้าตากรรมการจริงๆ
 

     ยังพอมีเวลา ถ้าสนใจลองแวะไปดูกันได้ที่พิกัด R52…


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: MARKETING

Luxumer โอกาสธุรกิจปี 2025 โตสวนกระแส ไม่แคร์เศรษฐกิจ

ปรากฏการณ์ “เสพติดความลักซ์” ของคนไทยกลายเป็นประเด็นที่น่าจับตา จากพฤติกรรมต่อคิวรอซื้อ เกลี้ยงเชลฟ์ “หยุดไม่ได้ ก็ใจมันลักซ์” ของชาว Luxumer จึงกลายเป็นเทรนด์ทางการตลาดที่น่าสนใจสำหรับหลาย ๆ ธุรกิจ

เช็คเลย! ธุรกิจรุ่ง-ร่วง 2568 จะไปต่อหรือพอแค่นี้ดี

ส่งท้ายปี 2567 ด้วยการอัพเดตเทรนด์ผู้บริโภคที่ธุรกิจจะต้องปรับตัวตาม ในปี 2568 พร้อมเช็คกันว่าธุรกิจไหนจะรุ่ง-ร่วง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกัน

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด