ส่งออกไทย’57...รออานิสงส์เศรษฐกิจโลก

 

 

เครดิตภาพ : http://logistics.avnet.com/webReporting/exportImport.jsp

 
 
แม้ว่าส่งออกของไทยในเดือนสุดท้ายของปี 2556 จะพลิกกลับมายืนในแดนขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1.9 แต่มูลค่าส่งออกในเดือนธันวาคม 2556 ที่ปรับลดลงจากเดือนพฤศจิกายนราวร้อยละ 1.7  มาอยู่ที่ระดับ 18,440 ล้านดอลลาร์ฯ ก็ย้ำภาพความล่าช้าของการฟื้นตัวที่มีมาตลอดทั้งปี และส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกในปี 2556 หดตัวลงร้อยละ 0.3 ด้วยมูลค่า 228,529.8 ล้านดอลลาร์ฯ 
 
ทั้งนี้ เป็นผลจากการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรที่หดตัวลงร้อยละ 4.9 นำโดย กุ้งแช่แข็ง/แปรรูป (หดตัวร้อยละ 28.3) น้ำตาล (หดตัวร้อยละ 27.6) ยางพารา (หดตัวร้อยละ 5.9) และข้าว (หดตัวร้อยละ 4.6) ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมก็หดตัวลงเช่นกันที่ร้อยละ 0.2 นำโดย อัญมณี/เครื่องประดับ (หดตัวร้อยละ 23.3) วัสดุก่อสร้าง (หดตัวร้อยละ 6.7) และอิเล็กทรอนิกส์/ส่วนประกอบ (หดตัวร้อยละ 1.0) 
 
ส่วนสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์/ส่วนประกอบ เม็ด/ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ และสิ่งทอ ยังขยายตัว 
 
 
สัญญาณบวกเศรษฐกิจโลก...ปัจจัยหลักหนุนการส่งออกปี 2557  
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจแกนหลักของโลก อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสภาพยุโรป จะเป็นแรงสนับสนุนหลักในการพลิกฟื้นภาคการส่งออกของไทย และในขณะเดียวกัน ก็ช่วยเสริมภาวะการค้าระหว่างไทยและคู่ค้าในภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะเพื่อนบ้านในอาเซียน และเอเชียตะวันออก ให้ได้รับอานิสงส์การฟื้นตัวตามไปด้วย 
 
นอกจากนี้ ข้อจำกัดสินค้าเกษตรที่เบาบางลง ทั้งปัญหาโรคกุ้งตายด่วนที่เริ่มคลี่คลาย การยกเลิกการห้ามนำเข้าไก่สดของญี่ปุ่น ราคาสินค้าเกษตรบางรายการที่ทยอยปรับลดลง และความต้องการยางพาราที่อาจเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้าหากเศรษฐกิจจีนมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมถึงปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปี 2556 ก็น่าจะช่วยเสริมอัตราการเติบโตของส่งออกของไทยในปี 2557 ให้สามารถกลับมายืนในแดนบวกได้ในกรอบร้อยละ 3.0-7.0 โดยอาจขยายตัวได้ใกล้เคียงร้อยละ 5.0
 
ทั้งนี้ แม้ภาคการส่งออกในปี 2557 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่จังหวะการฟื้นตัวจะปรากฏภาพชัดเจนเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น รวมทั้งทิศทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเกิดใหม่ ที่อาจส่งผลต่อความต้องการสินค้าไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการในภาคการส่งออกจึงยังคงต้องติดตามสถานการณ์ในช่วงที่เหลือของปีต่อไปอย่างใกล้ชิด
     
เจาะตลาดส่งออกปีม้า: คำสั่งซื้อจากสหรัฐฯ จีนและเอเชีย...ผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูป ยานยนต์ และสินค้าขั้นกลางสู่เส้นทางการขยายตัว 
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินสถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดต่างๆ ในปี 2557 ดังนี้
 
ทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น หนุนการส่งออกของไทยในภาพรวม และตลาดสำคัญในอาเซียน เอเชียตะวันออก และออสเตรเลีย โดยเฉพาะไก่สดแช่เย็น/แช่แข็ง ไก่แปรรูป กุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป อัญมณี/เครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้ไฟฟ้า/ส่วนประกอบ รถยนต์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ เม็ด/ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ
 
ส่วนการส่งออกคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้าสำหรับคอมพิวเตอร์ น่าจะยังไปได้ในประเทศสหรัฐฯ ขณะที่ แผงวงจรไฟฟ้าสำหรับยานยนต์น่าจะสามารถขยายตัวได้ดีในกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียตะวันออก 
 
เศรษฐกิจจีน ที่น่าจะกลับสู่เส้นทางที่มีเสถียรภาพมากขึ้น น่าจะช่วยเสริมคำสั่งซื้อสินค้าเกษตรของไทย ได้แก่ ข้าว ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง รวมทั้งสินค้าขั้นกลางหลายประเภท อาทิ เคมีภัณฑ์ เม็ด/ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และแผงวงจรไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะที่ คอมพิวเตอร์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ อาจต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีและกระแสความนิยมในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
 
ตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกา แม้ว่าจะมีขนาดเล็กราวร้อยละ 5.1 และร้อยละ 3.6 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย แต่ก็มีความน่าสนใจ เนื่องจากกลุ่มประชากรกำลังซื้อสูงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสอดรับไปกับทิศทางเศรษฐกิจที่ขยายตัว แต่ในขณะเดียวกัน ก็กำลังประสบปัญหาไม่สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอกับความต้องการในภูมิภาค จึงน่าจะเป็นโอกาสของสินค้าไทยในกลุ่มอาหาร ได้แก่ ข้าว ไก่สดแช่เย็น/แช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป สินค้าแฟชั่น อาทิ เครื่องนุ่งห่มและอัญมณี/เครื่องประดับ ที่จับกลุ่มลูกค้าขั้นกลางขึ้นไป 
 
รวมไปถึงสินค้าคงทน/ขั้นกลางที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขัน อาทิ รถยนต์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า/ส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ด/ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ เป็นต้น อย่างไรก็ดี คงต้องจับตาสถานการณ์ตลาดลาตินอเมริกาและเอเชียใต้ (มีสัดส่วนร้อยละ 3.6 และร้อยละ 3.2 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย ตามลำดับ) 
 
โดยเฉพาะประเทศอินเดียและอาร์เจนตินาซึ่งประสบปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวผันผวน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางพารา รถยนต์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยในภูมิภาคดังกล่าว
 
โดยสรุป ในปี 2556 การส่งออกของไทยต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายนานัปการซึ่งกดดันให้กระบวนการฟื้นตัวเป็นไปอย่างล่าช้า ส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยหดตัวลงทุกหมวด นำโดย สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร สินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม และทำให้ภาพรวมการส่งออกหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ร้อยละ 0.3 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 ในปี 2555 
 
สำหรับในช่วงไตรมาส 1/2557 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 1/2557 น่าจะยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องประมาณร้อยละ 2.0 (YoY) จากผลของฐานที่สูงในปีก่อน อย่างไรก็ดี ประเมินว่า ทิศทางของการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่ทยอยกลับมาขยายตัวได้ตั้งแต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 และน่าจะประคองทิศทางไว้ได้ต่อเนื่องในปีนี้ อาจช่วยหนุนให้ภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2557 มีโอกาสขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 3.0-7.0 (ค่ากลางร้อยละ 5.0) แม้ว่าจะยังคงต้องติดตามความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและค่าเงินของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่บางประเทศอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้าก็ตาม 
 
ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่น ที่มีพัฒนาการดีขึ้น น่าจะทยอยส่งผลบวกมายังการค้าในอาเซียน เอเชียตะวันออกและออสเตรเลีย ประกอบกับโอกาสทางการค้าในตลาดแอฟริกาและตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มขยายตัว จะเป็นแรงหนุนสำคัญที่ช่วยให้ความต้องการสินค้าส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้น 
 
ทั้งสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ อัญมณี/เครื่องประดับ (ไม่รวมทอง) เครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า/ส่วนประกอบ  เคมีภัณฑ์ เม็ด/ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ ปัญหาสินค้าเกษตรที่น่าจะทยอยคลี่คลายลง ก็น่าจะช่วยให้เสริมให้การส่งออกสินค้าเกษตร/เกษตรแปรรูปของไทยหลายชนิดฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะข้าว ยางพารา กุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง ไก่สดแช่เย็น/แช่แข็ง และไก่แปรรูป 
 
แม้ว่าในภาพรวม ระดับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ทยอยเพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักน่าจะที่ช่วยให้การส่งออกของไทยพลิกกลับสู่เส้นทางการขยายตัว แต่กระบวนการฟื้นตัวจะเกิดขึ้นรวดเร็วเพียงใด ก็คงขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก รวมถึงพัฒนาการของสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่อาจส่งผลกระทบต่อจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และต่อเนื่องมายังภาคการส่งออกของไทย ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยก็คงต้องเร่งหาวิธีการในการแก้ไขข้อจำกัดในการผลิต โดยเฉพาะประเด็นข้อจำกัดด้านแรงงานและเทคโนโลยี เพื่อรักษาความสามารถในการรองรับออเดอร์สินค้า รวมถึงการสร้างความมั่นใจให้แก่คู่ค้าในการส่งคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้า แม้สถานการณ์การเมืองในประเทศจะยังคงมีความไม่แน่นอนสูงก็ตาม 
 
 
 

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน