เมื่อโอลิมเปียสูญพันธุ์

 

 

เรื่อง : เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว 
          คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
           kiatanantha.lou@dpu.ac.th
 
          “ความฉลาดวัดได้จากความสามารถในการปรับตัว” 
          อัลเบิร์ต  ไอน์สไตน์
 
โอลิมเปียเป็นเครื่องพิมพ์ดีดที่เคยใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทยและทั่วโลก สำหรับคนที่อายุเกินกว่า 35  ปี คงคุ้นเคยกับเสียงต๊อกแต๊กของมันเป็นอย่างดี สมัยก่อนเวลานักเรียนนักศึกษาต้องทำรายงาน เครื่องพิมพ์ดีดคือตัวช่วยสำคัญให้รายงานออกมาสวยงาม เป็นระเบียบ ซึ่งหมายถึงคะแนนที่สูงขึ้นตามไปด้วย เมื่อ 20 ปีก่อน

ความสามารถในการ
พิมพ์ดีดถือเป็นทักษะที่หาได้ยาก คนที่พิมพ์ดีดได้ถูกต้องและรวดเร็ว จะมีโอกาสได้งานมากกว่าคนที่ไม่มีความสามารถในเรื่องนี้

ด้วยเหตุนี้ สมัยนั้นจึงมีโรงเรียนสอนพิมพ์ดีดเกิดขึ้นนับ
พันแห่งทั่วประเทศ หากมองย้อนกลับไปในตอนนั้น ใครจะคิดว่า วันหนึ่งเครื่องพิมพ์ดีดต๊อกแต๊ก โดยเฉพาะเครื่องพิมพ์ดีดโอลิมเปียซึ่งเทียบได้กับรถเบนซ์ในวงการพิมพ์ดีดจะถึงคราวสูญพันธุ์
 
เครื่องพิมพ์ดีดสัญชาติเยอรมันยี่ห้อนี้เป็นผลผลิตของบริษัทยูโรเปียน เยอเนอรัล อิเลคทริค มีต้นกำเนิดย้อนกลับไปถึงวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2446 ผู้ให้กำเนิด คือ ดร.ฟรีดริช (Friedrich von Hefner-Alteneck) เขาเห็นโอกาสทางการตลาดของเครื่องพิมพ์ดีด เนื่องจากในสมัยนั้น เครื่องพิมพ์ดีดที่วางขายอยู่มีราคาแพงเกินไป คนทั่วไปและธุรกิจขนาดเล็กไม่สามารถซื้อหามาใช้ได้ อย่างไรก็ตาม เครื่องพิมพ์ดีดรุ่นแรกๆ ที่บริษัทผลิตออกมาไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากต้นทุนการผลิตยังสูงอยู่ทำให้ไม่สามารถตั้งราคาขายให้ต่ำกว่าคู่แข่งได้  
 
 
 
 
บริษัทใช้เวลาถึง 9 ปีกว่าจะพัฒนาเครื่องพิมพ์ดีดที่สามารถตอบโจทย์ของลูกค้าได้จริงในราคาที่ไม่สูงจนเกินไปนัก เครื่องพิมพ์ดีดรุ่นนี้กลายเป็นเรือธงช่วยให้ชื่อของโอลิมเปียกลายเป็นที่รู้จักในวงการ มียอดขายที่ดีติดต่อกันถึง 9 ปี ซึ่งเท่ากับระยะเวลาที่ใช้ในการลองผิดลองถูกพอดิบพอดี

ความสำเร็จที่ได้รับทำให้บริษัทมีความมั่นใจพอที่จะลงทุนตั้งโรงงานที่
เมืองแอร์ฟูร์ท ประเทศเยอรมนีในปี พ.ศ.2466 เพื่อผลิตเครื่องพิมพ์ดีดรุ่นต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงเครื่องพิมพ์ดีที่ออกแบบมาสำหรับผู้พิการโดยเฉพาะ หลังจากนั้นไม่ถึง 10  ปี ชื่อเสียงของโอลิมเปียก็สามารถเทียบชั้นได้กับเครื่องพิมพ์ดีดชั้นนำของอเมริกา
 
แต่แล้วมรสุมก็มาเยือนบริษัท เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้น การต่อสู้กันระหว่างฝ่ายนาซีกับสัมพันธมิตรสร้างความเสียหายให้กับโรงงานอย่างมาก เมื่อบวกกับยอดขายที่หดหายไปในช่วงนั้น ทำให้โรงงานต้องลดขนาดการผลิตลงมา มีลูกจ้างเหลือเพียง 11 คน

แม้ว่าสุดท้ายแล้วฝ่ายสัมพันธมิตรจะสามารถยึดเมืองได้ แต่หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง เมืองนี้ก็
ตกเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมันตะวันออก นั่นหมายความว่า ทรัพย์สินทุกอย่างของบริษัทตกเป็นของรัฐบาล หลังจากโดนรัฐบาลยึดกิจการ โอลิมเปียก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นออปติมา  
 
เคราะห์ดีที่มีลูกจ้างของบริษัทหลายคนที่สามารถหลบหนีไปยังเยอรมันตะวันตกได้ พวกเขาได้รวมตัวกันเพื่อผลิตเครื่องพิมพ์ดีดโอลิมเปียอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.2491ที่เมืองวิลเฮลมส แฮฟเวิ่น สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วในเวลาเพียงไม่กี่ปี บริษัทที่ตั้งขึ้นมาใหม่นี้ได้ยื่นเรื่องต่อศาลโลกที่กรุงเฮก เพื่อขอสิทธิ์การเป็นเจ้าของชื่อโอลิมเปียแต่เพียงผู้เดียว ศาลโลกได้ตัดสินให้บริษัทได้รับชัยชนะ 
 
 
 
นับตั้งแต่ย้ายฐานการผลิตมายังเยอรมันตะวันออก โอลิมเปียมีการพัฒนาเครื่องพิมพ์ดีดของตนอย่างต่อเนื่อง ประมาณกันไว้ว่า ในปี พ.ศ.2504 เครื่องพิมพ์ดีดกว่าครึ่งหนึ่งที่ใช้กันอยู่ในเยอรมันตะวันตกเป็นของโอลิมเปีย เครื่องพิมพ์ดีดบางรุ่นได้รับการตอบรับที่ดี ทำยอดขายได้ต่อเนื่องถึง 16 ปี จุดเด่นของโอลิมเปียไม่ได้อยู่แค่คุณภาพของตัวเครื่อง  แต่รวมไปถึงการออกแบบที่สวยงามทันสมัย ใช้ง่าย  
 
ในช่วงปี พ.ศ.2503-2513 คู่แข่งจากอเมริกาอย่างเรมิงตันและอันเดอร์วู๊ดถูกขายให้กับนักลงทุน แต่โอลิมเปียขยายฐานการผลิตไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น แคนาดา เม็กซิโก ชิลี เป็นต้น การที่โอลิมเปียกลายเป็นของจำเป็นสำหรับนักเขียนบทภาพยนตร์ในฮอลลีวู้ด นักเขียนนิยาย นักข่าว เป็นหลักฐานยืนยันความสำเร็จได้เป็นอย่างดี 
 
เค้าลางของจุดจบก่อตัวขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970 หลังจากการถือกำเนิดขึ้นของคอมพิวเตอร์ บริษัทรู้ดีว่าจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อเอาตัวรอด โดยวางแผนว่าจะเพิ่มสายการผลิตเครื่องคิดเลข และสุดท้ายแล้วจะเปลี่ยนจากการผลิตเครื่องพิมพ์ดีด ไปเป็นการผลิตคอมพิวเตอร์ ซึ่งหากดูตามแผนการที่วางไว้แล้ว โอลิมเปียก็น่าจะไปรอดได้ไม่ยากนัก
 
 
 
 
ปัญหาก็คือ แผนการที่วางไว้ไม่ได้ถูกนำไปใช้จริง เพราะโอลิมเปียตัดใจเลิกผลิตเครื่องพิมพ์ดีดไม่ได้เสียที  ผู้บริหารของบริษัทมองว่า หากทำการพัฒนาเครื่องพิมพ์ดีดให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ บางอย่างใส่ลงไปเพื่อให้สามารถทำงานได้เหมือนการพิมพ์ในคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ดีดก็น่าจะยังพอสู้กับคอมพิวเตอร์ได้

ไม่ใช่ผู้
บริหารและพนักงานทุกคนจะเห็นด้วยกันแนวทางนี้ แต่ผู้บริหารส่วนใหญ่ไม่เปิดรับฟังความคิดเห็น มัวแต่หลงยึดติดอยู่กับความยิ่งใหญ่ในอดีต มองว่าโอลิมเปียคือเครื่องพิมพ์ดีด ทั้งที่หากมองด้วยหลักการด้านการแข่งขันแล้ว โอลิมเปียอยู่ในธุรกิจการผลิตอุปกรณ์สำนักงาน  และแบรนด์ของโอลิมเปียเองก็มีความแข็งแกร่งในเรื่องนี้มากทีเดียว การเปลี่ยนไปผลิตสินค้าอย่างอื่นเพื่อตอบสนองตลาดเดิม โดยใช้แบรนด์โอลิมเปีย จึงมีโอกาสจะประสบความสำเร็จค่อนข้างสูงเพราะเป็นที่เชื่อถือของลูกค้าอยู่แล้ว
 
นอกจากจะไม่ฟังเสียงทักท้วงของคนในบริษัท ผู้บริหารยังละเลยต่อสัญญาณบอกเหตุจากภายนอก ซึ่งสะท้อนออกมาจากยอดขายเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้ารุ่น SGE 50M Excellence ที่มีรูปแบบการทำงานที่คล้ายกับการพิมพ์ในคอมพิวเตอร์ ยอดขายของเครื่องรุ่นนี้ต่ำกว่าที่คาดไว้เป็นอย่างมาก

ในบางพื้นที่ยอดขายเครื่องนี้เกือบจะเป็นศูนย์เลยทีเดียว แม้
แต่ตอนที่สำนักงานส่วนใหญ่เลิกใช้พิมพ์ดีดและหันมาใช้คอมพิวเตอร์แทน ผู้บริหารของโอลิมเปียยังดึงดันที่จะผลิตเครื่องพิมพ์ดีดรุ่นใหม่ในปี พ.ศ.2527 ชื่อว่าโอลิมเปีย 1011 ซึ่งใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการควบคุมการพิมพ์แบบเดียวกับเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ตในสมัยนี้ เพราะยังเชื่อว่ายังไงเครื่องพิมพ์ดีดก็ยังเป็นของจำเป็นสำหรับธุรกิจ  
 
สินค้าไหนที่ลงทุนสูง แต่ทำยอดขายได้น้อย ต้นทุนต่อชิ้นย่อมมีมาก จึงไม่สามารถตั้งราคาให้ต่ำได้ เครื่องพิมพ์ดีดรุ่นใหม่ของโอลิมเปียที่ยอดขายแทบไม่กระดิก เลยต้องขายในราคาที่ค่อนข้างแพง เมื่อเทียบกับประโยชน์ใช้สอยที่จำกัดกว่าคอมพิวเตอร์ ลูกค้าจึงได้พร้อมใจกันโหวตให้โอลิมเปียออกไปจากตลาด โรงงานของโอลิมเปียหยุดทำการผลิตในปี พ.ศ.2535 ปิดฉากตำนานเครื่องพิมพ์ดีดสัญชาติเยอรมันไปตลอดกาล
 
ไม่น่าเชื่อว่าโอลิมเปียซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมาสารพัดจะมาตายน้ำตื้นแบบนี้ แต่ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ธุรกิจ  จะพบว่า เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเสมอกับยักษ์ใหญ่ที่ไม่ยอมเรียนรู้เพื่อปรับตัว โกดัก โนเกีย และอีกหลายธุรกิจในปัจจุบันก็มาถึงจุดนี้ด้วยเหตุผลเดียวกัน

นี่คือสาเหตุว่า ทำไมธุรกิจจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะจัดการกับข้อมูลและความรู้ สามารถแยกแยะได้ว่า 
อะไรคือจุดแข็งที่แท้จริง เพราะความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริงของธุรกิจเกิดจากความเก่งในเรื่องที่คนอื่นลอกเลียนแบบได้ยาก ซื้อหามาไม่ได้  เป็นสิ่งที่ต้องสั่งสมกันมายาวนาน

ที่
สำคัญ ความเก่งแบบนี้ไม่ได้เก็บไว้บนหิ้งให้เลือกหยิบมาใช้ แต่เป็นความเก่งที่แฝงอยู่ในตัวคน การสร้างความสามารถในการแข่งขัน จึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการความรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้คนของเราสามารถเปล่งประกายให้ถึงขีดสุด เพราะยิ่งเขาเก่งขึ้น ธุรกิจของเราก็จะเข้มแข็งขึ้นตามไปด้วย
 
การยึดมั่นถือมั่นแบบกบในกะลา มีแต่จะทำให้เราย่ำอยู่กับที่ ธุรกิจคือการแข่งขัน การย่ำอยู่กับที่ไม่ต่างอะไรกับการเดินถอยหลัง  อย่ากลัวที่จะเปลี่ยน หากเป็นการเปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ประวัติศาสตร์พิสูจน์แล้วว่า ต่อให้เป็นกบตัวใหญ่ หากมุดอยู่ในกะลา ไม่ช้าก็เร็วจะพบกับจุดจบ ขนาดกบใหญ่ยังไปไม่รอด แล้วกบเล็กกบน้อยอย่าง SME ที่ยังไม่คิดปรับตัวจะมีโอกาสอยู่รอดสักแค่ไหนกันเชียว
 
 

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน