Text: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
หากวงการเพลงมีกลยุทธ์ Featuring ของนักร้องชายกับหญิง หรืออาจจะต่างค่ายหรือค่ายเดียวกันแต่คนละแนวมาจับคู่ร้องเพลง เพื่อสร้างสีสัน เพิ่มอารมณ์เพลง เพื่อโปรโมทศิลปินทั้งสองคนในคราวเดียวและเป็นการเพิ่มฐานแฟนคลับจากทั้งสองฝ่ายแล้ว ในแวดวงการตลาดก็มีอะไรคล้ายๆ กัน เรียกกลยุทธ์นี้ว่า Collaboration Marketing หรือการสร้างความร่วมมือทางธุรกิจของแบรนด์ ซึ่งอาจจะเป็นธุรกิจในสายอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือข้ามห้วยไปจับมือกับต่างธุรกิจก็ได้เช่นกัน เรียกได้ว่ากลยุทธ์นี้คือการผนวกจุดแข็งของแต่ละฝ่ายเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างความแปลกใหม่ และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าอื่นๆ ได้มากขึ้น
ที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นการจับคู่ของ 2 แบรนด์ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับตลาดเกิดขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่เพียงแต่บริษัทใหญ่หรือแบรนด์ดังเท่านั้นที่นำกลยุทธ์ Collaboration มาใช้ วิธีนี้ยังเป็นที่สนใจของบรรดา Startup และ SME ที่ต้องการเพิ่มฐานลูกค้าและสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก แต่ทว่าผลลัพธ์ที่ออกมานั้นไม่ได้ “ปัง” เสมอไป หลาย ๆ เคสลงเอยด้วยความ “แป้ก” ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครอยากที่จะเป็นเช่นนี้หรอก แล้วจะต้องทำอย่างไรให้ Collaboration Marketing บรรลุเป้าหมายอย่างที่ตั้งใจไว้ นี่คือคำแนะนำที่ผู้ประกอบการควรต้องรู้ไว้
เป้าหมายการทำ Collaboration ต้องชัด
อย่างแรกที่ผู้ประกอบการต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า เป้าหมายในการทำ Collaboration คืออะไร หากต้องการเพิ่มลูกค้า ก็ต้องกำหนดด้วยว่า ลูกค้ากลุ่มไหน Mass หรือ Niche หรือจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์องค์กรให้แข็งแกร่ง หรือแค่ทำเป็นแคมเปญขึ้นมาเพื่อเป็นรางวัลและเอาใจลูกค้าที่ภักดีต่อแบรนด์ เพราะการวางเป้าหมายตั้งแต่แรก จะทำให้วางแผนเกี่ยวกับกิจกรรมที่จะทำร่วมกับพันธมิตรได้ชัดเจนและตรงเป้าหมายมากขึ้น
เลือกพันธมิตรแบบที่ลูกค้าชอบ
ในการตัดสินใจเลือกพันธมิตร ควรอิงที่ความชื่นชอบของลูกค้าเป็นสำคัญ อยากให้ผู้ประกอบการลองศึกษาข้อมูลดูสักนิดว่าแบรนด์ที่ลูกค้าส่วนใหญ่ใช้บริการ พูดถึง หรือกำลังปลื้มคือแบรนด์ใด แล้วทำรายชื่อออกมา จากนั้นให้คัดเลือกด้วยความรอบคอบ เพราะการเลือกแบรนด์ที่ใช่ นับเป็นการเริ่มต้นที่ดี
(แบรนด์)คุณ กับ (แบรนด์)เขา ไปด้วยกันได้
เมื่อเลือกแบรนด์ที่จะมาเป็นพันธมิตรได้แล้ว ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าแบรนด์เรากับแบรนด์เขามีทิศทางหรือเป้าประสงค์เดียวกันหรือไม่ หากสองแบรนด์มีเป้าหมายเดียวกัน ก็จะทำให้การทำงานร่วมกันราบรื่นขึ้น
ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเสมอไป
การหว่านเม็ดเงินมหาศาลเพื่อโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ ไม่ใช่สิ่งจำเป็นเสมอไปในการทำ Collaboration Marketing มีหลากหลายวิธีในการผลักดันเพื่อให้สินค้าใหม่เป็นที่รู้จัก อาจเลือกใช้วิธีการนำจุดแข็งของตัวเองไปนำเสนอกับพันธมิตรที่มีจุดประสงค์หรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเดียวกัน เช่น การเป็นสปอนเซอร์ด้วยการมอบสินค้า มอบรางวัลแก่ลูกค้าเป้าหมายโดยผ่านพันธมิตร เป็นต้น
รักษาความสัมพันธ์ให้ยืนยาว
ข้อจำกัดเดียวของการตลาดแบบ Collaboration คือความยากในการหาแบรนด์ที่เข้ากันได้เพื่อเป็นพันธมิตร ดังนั้นเมื่อเลือกเฟ้นได้แล้ว สิ่งสำคัญต่อมาที่ต้องทำ นั่นคือ การรักษาความสัมพันธ์ให้ดี เช่น เปิดเผย จริงใจต่อกัน และแบ่งหน้าที่กันชัดเจน เมื่อผลงานออกมาดี สมประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย โอกาสที่จะร่วมงานกันครั้งต่อไปย่อมมีแน่นอน
การทำตลาดแบบ collaboration หากมาถูกทางจะกลายเป็นกลยุทธ์ที่ทรงประสิทธิภาพไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรักษาฐานลูกค้าเก่า เพิ่มกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่สำคัญยังได้แลกเปลี่ยนความรู้และ know-how ที่แต่ละฝ่ายถนัดอีกด้วย หากต้องการอยู่รอดในธุรกิจ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่แบรนด์สามารถนำเอาไปใช้ได้
ที่มา
www.marketingdonut.co.uk/marketing-strategy/cost-effective-marketing/how-to-set-up-a-successful-marketing-collaboration
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: MARKETING
เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด
ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน