Text : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
เทศกาลปีใหม่ถือเป็นไฮไลท์การทำตลาดที่สำคัญงานหนึ่งของปี ที่ทุกธุรกิจหวังจะใช้โอกาสนี้เพิ่มยอดขาย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 จะอยู่ที่ 29,600 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้ว่ามาตรการช็อปช่วยชาติในปีนี้จะออกมาเร็วกว่าปีก่อนๆ แต่ผู้ประกอบการก็มีการกระตุ้นการขายต่อเนื่องไปตลอดทั้งช่วงเทศกาล อย่างไรก็ดี กำลังซื้อของผู้บริโภคในภาพรวมยังถูกกดดันด้วยหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงความกังวลกับกำลังซื้อในอนาคต ทำให้การวางแผนใช้จ่ายของผู้บริโภคยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้มีฐานรายได้ต่อเดือนไม่สูงมาก
โดยเม็ดเงินใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 แยกเป็นค่าใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่ม 9,000 ล้านบาท รองลงมาคือ ท่องเที่ยวในประเทศ (เฉพาะค่าที่พักและค่าเดินทาง) 8,200 ล้านบาท ซื้อของขวัญ/ของฝาก (ทั้งมอบให้ตัวเองและผู้อื่น) 8,100 ล้านบาท การให้เงินพ่อแม่/พี่น้องเป็นของขวัญปีใหม่ 2,000 ล้านบาท และทำบุญ/ไหว้พระ 1,600 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ (อาทิ ดูหนัง ฟังเพลง) 700 ล้านบาท ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ได้แก่ ค่าซื้อของขวัญ/ของฝาก และท่องเที่ยวในประเทศ (เฉพาะค่าที่พักและค่าเดินทาง) ในขณะที่งบประมาณใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 5,400 บาท
คนกรุงฯ ร้อยละ 75 เลือกจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการจากร้านค้าปลีกที่มีหน้าร้าน (Offline) นำโดยห้างสรรพสินค้า ตามมาด้วยดิสเคาน์สโตร์และร้านขายของฝากทั่วไป ชี้ให้เห็นว่า ร้านค้าปลีกที่มีหน้าร้านยังตอบสนองไลฟ์สไตล์ในการจับจ่ายคนกรุงฯ ได้เป็นอย่างดี เพราะมีสินค้าและบริการให้เลือกครบครันและครอบคลุมความต้องการของคนทุกเพศทุกวัย
อย่างไรก็ดี กระแสช็อปปิ้งออนไลน์ (คนกรุงฯ ร้อยละ 25 เลือกใช้จ่ายผ่านช่องทางนี้) ก็ถือว่ามาแรงไม่น้อยเช่นกัน เพราะจากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างพบว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มหันมาจับจ่ายผ่านช่องทางนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงาน ซึ่งการสั่งซื้อที่ได้ความนิยมสูงคือ การสั่งซื้อผ่านช่องทาง Social Commerce อาทิ Facebook/ Instagram/ Line เพราะมีการเข้าถึงอยู่เป็นประจำ
อนึ่ง การเลือกซื้อของขวัญของฝาก ถือเป็นหนึ่งกิจกรรมที่คนกรุงฯ นิยมทำในช่วงปีใหม่ ซึ่งในปีนี้มุ่งเน้นไปที่สินค้าที่หาซื้อง่าย สามารถสื่อแสดงถึงน้ำใจ ภายใต้งบประมาณที่ไม่สูงนัก อาทิ สินค้าในกลุ่มแฟชั่น กระเช้าของขวัญ สินค้ากิ๊ฟช็อปและเครื่องสำอาง เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้าที่หาซื้อได้ง่าย และสามารถกำหนดงบประมาณได้ เพราะแม้จะถูกกดดันจากกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน แต่การมอบของขวัญของฝากในช่วงเทศกาลปีใหม่ ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นในแง่ของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
เทศกาลปีใหม่ 2561 คาดคนกรุงฯ ยังเดินและทำกิจกรรมในห้างสรรพสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการนัดเลี้ยงสังสรรค์/ กินข้าวกับครอบครัวและเพื่อนฝูง ช็อปปิ้งเลือกซื้อสินค้าของขวัญ/ของฝาก ดูหนัง/ ฟังเพลง ฯลฯ ทั้งนี้ จุดขายสำคัญของห้างสรรพสินค้าที่ดึงดูดใจให้คนเข้ามาใช้บริการก็คือ การสร้างบรรยากาศและประสบการณ์ในการช็อปปิ้งใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคเข้ามาสัมผัส จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลการสำรวจจะพบว่า คนกรุงฯ กว่าร้อยละ 37 ที่สนใจเข้ามาเดินเลือกซื้อสินค้าผ่านหน้าร้าน เพราะต้องการสัมผัสสินค้าจริง ทดลองชิม/ ใช้ และสามารถซื้อได้ทันทีหากถูกใจ รองลงมาคือ เข้ามาเดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจ (ร้อยละ 19) และร่วมกิจกรรมหรืออีเว้นท์ที่จัดขึ้น (ร้อยละ 19)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องตระหนักคือ ทำอย่างไรถึงจะกระตุ้นให้ลูกค้าที่เข้ามาทำกิจกรรมดังกล่าว เกิดการใช้จ่ายเลือกซื้อสินค้าหรือบริการภายในห้างสรรพสินค้าตามไปด้วย เมื่อวิเคราะห์ถึงโอกาสทางการตลาดพบว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายและกลยุทธ์ทางการตลาดที่คาดว่าน่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ คือ
- กลุ่มลูกค้าที่ควรเข้าไปทำตลาด ได้แก่ 1) กลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการต่างๆ หรือเดินเล่นภายในร้าน แต่ยังไม่ได้วางแผนซื้อสินค้ามาก่อน และ 2) กลุ่มที่มีการวางแผนจะเข้ามาใช้บริการเพื่อนัดพบปะสังสรรค์ เพราะเป็นกลุ่มที่คาดว่าจะเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก นอกจากนี้ จากผลการสำรวจยังพบประเด็นที่น่าสนใจก็คือ กว่าร้อยละ 64 ของคนกรุงฯ เคยซื้อสินค้าและบริการที่ออกมาในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยไม่ตั้งใจหรือไม่ได้วางแผนมาก่อน โดยเฉพาะกับสินค้าที่อยู่ในรูปแบบ Limited Edition (ร้อยละ 29) รูปลักษณ์แปลกใหม่ (ร้อยละ 27) และอยากทดลองสินค้าใหม่ (ร้อยละ 19)
-กลยุทธ์ที่ชูให้เห็นถึงความคุ้มค่าคุ้มราคา สะท้อนจากผลสำรวจที่ระบุว่า กว่าร้อยละ 23 ของกลุ่มตัวอย่าง ตัดสินใจซื้อสินค้าจากกลยุทธ์ลดแลกแจกแถม (อาทิ ลดราคา กระตุ้นให้ซื้อมากขึ้นเพื่อรับของสมนาคุณ เป็นต้น) รองลงมาคือ การทำโปรโมชั่นร่วมกับบัตรเครดิต (ร้อยละ 17) และการจัดอีเว้นท์ร่วมสนุกและลุ้นของรางวัล (ร้อยละ 17) ตามลำดับ
นอกจากนี้ รูปแบบการให้บริการที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตคนกรุงฯ ได้อย่างตรงจุด ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีส่วนต่อการตัดสินใจเลือกแหล่งช็อปปิ้งได้เร็วขึ้น อาทิ เพิ่มบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการมาช็อปปิ้ง (พื้นที่กิจกรรม/มุมพักผ่อน Free-WiFi ขยายเวลาเปิดให้บริการในบางส่วน) การเชื่อมโยงข้อมูลของทางร้านค้ากับแอพพลิเคชั่นต่างๆ (แจ้งสิทธิประโยชน์/โปรโมชั่น เช็คสถานะของที่จอดรถ แจ้งรายชื่อร้านค้าที่มีให้บริการ รวมถึงอีเว้นท์ที่จัดขึ้น) การทำให้ลูกค้าเห็นถึงความคุ้มค่า หรือเป็นคนพิเศษเมื่อเลือกใช้บริการกับทางร้านค้า เช่น เช็คอินสถานที่แล้วได้รับส่วนลดในการซื้อสินค้าภายในร้านค้า หรือเมื่อใช้บริการร้านค้าหนึ่งแล้วได้รับสิทธิประโยชน์จากอีกหนึ่งร้านค้าในรูปแบบ Co-Partner เป็นต้น เพราะจากการสำรวจพบว่า สิ่งที่คนกรุงฯ ให้ความสำคัญมากที่สุด หากต้องเลือกสถานที่ช็อปปิ้ง คือ ความหลากหลายของร้านค้าที่มีให้บริการ (ร้อยละ 24) รองลงมาคือ มีที่จอดรถที่เพียงพอหรือรอจอดไม่นาน (ร้อยละ 19) และมีบริการก่อนและหลังการขายที่ดี (ร้อยละ 12) ตามลำดับ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: MARKETING
เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด
ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน