ค้าปลีกระส่ำ แต่ทำไม amazon จึงรุกเปิดร้านหนังสือออฟไลน์

Text : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

    เพิ่งเป็นข่าวไปเมื่อเร็ว ๆ นี้เกี่ยวกับการเปิดร้านหนังสือแบบออฟไลน์ในนิวยอร์กของอเมซอน ยักษ์ค้าปลีกออนไลน์อันดับหนึ่งของโลก ร้านนี้เป็นสาขาที่ 7 ก่อนหน้านั้นเมื่อปี 2015 อเมซอนได้ชิมลางเปิดร้านหนังสือร้านแรกในซีแอตเทิล หลังจากนั้นก็ทะยอยขยายสาขาเพิ่มในอีกหลายเมือง เช่น แอลเอ ซานดิเอโก้ ชิคาโก และอีก 3 เมืองในรัฐออเรกอน และแมสซาชูเซตส์ เห็นว่าบริษัทตั้งเป้าจะขยายกิจการร้านหนังสือให้ได้ 300-400 ร้าน 


Cr.cnbc.com


    เมื่อ 20 ปีก่อนตอนที่ อเมซอนกำเนิดใหม่ ๆ ก็เริ่มต้นมาจากการขายหนังสือออนไลน์ ก่อนขยับขยายไปยังค้าปลีกอื่น ๆ เว็บอี-คอมเมิร์ซของอเมซอนได้รับความนิยมจนทำให้ลูกค้าหันมาจับจ่ายซื้อหาสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ต พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปเป็นผลให้ร้านหนังสือ ร้านดีวีดีปิดตัวกันระนาวเพราะต้านกระแสไม่ไหว ขณะที่ร้านค้าปลีกทั่วไป ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน อะไรที่ทำให้อเมซอนที่ถูกชี้นิ้วว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ร้านหนังสือเกือบสูญพันธุ์ลุกขึ้นมาเปิดร้านหนังสือภายใต้แบรนด์ของตัวเอง แม้อเมซอนไม่เคยปริปากเผยกลยุทธ์ของบริษัท แต่มีบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการรุกเปิดร้านค้าปลีกออฟไลน์ของอเมซอนว่าน่าจะมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้

    ศักยภาพของตลาดค้าปลีกยังโตได้อีกมาก อเมซอนอาจจะครองตลาดอี-คอมเมิร์ซโดยคาดว่าปี 2018 จะทำยอดขาย 2.5 ล้านล้านเหรียญ แต่นี่ก็เป็นเพียง 10% ของยอดค้าปลีกทั้งหมดทั่วโลก รายงานระบุ 90% ของกิจกรรมการค้าปลีกไม่ได้ผ่านออนไลน์แต่ผ่านร้านค้าแบบออฟไลน์ อเมซอนอาจมองว่าการเปิดร้านค้าปลีกแบบออฟไลน์เปิดโอกาสให้มีการสอดแทรกระบบอี-คอมเมิร์ซเข้าไป เช่น ที่ร้านหนังสือของอเมซอน ลูกค้าสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Amazon Shopping app ขณะเดินเลือกสินค้าในร้าน เมื่อต้องการเล่มไหนก็แค่สแกนผ่านมือถือ จ่ายเงินผ่านมือถือ ยิ่งถ้าเป็นสมาชิก Amazon Prime ก็จะได้ส่วนลด 20-30% ถือเป็นการผสมผสานระหว่างการช้อปปิ้งออนไลน์กับออฟไลน์

    เพิ่มช่องทางในการเข้าถึงลูกค้า ร้านหนังสือของอเมซอนไม่ได้ขายแค่หนังสืออย่างเดียว แต่เป็นเหมือนการเปิดพื้นที่ให้กับสินค้าอื่น เพราะในร้านจะมีแผนกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น อี-บุ๊ก Kindle อุปกรณ์เกี่ยวกับการส่งข้อมูลผ่านทีวีแบบต่อเนื่อง และอื่น ๆ อเมซอนหวังใช้ร้านหนังสือเป็นสถานที่แสดงสินค้าเหล่านี้เพื่อให้ลูกค้าได้มาทดลองใช้งาน เผื่อลูกค้าจะเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาอ่านหนังสือผ่าน Kindle มากขึ้น

    เพิ่มยอดขาย ในการช้อปออนไลน์ ลูกค้า ลูกค้าทราบว่าต้องการอะไรก็จะตรงไปที่เป้าหมาย เลื่อนนิ้วค้นหา เปรียบเทียบราคา คลิกลงตะกร้า แต่การเปิดร้านจะทำให้คนที่เข้ามาเดินชมสินค้า แม้ไม่ตั้งใจซื้อ แต่บางทีการได้เห็น ได้สัมผัสสินค้าโดยตรง ก็มีโอกาสที่ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อ ที่สำคัญทำให้ทางร้านประหยัดค่าขนส่งกล่าวคือ ลูกค้ามาซื้อของที่ร้านแล้วรับสินค้าไปด้วยโดยไม่ต้องรอส่งพัสดุ หรือลูกค้าที่สั่งซื้อหนังสือออนไลน์ จ่ายเงินผ่านอินเตอร์เน็ตไปแล้วก็สามารถไปรับหนังสือที่ร้านสาขาใกล้บ้านด้วยตัวเอง 

    เรียกได้ว่าการเปิดร้านหนังสือแบบออฟไลน์ที่นำเทคโนโลยีมาผนวกเป็นการมอบประสบการณ์อีกแบบให้ลูกค้า ร้านหนังสือของอเมซอนน่าจะไปได้สวยเพราะนอกจากสายป่านจะยาว ระยะเวลา 20 ปีของการคร่ำหวอดในวงการอี-คอมเมิร์ซ ทำให้อเมซอนมีฐานลูกค้านับล้านคน อีกทั้งบริษัทได้สั่งสมข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือชนิดต่าง ๆ เรตติ้งหนังสือ จึงทำให้ทราบรสนิยมของตลาดนั้น ๆ การคัดหนังสือมาวางที่ร้านจึงหลากหลายและสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า

ที่มา
http://www.cnbc.com/2017/05/23/amazon-bookstore-new-york.html
http://fortune.com/2017/04/28/5-reasons-amazon-physical-stores/

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน