R&D กับนวัตกรรมเอสเอ็มอีควรเลือกทำอะไร?

 






 เรื่อง : เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว 
            คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
             kiatanantha.lou@dpu.ac.th



    

“ธุรกิจมีหน้าที่แค่สองอย่าง ขายของและสร้างนวัตกรรม”
มิลาน คุนเดอรา


    จากการวิเคราะห์แนวโน้มการพัฒนาทางเทคโนโลยีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญในวงการเทคโนโลยีเชื่อกันว่า อีกประมาณ 20-30 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีที่เราใช้จะมีความก้าวหน้าว่าเทคโนโลยีในวันนี้นับร้อยเท่า การคาดการณ์นี้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ว่า สินค้าไฮเทคในปัจจุบันอาจกลายเป็นของล้าสมัยไปได้ในเวลาไม่กี่เดือน ความเชื่อที่ยึดถือกันมาเป็นเวลานาน อาจถูกแนวคิดใหม่ๆ หักล้างได้อย่างรวดเร็ว 


   ในทำนองเดียวกัน กลยุทธ์ต่างๆ ที่ SME เคยใช้แล้วประสบความสำเร็จในอดีต อาจมิใช่กลยุทธ์ที่ดีอีกต่อไป ดังนั้น หนทางจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้นั้น ก็คือสร้างความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ปัจจัยสำคัญในการสร้างความพร้อมดังกล่าวคือ ความสามารถในการวิจัยและพัฒนา (R&D) และการทำนวัตกรรม (Innovation)


    ประเด็นก็คือ SME จำนวนไม่น้อยยังไม่แน่ใจว่า 2 คำนี้แตกต่างกันอย่างไร แล้วแบบไหนที่ SME ควรให้ความสำคัญมากกว่ากัน ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนี้เองที่ทำให้เชื่อกันว่า การทำนวัตกรรมกับการวิจัยและพัฒนา คือเรื่องเดียวกัน อาจเป็นเพราะกิจกรรมทั้ง 2 แบบมีความสลับซับซ้อน ประกอบกับความเชื่อที่ว่า การจะทำกิจกรรม 2 อย่างนี้ต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และจำเป็นต้องมีการลงทุนเป็นจำนวนมาก จึงเป็นกิจกรรมสำหรับธุรกิจใหญ่เท่านั้น ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจึงไม่มีทรัพยากรพอที่จะทำเช่นนั้นได้ 


    อันที่จริงแล้ว ทั้งการทำการวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรมไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมหาศาลเสมอไป การทดลองเล็กๆ น้อยๆ เช่น การปรับเปลี่ยนส่วนผสมของวัตถุดิบในอาหารที่ผลิต การทดลองดัดแปลงอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ หรือแม้กระทั่งการศึกษารายละเอียดของผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งที่มีความแตกต่างกับสินค้าที่ผลิตอยู่ในตอนนี้ ก็ถือว่าเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาได้เช่นกัน


    ปัจจัยพื้นฐานประการหนึ่งซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถดำเนินกิจกรรมการวิจัยและพัฒนาและการทำนวัตกรรมได้อย่างประสบความสำเร็จคือ การเข้าใจถึงความหมายและความแตกต่างของกิจกรรมทั้ง 2 อย่างนี้ในที่นี้จึงขอยกคำนิยามของการวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรม ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ให้ไว้มาเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นความแตกต่าง



    การวิจัยและพัฒนา หมายถึง การสร้างสรรค์ผลงานอย่างเป็นระบบ เพื่อจะสร้างหรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์ กระบวนการ บริการ หรือการประยุกต์ใช้อื่นๆ โดยการวิจัยและพัฒนาจะแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ

•    การวิจัยพื้นฐาน เป็นการสร้างความรู้ใหม่ที่อาจจะไม่สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้ทันที เช่น การศึกษาถึงสารเคมีชนิดหนึ่งที่ผีเสื้อหลั่งออกมาในตอนกลางคืนว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง 

•    การวิจัยประยุกต์ เป็นการนำเอาผลที่ได้จากการวิจัยพื้นฐานมาพัฒนาต่อเพื่อใช้ประโยชน์ ซึ่งในขั้นนี้จะเป็นการศึกษาถึงประโยชน์ในด้านต่างๆ ที่จะได้รับจากสารเคมีที่สกัดออกมาจากตัวผีเสื้อ 

•    การพัฒนาเชิงทดลอง เป็นการนำเอาความรู้ที่ได้จากการวิจัยในสองขั้นแรกมาใช้ประโยชน์ในการสร้างสิ่งใหม่ หรือปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่แล้วให้มีความก้าวหน้าขึ้น จากตัวอย่างที่ยกมานี้ การวิจัยในขั้นสุดท้ายนี้



    อาจทำให้เกิดสินค้าตัวใหม่ เช่น น้ำหอมกันยุง เครื่องสำอาง ยารักษาโรคเบาหวาน หรืออาจทำให้น้ำหอมกันยุงที่มีอยู่แล้วสามารถเก็บรักษาได้นานขึ้น เครื่องสำอางติดทนนานขึ้น ยารักษาโรคเบาหวานมีประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้น เป็นต้น

    นวัตกรรม หมายถึง ความสามารถในการใช้ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ทางเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาและผลิตสินค้าใหม่ กระบวนการผลิตใหม่ หรือบริการใหม่ซึ่งตอบสนองความต้องการของตลาด ทั้งนี้ นวัตกรรมแบ่งได้เป็น 2 แบบด้วยกัน คือ นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) ที่เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ให้แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่อย่างเห็นได้ชัด และนวัตกรรมด้านกระบวนการ (Process Innovation) ซึ่งเป็นการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้น


    ตัวอย่างของนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ ได้แก่ การพัฒนาเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำเป็นพลังงานแทนน้ำมัน การปรับปรุงคุณภาพของโทรศัพท์มือถือให้สามารถรับ-ส่งข้อมูลได้รวดเร็วขึ้นและมีขนาดกะทัดรัดลง ส่วนตัวอย่างของนวัตกรรมด้านกระบวนการ ได้แก่ การใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาควบคุมกระบวนการผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ที่ต้องใช้ความแม่นยำสูง เพื่อลดความผิดพลาดในการผลิต และเพิ่มความรวดเร็วในการผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ให้มากขึ้น 


    การทำนวัตกรรมทั้ง 2 ประเภทนี้ต่างก็สอดคล้องกับกลยุทธ์การแข่งขันที่ ไมเคิล อี.พอร์ตเตอร์ ได้เสนอเอาไว้ เกี่ยวกับการสร้างความแตกต่างและการลดต้นทุนเพื่อเครื่องมือในการสร้างและรักษาความสามารถในการแข่งขัน จะเห็นได้ว่า การวิจัยและพัฒนานั้น เน้นหนักไปใน “การสร้างสรรค์ผลงานที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้” ซึ่งแตกต่างจากการทำนวัตกรรมที่ให้ความสำคัญกับ “ความสามารถในการใช้ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์เพื่อสร้างความแตกต่าง หรือการเพิ่มประสิทธิภาพ”


    ธุรกิจที่ไม่ได้มีการวิจัยและพัฒนาอย่างเข้มข้น แต่รู้จักการจัดการและใช้ประโยชน์จากความรู้ที่มีอยู่อย่างชาญฉลาดก็สามารถทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม การส่งเสริมให้มีกิจกรรมด้านการวิจัยและพัฒนาเพียงอย่างเดียว ก็มิได้เป็นหลักประกันว่าจะสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้เช่นกัน 


    แม้กระนั้นก็ตาม เรามิอาจกล่าวได้ว่าการวิจัยและพัฒนาและการทำนวัตกรรมนั้นเป็นกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะความรู้ที่ได้จากการวิจัยและพัฒนามีส่วนส่งเสริมความสามารถในการทำนวัตกรรมให้เพิ่มขึ้นได้ และเช่นเดียวกัน ความรู้ที่ได้จากการทำนวัตกรรมเองก็มีส่วนสนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้าในการวิจัยและพัฒนา ดังนั้น สิ่งที่ท้าทายก็คือ การใช้ศาสตร์และศิลป์ในการจัดการความรู้อย่างเหมาะสมเพื่อให้การวิจัยและพัฒนากับการทำนวัตกรรมเป็นกิจกรรมที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน


    แม้ว่าการวิจัยและพัฒนาและการทำนวัตกรรมนี้ก็เปรียบเสมือนรางรถไฟที่จะต้องสร้างคู่กันไปเสมอ เพื่อให้บริษัทสามารถมุ่งไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน แต่ถ้าให้แนะนำก็ขอแนะนำว่า ให้มุ่งสร้างนวัตกรรมก่อน เพราะลงทุนน้อยกว่า และเห็นผลเร็ว พอเริ่มเก่ง ทุนมากขึ้น ค่อยขยับไปทำวิจัยและพัฒนาเต็มรูปแบบทีหลังจะดีกว่า

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน