เก่งไม่กลัว กลัวช้า



เรื่อง  นายขลุกขลิก



    ปี 2555 Psy เจ้าของเพลง กังนัมสไตล์ สร้างปรากฏการณ์อันเหลือเชื่อ แซงหน้านักร้องดังอย่างจัสติน บีเบอร์ และเจนิเฟอร์ โลเปส สร้างสถิติใหม่บน Youtube ด้วยยอดคนดูกว่าหนึ่งพันล้านครั้ง ตัวเลขนี้นับเฉพาะคลิปทางการเท่านั้น ยังมีคลิปคนดัง คลิปเลียนแบบ คลิปฮาๆ คลิปงานต่างๆ ที่เต้นท่าควบม้าอีกหลายแสนหลายล้านวิว

    นอกจากยอดคนดูที่ทำลายสถิติแล้ว คลิปเต้นในลีลากังนัมสไตล์ที่ถูกอัพโหลดขึ้น Youtube ก็การันตีว่า นี่เป็นความนิยมแบบนานาชาติจริงๆ มีไม่บ่อยนักที่แฟชั่นจากเอเชียจะเกิดการเลียนแบบไปทั่วโลกได้รวดเร็วขนาดนี้การฮิตระเบิดของ Psy เหมือนเป็นการบอกโดยนัยว่าภูมิภาคเอเชียจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง เหมือนเมื่อ 200 ปีก่อน

    เอเชียถูกมองว่าเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมาได้สักระยะแล้ว ทั้งในด้านการผลิตและด้านการบริโภค ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจยุโรปก็ทรุด สหรัฐฯ ก็แย่ เอเชียจึงเป็นทางเลือกใหม่ มีเงินลงทุนไหลเข้ามาเยอะมาก สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ

    …ผู้บริโภคจะมีทางเลือกเยอะขึ้น
    …การทำธุรกิจก็จะมีคู่แข่งเยอะตามมาด้วย หากเปรียบเป็นการชกมวย เวทีนี้จะมีทั้งนักมวยระดับสากลและนักมวยท้องถิ่น

    เวลามวยสากลเข้าตลาดเมืองไทยก็จะใช้วิธีแบบสากล แล้วปรับสไตล์ให้เข้าตลาดท้องถิ่น ยกตัวอย่างเช่น เรื่องลูกค้า มวยสากลจะให้ความสำคัญมาก มีการทำวิจัยพฤติกรรมอย่างเป็นระบบ มีการเก็บข้อมูลการใช้จ่ายของลูกค้าเพื่อใช้ทำมาร์เก็ตติ้ง หลายคนอาจแย้งว่า มวยท้องถิ่นก็ทำเหมือนกัน อันนี้ผมไม่เถียงครับว่ามี “การทำ” แต่จุดต่างอยู่ที่ “การใช้”  มวยท้องถิ่นยังใช้ข้อมูลไม่เก่งเหมือนมวยสากล ยังแปร “ข้อมูล” เป็น “เงิน” ได้ไม่เก่งว่างั้นเถอะ

    แต่อย่าเพิ่งท้อครับ เพราะตอนนี้มี “ตัวช่วย” เข้าข้างมวยท้องถิ่น หลังจากโซเชียลมีเดียแสดงพลังไปทั่วโลก ซึ่งไทยเองก็ไม่น้อยหน้า เพราะ

    …กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีสมาชิกเฟซบุ๊กมากที่สุดในโลก

    …ประเทศไทยมีการใช้งาน Line ในแต่ละวันมากที่สุดในโลก แม้ยอดสมาชิกจะเป็นเพียงเบอร์สาม รองจากญี่ปุ่น และไต้หวันก็ตาม

    …ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม แม้จะมีสมาชิกหลักแสน แต่หากมองว่าเครื่องมือของเฉพาะกลุ่ม ก็จะเห็นว่ามีการใช้งานไม่น้อยทีเดียว

    …ส่วน Youtube เป็นที่ถูกใจของคนไทยมานานแล้ว สำหรับคอละครหลังข่าว นี่คือแหล่งบันเทิงระดับสุดยอด

    “อย่าบอกนะว่าโซเชียลมีเดีย จะเป็นตัวช่วย!”

    ใช่ครับ โซเชียลมีเดียนี่แหละคือตัวช่วยใหม่ของมวยท้องถิ่น เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ผมขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ประกอบ

    วันหนึ่งสมศรี (นามสมมติ) และสามี ไปช้อปปิ้งซื้อของกินของใช้เข้าบ้านเป็นประจำ เหมือนทุกๆ สัปดาห์ สมศรีเป็นแม่บ้านสมัยใหม่ เช็กราคาหลายห้างว่าที่ไหนถูกกว่ากันก็ไปที่นั่น การเดินซื้อก็จะเล็งป้ายสีแดงๆ ที่ชั้นวางสินค้า เพราะนั่นหมายถึงราคาพิเศษ ระหว่างที่เข็นรถเดินตามภรรยา สามีก็มือบอนไปหยิบดึงป้ายราคาสีแดงออก ซึ่งจะเผยให้เห็นป้ายสีขาวที่เป็นราคาปกติ ทันใดนั้น สิ่งที่ไม่คาดคิดก็ปรากฏขึ้น ตัวเลขบนป้ายสีแดงซึ่งเป็นราคาพิเศษนั้นสูงกว่าราคาปกติ

    “พิเศษ” ควรจะแปลว่า “น้อยกว่า” แต่นี่ราคาพิเศษ กลายเป็น ราคามากกว่าเดิม สงสัยคนตั้งราคาจะขายข้าวมันไก่มาก่อน เพราะพิเศษแปลว่า เยอะกว่าเดิม

    เหตุการณ์แบบนี้ หากเป็นเมื่อหลายปีก่อน สมศรีคงเดินไปโวยกับผู้จัดการร้าน หรือไม่ก็โทรศัพท์ไปร้องเรียนที่คอลเซ็นเตอร์ (Call Center) และเรื่องก็คงจะรู้กันเพียงไม่กี่คน แต่พอธุรกิจอยู่ในยุคโซเชียลมีเดีย เหตุการณ์นี้จะมีการนำขึ้นไปโพสต์ในโลกออนไลน์ ซึ่งทำให้มี “คนอื่นๆ” ที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์รับรู้ไปด้วย

    …คนอื่น มีทั้งที่เป็น “ลูกค้า”

    …และคนอื่น ที่เป็น “คู่แข่ง”

    หากร้านค้านี้ปรับปรุงได้ช้า ก็รอวันให้ลูกค้าตีจาก

    หากคู่แข่งรู้จุดอ่อนนี้แล้วปรับปรุงได้ดีกว่าก็จะดึงลูกค้าไป

    โซเชียลมีเดียคือตัวช่วย ที่ลูกค้าเผยให้ธุรกิจเห็นจุดอ่อนคู่แข่ง ทำให้เอสเอ็มอีเห็นว่ารายใหญ่มีจุดอ่อนตรงไหน นี่คือโอกาสในการเจาะตลาดนิช(Niche)

    แต่โซเชียลมีเดียไม่ได้มีแต่ด้านลบนะครับ ด้านบวกก็มีมากมาย ทั้งสิ่งที่ลูกค้าชมการให้บริการ ถ่ายรูปอวดเพื่อนว่าร้านอาหารนี้อร่อยจริง บางคนก็เขียนข้อความให้กำลังใจ ที่มากกว่านั้นมีการเสนอไอเดียอยากให้ผลิตสินค้าแบบนั้นแบบนี้ออกมาวางขาย คนทำธุรกิจได้รู้ความคิดเห็นลูกค้าโดยที่ไม่ต้องรอทำวิจัยตลาด เหมือนในอดีต

    “อ้าว อย่างนี้มวยสากลมวยรุ่นใหญ่ก็ได้เปรียบอีกสิ”

    มวยรุ่นใหญ่ทำได้ไม่ง่ายครับ เพราะแม้จะมีการพัฒนาเครื่องมือเพื่อแปรข้อความที่ลูกค้าโพสต์ หรือที่เรียกกันว่า Text Analytics แต่ก็มีปัญหาอยู่ดี เพราะเมื่อมาเจอภาษาไทยความยากก็มากเป็นทวีคูณ
เจอคำว่า “อร่อยมากๆๆๆๆๆๆๆ” แค่นี้ก็งงแล้วครับ สรุปว่าอร่อยจริง หรือเป็นคำประชดหรือคำว่า “อร่อยโพดโพด”  “เข้าร้านนี้ทีไรเจอแต่พนักงานจ้อยย้อย” ก็เป็นศัพท์เกิดใหม่ที่ต้องทำความเข้าใจ

    ดังนั้น ยังไม่มี Software ไหนจะมาทำเรื่องนี้ได้ สรุปต้องใช้คนนั่งอ่านแล้วแปรความอีกที
    “โห ข้อความบนเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ มากมายมหาศาล แล้วจะนั่งอ่านอะไร”

    อ่านทั้งหมดนั่นแหละครับ โดยใช้เครื่องมือค้นหาคำอย่างเช่น กูเกิลนี้แหละ กรองข้อความที่สนใจ ยิ่งอ่านยิ่งติดตามความคิดเห็นในโลกออนไลน์ จะเห็นว่าผู้บริโภคยุคนี้มีความต้องการที่หลากหลายมาก
ยิ่งติดตามแบบใกล้ชิดก็จะพบว่ามีหลายสินค้าที่ใช้ Mass Marketing ไม่ได้ มีหลายสินค้าที่มีตลาดนิชหลายๆ ตลาดอยู่ในธุรกิจนั้น ตลาดกลุ่มนี้แหละครับ ที่รอเอสเอ็มอีใจกล้า ตาถึง เข้ามาดำเนินการ

    Economy of speed ของจริงเริ่มต้นแล้วครับ

 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024