ปาฐกถา ผู้ว่า ธปท. สถานะเศรษฐกิจและการเงินไทย

 

 
ปาฐกถาพิเศษ“นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล”ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่อง “สถานะเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย” ในงานประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ประจำภูมิภาคอาเซียนปี 2556 วันที่ 15 กรกฎาคม 2556 ณ วิเทศสโมสร ส่วน 3 กระทรวงการต่างประเทศ
 
ผู้ว่าการธปท.ได้กล่าวถึงสถานะเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทยรวมถึงการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้สอดรับกับบริบทโลกที่ไทยจะเผชิญในระยะข้างหน้า โดยแบ่งออกเป็นช่วงๆ
 
ช่วงที่ 1 มองโลก มองไทย : “เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง และบริบทโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป”
 
ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจหลักกับเศรษฐกิจเกิดใหม่เติบโตในความเร็วที่แตกต่างกันมาก เศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างกลุ่ม BRICS ที่เติบโตเร็วและมีขนาดใหญ่ขึ้นมากกลายเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนทำให้มีการค้าและการลงทุนระหว่างเศรษฐกิจเกิดใหม่กันเองขยายตัวสูงขึ้นเกิดเป็นขั้วอำนาจเศรษฐกิจโลกใหม่ควบคู่กับเศรษฐกิจหลัก
 
ภายใต้สภาพแวดล้อมโลกเช่นนี้ประเทศไทยควรจะทำอย่างไร? คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะลดความผันผวนหรือหลบหลีกความเสี่ยงต่างๆ ของเศรษฐกิจโลก สิ่งที่ดีที่สุด คือ ทำตัวเราให้แข็งแรงพอที่จะรับมือกับความผันผวนได้และแข็งแรงพอที่จะฉกฉวยโอกาสทาง ธุรกิจในสภาพแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
 
ช่วงที่ 2 เป้าหมายประเทศ : “เราต้องการเห็นประเทศไทยแข็งแรงใน 4 ด้าน”
 
ด้านแรกเราต้องการเห็นผู้ประกอบการไทยเก่ง ไม่ใช่เก่งเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่แต่ต้องการเห็น SMEs ไทยมีศักยภาพด้วยเพราะประเทศจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแกร่งจริงต้องเดินหน้าไปด้วยกัน
 
ด้านภาครัฐ ภาครัฐที่แข็งแรงต้องมีวินัยทางการเงินดีสามารถทำหน้าที่ดูแลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ส่งเสริมให้ภาคเอกชนพัฒนาศักยภาพ และลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาวโดยเฉพาะการวางรากฐานให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็น hub เศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาค ขณะเดียวกัน ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าของประเทศ
 
ด้านสถาบันการเงิน สถาบันการเงินที่แข็งแรงต้องมีศักยภาพพอที่จะแข่งขันกับต่างประเทศได้ดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังไม่สร้างความเปราะบางให้กับเศรษฐกิจเหมือนวิกฤติการเงินปี 2540 และต้องช่วยส่งเสริมการเติบโตของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจได้ดี
 
ด้านสุดท้าย เราต้องการเห็นคนไทยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น รายได้ไม่แตกต่างเกินไป ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีสุขภาพดี
 
ช่วงที่ 3 สถานะของประเทศ : “เรามีภูมิคุ้มกันในระดับหนึ่ง แต่ยังมีศักยภาพไม่มากพอ”
 
ต้องมาสำรวจตัวเองก่อนว่า ตอนนี้แข็งแรงแค่ไหน? มีภูมิคุ้มกันพอหรือยัง? ในช่วงที่ผ่านมา เราได้สร้างภูมิคุ้มกันบ้างแล้วในส่วนของผู้ประกอบการพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้จะผ่านมรสุมมามากมายตั้งแต่วิกฤติซับไพรม์ วิกฤติหนี้ สาธารณะยุโรป วิกฤติการเมืองในประเทศรวมถึงน้ำท่วมครั้งใหญ่แต่ก็ยังยืนหยัดได้
 
ในส่วนของผู้ทำนโยบาย ในฐานะของแบงก์ชาติ นับจากวิกฤติการเงินปี 2540 จนถึงปัจจุบัน เราเองได้เปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินมาเป็น inflation targetingและดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นรวมถึงได้ยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ทำให้แบงก์ชาติมีความสามารถในการรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจและการเงินมากขึ้น
 
ถือได้ว่าเศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องพัฒนาขีดความสามารถเชิงรุกในการแข่งขันกับต่างประเทศ จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศของ IMD ล่าสุดในปี 2556 พบว่ากลุ่มอาเซียนด้วยกันเอง ไทยยังตามหลังสิงคโปร์และมาเลเซียมาก จุดอ่อนสำคัญคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ผลิตภาพแรงงาน รวมถึงการศึกษา ล้วนเป็นตัวชี้วัดศักยภาพและกำหนดความสามารถของเศรษฐกิจที่จะเติบโตได้ในระยะยาว
 
ช่วงที่ 4 เส้นทางไปสู่เป้าหมาย : “ภาครัฐต้องส่งเสริมภาคเอกชนแต่ไม่อุ้มชู”
 
นโยบายการเงินมีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลระหว่างการขยายตัวและเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ทำหน้าที่คล้ายกับการเหยียบหรือผ่อนคันเร่งให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยความเร็วที่เหมาะสม เพื่อให้ภาคธุรกิจไปได้อย่างราบรื่น สำหรับนโยบายการคลัง มีบทบาทโดยตรงในการเพิ่มศักยภาพของประเทศ จึงควรให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและการยกระดับศักยภาพของประเทศในระยะยาวควบคู่กันไป
 
ที่ผ่านมานโยบายภาครัฐมุ่งเน้นแต่เพิ่มรายได้กระตุ้นรายจ่ายของครัวเรือนแต่การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นลักษณะนี้มีข้อจำกัดคือ 1) ไม่ยั่งยืน 2) เสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของประเทศ 3) บิดเบือนกลไกตลาดและไม่จูงใจให้ภาคเอกชนพัฒนาตัวเอง เหมือนคนที่ถูกอุ้มชูอาจจะได้ความสุขสบายแต่ขณะเดียวกันก็จะอ่อนแอลง เพราะไม่ได้ยืนด้วยกำลังของตัวเอง โดยธรรมชาติร่างกายและสติปัญญาของคนจะแข็งแรงขึ้นเมื่อได้ใช้งาน การทำนโยบายแบบอุ้มชูจะทำให้ศักยภาพภาคเอกชนล้าหลัง
 
ในระยะยาว นโยบายภาครัฐที่ดีควรเน้นที่ด้าน supply โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งระบบการขนส่งและด้านตลาดแรงงาน รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่จูงใจให้ภาคเอกชนพัฒนาศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่
 
ประการแรก คือ การลงทุนพัฒนาระบบขนส่ง ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยยังสูงมากเมื่อเทียบกับสหรัฐโดยในปี 2554 มีสัดส่วนสูงถึง 14% ของ GDP ขณะที่ต้นทุนของสหรัฐ อยู่ที่ 8% เท่านั้น เนื่องจากการขนส่งของไทยพึ่งพาการขนส่งทางถนนเป็นหลัก ซึ่งมีต้นทุนพลังงานสูงกว่าทางรางมากกว่า 3 เท่า ทำให้ไทยมีสัดส่วนการพึ่งพาพลังงานน้ำมันต่อ GDP (oil intensity) สูงถึง 13% ขณะที่สหรัฐมีสัดส่วนการพึ่งพาพลังงานน้ำมันเพียง 5% ต่อ GDP ทำให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนล้าหลังประเทศที่พัฒนาแล้วค่อนข้างมาก
 
ประการที่สอง คือ การลดข้อจำกัดด้านตลาดแรงงาน 3 ข้อ
 
ข้อแรก ปัญหาความไม่พอดีกันระหว่างความต้องการของผู้ประกอบการ กับทักษะและความสามารถของแรงงานเช่น ขณะที่ภาคธุรกิจยังขาดแคลนแรงงานประเภทช่างที่มีการศึกษาด้านวิชาชีพ ปวช./ปวส. อย่างมาก แต่เรามีแรงงานระดับปริญญาตรีล้นตลาด
 
ข้อสอง ภาคการผลิตยังพึ่งพาแรงงานไร้ทักษะอยู่มาก ส่วนหนึ่งจากค่าจ้างแรงงานที่อยู่ในระดับต่ำทำให้ไม่จูงใจให้ผู้ประกอบการคิดที่จะปรับตัวลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อลดการพึ่งพาแรงงาน หรือปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดของตลาดแรงงานในประเทศ
 
ข้อสาม นโยบายอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร จูงใจให้แรงงานย้ายจากภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาคเกษตร ทำให้ผลิตภาพของแรงงาน
โดยรวมของประเทศโตช้าลงนโยบายภาครัฐ
 
ประการที่สาม คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีได้แก่ สภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันจากการเปิดประเทศออกไปเผชิญกับ
คนเก่งของประเทศอื่นๆ อย่างกรณีของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) การอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศและแข่งขันกับสินค้าในบ้านเรา จะเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยตื่นตัวที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจ และยกระดับคุณภาพสินค้า
 
ด้านสภาพแวดล้อมทางการเงิน แบงก์ชาติเองก็ดูแลให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดมากที่สุด และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรู้จักบริหารความเสี่ยงด้วยตนเอง ขณะเดียวกัน ก็ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ให้คนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศได้สะดวกขึ้น เป็นการสร้างสมดุลในกับการไหลเวียนของเงินทุนของไทย
 
ผมเชื่อว่า นโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมภาคเอกชนแต่ไม่อุ้มชู แก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างสภาพแวดล้อมที่จูงใจให้ภาคเอกชนพัฒนาศักยภาพ จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยแข็งแรงพอที่จะรับมือกับความผันผวนและพร้อมที่จะเปิดรับโอกาสทางธุรกิจในอนาคต
 
ช่วงที่ 5 คุณสมบัติสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย : “มีเป้าหมาย คงเส้นคงวาตื่นตัว ร่วมมือ”
 
แนวนโยบายภาครัฐที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะลุล่วงได้ ผู้ดำเนินนโยบายควรมีคุณสมบัติสำคัญ 4 ประการคือ
 
1) มีเป้าหมาย (goal-oriented)ภาครัฐต้องมีวิสัยทัศน์ในการกำหนดเป้าหมายร่วมของประเทศและแนวทางพัฒนาที่ชัดเจน
 
2) คงเส้นคงวา (policy consistency)ผู้ดำเนินนโยบายควรปฏิบัติตามเป้าหมายหลักของประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย
 
3) ตื่นตัว (proactive) ผู้ดำเนินนโยบายควรตื่นตัวพร้อมรับมือกับสถานการณ์ไม่ต้องรอให้ปัญหาเข้ามาถึงตัวก่อนจึงจะเปลี่ยนแปลง
 
4) ร่วมมือ (coordinative) การที่จะพัฒนาประเทศให้สัมฤทธิ์ผลได้นั้นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วยหากเปรียบประเทศไทยเป็นเสมือนเรือที่แล่นอยู่ในทะเล วันนี้เรือลำนี้ได้เดินทางมาไกลพอสมควร แต่ยังต้องเดินทางอีกไกลกว่าจะถึงเป้าหมายเพราะที่ผ่านมาเราสะดุดระหว่างทางกับมรสุมต่างๆ ที่พัดผ่านมาทำเราเสียสมาธิออกนอกเส้นทางและเผลอคลุกตัวอยู่กับปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า ทำให้เสียเวลาและทรัพย์สินไปบ้าง แต่ขอแค่เรามีสติกลับมาที่เสาหลัก กางใบออกเต็มที่นำพาเรือลำนี้มุ่งหน้าอย่างมีทิศทาง เมื่อนั้นเราจะไม่อ่อนไหวต่อมรสุมต่างๆ ข้างหน้า และสามารถเดินทางไปถึงจุดหมายได้อย่างรวดเร็วและมั่นคง
 

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน