“SME Matching Day 2017” ทางลัดเอสเอ็มอีเชื่อมคู่ค้าเปิดประตูสู่ตลาดโลก

 
 
               ในยุคที่หลายคนเรียกขานว่าเป็น 4.0 ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในโลกธุรกิจที่ต้องปรับตัวตามกระแสความต้องการของผู้บริโภคที่พลิกผัน และจับทางได้ยากขึ้นทุกที และเอสเอ็มอีเองก็มีข้อจำกัดมากมาย การทำธุรกิจแต่เพียงลำพังด้วยตัวคนเดียว อาจทำให้ธุรกิจเดินไปได้ช้าจนก้าวตามกระแสธุรกิจไม่ทัน ซึ่งการเชื่อมโยงกับคู่ค้าพันธมิตร หรือ Business Matching จึงดูจะเป็นคำตอบและทางลัดให้กับเหล่าบรรดาคนตัวเล็กอย่างเอสเอ็มอีได้เติบโตอย่างรวดเร็ว 
 
 
               ด้วยเหตุนี้เอง ธนาคารกสิกรไทย จึงร่วมกับบริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน) จัดงาน “SME Matching Day 2017” มหกรรมจับคู่ดี SME แห่งชาติ” ขึ้น ณ บางกอกคอนเวนชั่น บี 2 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอทเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นที่ 3 แล้ว และในครั้งนี้ยังได้คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มาเป็นประธานและกล่าวปาฐกถาหัวข้อ “SME ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” ในงานอีกด้วย

 
 
 
               โดยรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาว่า เอสเอ็มอีเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยประเทศที่เจริญแล้ว หากจะสร้างการเติบโตอย่างยื่นให้กับเศรษฐกิจ เอสเอ็มอีจะต้องแข็งแกร่ง แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ปัญหาสำคัญของเอสเอ็มอีคือการไม่เข้าสู่ระบบ ซึ่งหากดูข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่ามีผู้ประกอบการจำนวน 2.79 ล้านราย แต่จดเป็นนิติบุคคลเพียง 6.3 แสนราย ยังมีอีกกว่า 2 ล้านรายที่เป็นบุคคลธรรมดาและยังไม่ได้เข้าระบบ
 
 
               ทั้งนี้ การเข้าระบบนั้นไม่ได้มุ่งหวังในเรื่องการเก็บภาษี เพราะขณะนี้รัฐยกเว้นภาษีให้กับผู้ประกอบการหลายด้าน แต่ที่อยากให้เข้าระบบ เพราะจะได้เข้าสู่กลไกการช่วยเหลือของภาครัฐและสถานการเงิน แต่ก็เชื่อว่าหลังจาก พ.ร.บ.จัดตั้งบริษัทคนเดียวมีผลบังคับใช้ จะทำให้เอสเอ็มอีกว่า 2 ล้านรายจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการวิเคราะห์ปัญหาเพื่อหามาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนได้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ และนั่นจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเอสเอ็มอีต่อไป
 
 
               นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของเหล่าสตาร์ทอัพ จะทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนไป อีกทั้งเทคโนโลยีเข้ามามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดในการทำธุรกิจ สร้างการเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหากเอสเอ็มอีสามารถจับคู่ธุรกิจกับสตาร์ทอัพก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะปัญหาหลักของเอสเอ็มอีอยู่ที่เรื่องการบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งสตาร์ทอัพสามารถใช้เทคโนโลยีช่วยในการบริหารจัดการธุรกิจได้
 
 
               ทางด้านคุณสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวถึงงาน “SME Matching Day 2017” ในครั้งนี้ว่า เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด “รวมพลังคู่ค้า เชื่อมโยธุรกิจไทยและต่างประเทศ” ซึ่งเกิดจากการผนึกกำลังกันใน 3 กลุ่มช่องทางการค้า คือ ช่องทางค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ ช่องทางออนไลน์ และช่องทางขยายสู่ต่างประเทศ และยังได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเจรจาธุรกิจกับช่องทางการจัดจำหน่ายชั้นนำ 13 ช่องทาง  ซึ่งนับได้ว่าเป็นเรื่องที่ยากมากที่เอสเอ็มอีจะได้มาเจอกับทุกช่องทางแบบนี้ในเวลาพร้อมๆ กัน หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย หากไม่มีความร่วมมือในลักษณะนี้เกิดขึ้น
 
               
               สำหรับในปีนี้มีความแตกต่างจากปีก่อน เพราะได้เพิ่มช่องทางต่างประเทศเข้ามา ซึ่งก็มีผู้ประกอบการให้ความสนใจสมัครเข้ามาเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการไทยนั้นมีความต้องการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหน
               


              ทั้งนี้ ภาพรวมของงานมีผู้สมัครเข้าร่วมจับคู่ธุรกิจ 749 บริษัท  โดยประเภทสินค้าที่มีผู้สมัครเข้ามามากที่สุด คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ดูแลตัวเอง และกลุ่มยาเวชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตามลำดับ ส่วนเหตุผลหลักที่ไม่ผ่านการเจรจานั้น มาจาก 3 ปัจจัย คือ แพ็กเกจจิ้งและฉลาก สินค้าขาดจุดเด่น และ ราคาสูงเกินไป

 
 
 
               ไม่เพียงเท่านี้ภายในงานยังมีบูธพันธมิตรที่มาให้คำปรึกษา โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถขอคำปรึกษาจากหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สถาบันรหัสสากล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สถาบันบาร์โค้ด) และสภาธุรกิจไทยในดูไบและรัฐตอนเหนือของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (TBC) เพื่อใช้ในการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพ นวัตกรรม การต่อยอดการขาย
 
 
               พร้อมกันนี้ ผู้ประกอบการยังได้ทำความรู้จักกับโซลูชั่นใหม่ๆ ที่จะเข้ามาตอบสนองกับธุรกิจยุคดิจิทัล โดยมีบูธที่รวบรวมเทคโนโลยีสำหรับช่วย SME ในการทำธุรกิจ ได้แก่ Flow Account, Senior soft, Tax specialist, Skootar, Giztix, Orbit, iTopPlus, LINE@, AIS SME และBentoWeb  
 

 
 
 
               และอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการได้รับจากการเข้าร่วมงาน คือการได้พบเจ้าหน้าที่จัดซื้อของแต่ละช่องทางโดยตรง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีกว่ากว่าจะฝ่าด่านไปจนถึงฝ่ายจัดซื้อตัวจริงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นการมาเจรจาธุรกิจในงานนี้ จึงเสมือนเป็นทางลัดให้กับเอสเอ็มอีได้เจอกับฝ่ายจัดซื้อและคุยกันจบในวันเดียว เป็นการเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดให้กับธุรกิจ


 
             นอกจากนี้ งาน “SME Matching Day 2017” ยังกิจกรรมสัมมนาให้ความรู้ต่างๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการขยายตลาดไปต่างประเทศ  อย่าง CLMV และตะวันออกกลาง การทำธุรกิจในเชิงดิจิทัล รวมถึงการถ่ายทอดประสบการณ์จากเอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ เพื่อจะได้นำความรู้ไปปรับใช้ในธุรกิจและเห็นลู่ทางโอกาสใหม่ๆเพื่อต่อยอดธุรกิจให้เติบโตยั่งยืนได้นั่นเอง
 
 
               โดยหัวข้อสัมมนานั้นเริ่มจาก “เปิดขุมทรัพย์ตลาดตะวันออกลาง” โดย คุณอัครวุฒิ ตั้งศิริกุศลวงศ์ ประธานสภาธุรกิจไทยในดูไบและรัฐตอนเหนือของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งผู้ประกอบการต่างได้รับความรู้และเทคนิคการเข้าถึงตลาดรวมถึงเทรนด์ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะธุรกิจสินค้าก่อสร้าง อุปกรณ์ตกแต่ง รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ที่ตลาดนี้มีความต้องการอย่างมาก

 
 
 
               ต่อมาจะเป็นสัมมนาในหัวข้อ “ก้าวแรก SME ไทย สู่ตลาด CLMV” จาก 4 มุมมองของผู้เชี่ยวอย่าง คุณสยาม รามสูต กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ให้คำแนะนำแก่เอสเอ็มอีที่คิดจะทำตลาดนี้ว่า สามารถเริ่มได้จากการทำการค้าแบบชายแดน ซึ่งวิธีนี้ใช้ต้นทุนไม่สูงมาก สินค้ายังไม่ต้องหลากหลาย เน้นเฉพาะกลุ่มก่อน หลังจากนั้นค่อยศึกษาตลาดให้มากขึ้น พร้อมกับการหาตัวแทนจำหน่าย (Distributor) โดยเฉพาะในระยะยาวแนะนำว่าการให้ตัวแทนจำหน่ายทำตลาดแทนจะคุ้มค่าและดีกว่าที่เอสเอ็มอีจะเข้าไปทำเอง  
 
 
               คุณนพดล เจริญทอง ผู้อำนวยการฝ่ายขายกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เอสเอพี ประเทศไทย ที่ได้นำเอาผลการสำรวจมายืนยันว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการเห็นถึงความสำคัญของการนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับตัวเองและคู่แข่ง และนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนให้องค์กรได้ในอนาคต
 
 
               ส่วน คุณนันทิศา อัครเกษมพร ผู้ช่วยผู้จัดการธุรกิจ LINE@ ไลน์ ประเทศไทย ก็ได้มาเผยให้เห็นเทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ พร้อมแนะนำปัจจัยที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์ โดย 51.2% คือการนำเสนอ 50.5% เป็นเรื่องของรูปภาพสินค้า 46.4% เรื่องของราคา 46.2 % ช่วยประหยัดเวลา และสุดท้าย 41% โปรโมชั่น 



              ในขณะที่ คุณอภิชญา เตชะมหพันธ์ Head of Channel Partnerships, Google Thailand ที่ได้มาชี้ให้เห็นถึงโอกาสของตลาดอีคอมเมิร์ซอาเซียน ที่คาดว่าในปี 2020 จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีนักช้อปออนไลน์พร้อมซื้อมากถึง 100 ล้านคน นี่จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่เคยขยายตลาดไปต่างประเทศ หรือแม้แต่เคยส่งออกไปแล้ว แต่ยังไม่เคยทำออนไลน์ 

 
 
 
               ปิดท้ายเวทีสัมมนาด้วยวงเสวนาจาก 3 ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จ อย่าง คุณชนิสรา โททอง ผู้ก่อตั้ง Diamond Grains กราโนล่าสายคลีนเจ้าแรกในไทย, คุณช่อทิพย์ ประสิทธิชัย ผู้ก่อตั้ง COSLUXE แบรนด์เครื่องสำอางไทยที่สาวๆ ต้องมีติดกระเป๋าไว้ และ คุณทัดณัฐ ฉันทธรรม์ ผู้ก่อตั้ง แมลงอบกรอบไฮโซ นวัตกรรมแมลงอบกรอบเจ้าแรกของไทย ซึ่งมาร่วมเผยเคล็ดลับที่ทำให้ธุรกิจของแต่ละคนประสบความสำเร็จ ภายใต้หัวข้อ “ยอดขายร้อยล้าน ปั้นง่ายนิดเดียว” เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและเป็นต้นแบบให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายอื่นๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนเองได้
 
 
 

 
 
               ทั้งนี้ งาน “SME Matching Day 2017” นับว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆที่เข้ามาช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้พัฒนาศักยภาพทั้งในแง่ความรู้ และนวัตกรรมใหม่ รวมถึงแนวคิดในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะกิจกรรม Business Matching ที่เปรียบเหมือนเป็นกุญแจดอกสำคัญในการไขประตูลับให้กับเอสเอ็มอีสามารถขยายตลาดออกไปทั้งในและต่างประเทศได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน