TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
ที่เว็บบอร์ดพันทิปมีคนมาตั้งกระทู้โดยเล่าว่าที่บ้านเปิดร้านขายของชำและขายก๋วยเตี๋ยวเสริมด้วย ทำเลคือหน้าโรงงานมีคนพลุกพล่าน เนื่องจากเป็นร้านโชวห่วยร้านเดียวในย่านนั้น จึงขายดีมาก ลูกค้าเดินเข้าร้านตลอดจนทอนตังค์แทบไม่ทัน ร้านเปิดมา 20 ปีแล้ว กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดังมาเปิดบริการ ห่างออกไปไม่ถึง 20 เมตร เป็นสาขาใหญ่โต 4 คูหาอลังการ ลูกค้าแห่ไปร้านนั้น หมด ทำให้ร้านเธอเงียบเหงาแทบไม่มีรายได้ เจ้าของกระทู้เครียดมาก จึงมาตั้งกระทู้ขอแชร์ไอเดียว่าจะทำอย่างไรต่อไป
ปรากฎมีคนมาตอบเพียบ หนึ่งในนั้นคือคุณสมาชิกหมายเลข 972021 ซึ่งเป็นเจ้าของร้านโชวห่วยที่เคยประสบปัญหาเดียวกัน แต่เธอตั้งสติพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ทำให้ร้านของเธอนอกจากจะอยู่รอด ยอดขายยังเพิ่มขึ้นจนต้องขยายร้านใหญ่กว่าเดิม โดยเธอเล่าถึงวิธีรับมือดังนี้ว่าเธอทำ SWOT Analysis วิเคราะห์จุดอ่อน-จุดแข็งทั้งของร้านเธอ และร้านคู่แข่ง ตั้งคำถามว่าร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดังมีอะไรและไม่มีอะไร ร้านเธอมีหรือไม่มีอะไร ลูกค้าไปซื้ออะไรในร้านสะดวกซื้อแบรนด์ใหญ่
จากการวิเคราะห์ข้างต้น จุดแข็งของร้านเธอคือสินค้าหลากหลายกว่า ขณะที่ ร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดัง
จะคัดเลือกเฉพาะสินค้าขายดี 3 อันดับต้นๆเข้ามาขาย แต่ความต้องการของลูกค้าแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ร้านโชวห่วยซึ่งเป็นคนพื้นที่สามารถคุยกับลูกค้า สอบถามจะได้รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร ความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ โชวห่วยมีมากกว่า สังเกตดูลูกค้าเป็นกลุ่มไหนบ้างและชอบอะไร ก็หามาขาย ส่วนราคาสินค้า หากหาร้านขายส่งที่ราคาถูกได้ก็จะตั้งราคาได้ถูกกว่า ที่สำคัญหมั่นไปดูว่ามีสินค้าอะไรแปลกใหม่ หากมีแนวโน้มจะขายได้ก็ขวนขวายไปหามาบริการลูกค้า
ต่อมาคือการสร้างความแตกต่าง (Differentiation) สิ่งที่ ร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดังไม่มี แต่โชวห่วยควรมีคือของแบ่งขายซึ่งเป็นตัวทำกำไร อาทิ ถุงใส่กับข้าว ยางรัดของ ขนมปี๊บ (ทำแพคเกจให้สวยงาม กำไรดีมาก) เจ้าของร้านโชวห่วยเล่าว่าหลังๆมีลูกค้ามาบ่นเรื่องเด็กๆชอบไปซื้อของเล่นในร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดัง ซึ่งราคาแพงมาก ร้านโชวห่วยของเธอก็ไปหาของเล่นแผงมาขาย ตอนนี้ลูกค้าเด็กๆเลยกลับมาเพียบ แต่ขายของเด็กต้องทันเด็ก ตอนนี้เค้าเล่นอะไร สินค้าตัวไหนกำลังฮิต ก็สอบถามจากร้านขายส่งนั่นแหละ สิ่งที่สำคัญอกอย่างคือการบริการ ต้องมีความเป็นมิตรสูง ทำให้ลูกค้าอยากกลับมาใช้บริการอีก
ขณะที่คุณสมาชิกที่ใช้ชื่อ “ป้าทุยท้ายทุ่ง” ให้มุมมองว่า เหรียญมีสองด้าน เวลามองต้องพลิกดูทั้งสองมุมด้วย
1. จุดเด่นของร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดังคงจะเป็นอาหารกล่องสำเร็จรูป ไส้กรอก ซาลาเปา ขนมจุ๊กจิ๊ก เครื่องดื่ม
เย็นในตู้แช่ ต้องลงทุนตู้แช่และแข่งไปแล้วก็อาจจะแพ้ ไม่ควรแข่งกับสินค้าที่ถือว่าเป็นหัวกะทิของเขา ลองคิดถึงสิ่งที่เราหาไม่ได้ในร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดังหรือมีก็ราคาแพงกว่าปกติ เช่น แขมพูขวดเล็ก ผงซักฟอก แป้ง บุหรี่ ไฟแช็ค น้ำยาล้างจาน ลองเติมร้านด้วยของใช้ประจำบ้าน ติดไว้อย่างละนิดละหน่อย การหาของได้ในยามฉุกเฉินจะทำให้เขาคิดถึงร้านใกล้บ้าน
2. เมื่อมีร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดังมาเปิดใกล้บ้านแปลว่ามีแรงซื้อ และจะมีแรงดึงดูดจากป้ายร้านเรียกคนเข้ามาเพิ่มเติม ผลดีน่าจะมีกับร้านอาหารตามสั่ง ของทอด ผลไม้ ลูกชิ้นปิ้ง ถ้าสังเกตจะเห็นว่าในย่านร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดังรอบจะพัฒนาเป็นศูนย์ของกินไปโดยทันที บางทำเลจะมีร้านก๋วยเตี๋ยว แผงลอย มาเช่าพื้นที่หน้าร้าน
3. พัฒนาเรื่องบริการ เพื่อนโชห่วยของคุณป้าทุยท้ายทุ่งคนหนึ่งอยู่ในละแวกที่ร้านสะดวกซื้อแบรนใหญ่อีกแบรนด์เปิดทำการ ตอนแรกก็วุ่นวาย พอเริ่มจับทิศทางได้เขาก็พัฒนาระบบเป็นการบริการส่งสินค้าทางโทรศัพท์ ลูกค้าโทรหาเขาก็ขับจักรยานซอกแซกไปส่งให้ มีทั้งข้าวสาร น้ำปลา น้ำมันพืช น้ำแข็งฯลฯ ยิ่งถ้าใกล้หมู่บ้านที่มักจะทิ้งพ่อแม่คนสูงอายุไว้บ้านคนเดียวก็จะได้ประโยชน์ยิ่งขึ้น
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการต่อสู้และแข่งขันของ SME ตัวเล็กในโลกของทุนนิยม ผู้มีสายป่านยาวอาจจะได้เปรียบ แต่ผู้ที่รู้จักปรับตัวเท่านั้นจึงจะอยู่รอดได้
ที่มา:
https://pantip.com/topic/30883540
RECCOMMEND: MARKETING
เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด
ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน