​Lean Six Sigma ตัวช่วย SME สร้างความสำเร็จ

 


เรื่อง : Lean Supply Chain by TMB


ในสนามแข่งอย่างโลกธุรกิจ มีคำกล่าวหนึ่งบอกไว้ว่า “โอกาสเป็นของคนที่พร้อมอยู่เสมอ” หากวันหนึ่งธุรกิจของคุณเติบโตและเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว มีความต้องการในตลาดสูงขึ้นเป็นเท่าตัว คุณจะปรับตัวอย่างไรให้ทันต่อความต้องการนั้นๆ โดยที่คุณภาพของสินค้าที่ออกมายังคงเดิมไม่ลดน้อยลง 


อย่างไรก็ดี ไม่ว่าธุรกิจเล็กหรือใหญ่ เชื่อว่าเจ้าของต่างคาดหวังถึงยอดขาย ผลกำไรที่ดีขึ้น และความสำเร็จในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่มีเงินลงทุนจำกัด การจะเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับกับโอกาสที่จะเข้ามาโดยไม่ต้องเสี่ยงมากนัก หรือแม้แต่จะทำอย่างไรให้ขายได้มากขึ้นโดยไม่ต้องเพิ่มกำลังการผลิต 


ตัวช่วยในการทำสิ่งเหล่านี้ให้สำเร็จ มีชื่อว่า Lean Six Sigma เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว แต่เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น ลองมาทำความรู้จักกับตัวช่วยที่ว่านี้กันทีละส่วน


Lean คือ แนวคิดในการลดต้นทุน และความสูญเปล่าที่แฝงอยู่ในสายการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งหาว่าสิ่งใดทำแล้วมีคุณค่า และสิ่งใดที่ไม่มี เพื่อพัฒนากระบวนการที่จำเป็นให้ดีขึ้นและตัดขั้นตอนบางอย่างทิ้งไป แล้วจึงหาวิธีการที่สูญเปล่าน้อยที่สุด 


หากเปรียบเทียบ Lean กับร่างกายของคนเรา Lean เหมือนการกำจัดไขมันส่วนเกินออกจากร่างกาย จนกลายเป็นคนผอมแต่มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง เมื่อนำ Lean มาใช้กับธุรกิจจึงเท่ากับว่าได้ขจัดขั้นตอนและของเสียออกจากธุรกิจ ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น Lean เปรียบเสมือนเสาต้นแรกที่ช่วยค้ำยันธุรกิจ ส่วนเสาต้นที่สองที่จะมาช่วยให้ธุรกิจมั่นคงมากขึ้น คือ Six Sigma


Six Sigma คือ กลยุทธ์ที่มุ่งเน้นลดความผิดพลาดในกระบวนการผลิตสินค้า ด้วยการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล แล้วหาทางปรับปรุงกระบวนการทุกขั้นตอนเพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และเกิดมาตรฐานที่คงที่ และไม่พยายามเพียงจัดการกับปัญหา แต่จะออกแบบวิธีเพื่อกำจัดปัญหาทิ้งไป เมื่อข้อผิดพลาดน้อยลง ก็ใช้เวลาในการผลิตสินค้าลดลง ทำให้ในเวลาเท่าเดิมผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าได้มากขึ้น และมีคุณภาพสูงเท่ากันทุกชิ้น 5 ขั้นตอนสู่การบริหารแบบ Six Sigma หรือ DMAIC ประกอบไปด้วย


1. Define การกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน อะไร ส่วนไหน ที่ต้องการปรับปรุง โดยเริ่มต้นตั้งเป้าหมายจากจุดที่คิดว่าเป็นปัญหาที่สุดของกระบวนการทำงาน


2. Measure การวัดความสามารถของกระบวนการ เก็บตัวเลขของแต่ละกระบวนการไว้เป็นสถิติ เพื่อที่จะนำผลลัพธ์ของแต่ละครั้งมาเปรียบเทียบกันได้


3. Analyze การวิเคราะห์สาเหตุปัญหา ขั้นตอนนี้สำคัญมาก หาตัวการที่ทำให้กระบวนการทำงานแต่ละครั้งแตกต่างกันให้พบ 


4. Improve การปรับปรุงโดยเน้นที่ต้นเหตุของปัญหา สร้างขั้นตอนการทำงานใหม่ที่สามารถขจัดปัญหา และได้ผลลัพธ์ที่มีคุณภาพมากขึ้น


5. Control การควบคุมกระบวนการที่มีผลกระทบ พยายามควบคุมระดับของกระบวนการที่ได้รับการปรับปรุงให้คงอยู่ในจุดที่น่าพอใจเสมอ


เมื่อ Lean และ Six Sigma มารวมกันจึงกลายเป็นรากฐานที่แข็งแรงและมั่นคงสำหรับการบริหารธุรกิจ ช่วยให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น และลดความแปรปรวนของการทำงานลง Lean Six Sigma ไม่ใช่เพียงทฤษฎีในอุดมคติ แต่เป็นแนวทางในการบริหารธุรกิจขนาดเล็กและองค์กรขนาดใหญ่มาแล้ว ยกตัวอย่าง กรณีศึกษาของบริษัท พลังผัก จำกัด (Oh! Veggies) เจ้าของสินค้ามะม่วงน้ำปลาหวานที่ขายในร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง สินค้ามีความนิยมสูงมาก ออร์เดอร์จึงเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว วิธีการที่ง่ายที่สุดในการตอบสนองยอดขายคงเป็นการขยายโรงงาน เพิ่มคน เพิ่มเครื่องจักร เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต แต่วิธีที่ง่ายกลับทำให้ต้นทุนสูงขึ้นตามมาด้วย


ทีมงานของพลังผักได้ตั้งโจทย์ที่ท้าทายขึ้นมาข้อหนึ่งว่า หากไม่เพิ่มกำลังคน ไม่เพิ่มอุปกรณ์ สามารถปรับเปลี่ยนส่วนใดได้บ้างเพื่อให้ได้สินค้าจำนวนเพิ่มตามที่ต้องการ เมื่อกำหนดปัญหา (Define) ได้แล้ว ขั้นต่อมาคือ การตรวจสอบ(Measure) และวิเคราะห์ปัญหา (Analyze) พบปัญหาอยู่ 2 จุดใหญ่ๆ คือ 


ปัญหาที่หนึ่ง การเสียเวลามากเกินความจำเป็นในขั้นปอกเปลือกและบรรจุมะม่วงลงกล่อง เมื่อเจาะลึกถึงสาเหตุพบว่าขนาดลูกมะม่วงที่ไม่เท่ากันทำให้จับไม่ถนัดมือ สามารถปรับปรุง (Improve) ได้โดยตกลงกับแหล่งวัตถุดิบผู้จัดหามะม่วงให้เลือกเฉพาะขนาดที่จับได้พอดีมือ และทำการทดลองดูว่า มีดชนิดไหนที่สามารถปอกมะม่วงได้สะดวกและไวที่สุด 


เมื่อได้ชนิดของมีดแล้วจึงมาศึกษาการเคลื่อนไหวของมือขณะปอก จนได้รูปแบบการปอกที่ง่าย เร็ว และมีประสิทธิภาพสูงสุด นำมาสอนให้กับพนักงานทุกคนทำในแบบเดียวกัน(Control)


ปัญหาข้อที่สอง วิธีบรรจุกล่องแบบเก่าต้องใช้คนเดินถือถาดมะม่วงไปสู่เครื่องบรรจุทำให้เกิดความล่าช้า จึงแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มสายพานให้ลำเลียงสินค้าเข้าเครื่องโดยตรง จากเดิมที่ใช้เวลาผลิตมะม่วงน้ำปลาหวานต่อวัน 7-8 ชั่วโมง สามารถผลิตสินค้าได้จำนวนเท่าเดิมภายในเวลาเพียง 4-5 ชั่วโมง โดยใช้คนเท่าเดิม ไม่ต้องให้พนักงานทำงานล่วงเวลาหรือเปลี่ยนแปลงกำลังการผลิตใดๆ 


ไม่น่าเชื่อว่าการย้อนกลับมาดูขั้นตอนเล็กๆ น้อยๆ การเปลี่ยนอุปกรณ์และการประสานความต้องการกับแหล่งวัตถุดิบ ร่วมด้วยกับการใช้เทคโนโลยีช่วยแรงงานคนจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เพิ่มทั้งผลผลิตและยังเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้มากขึ้นอีกด้วย "ประสิทธิภาพจะเกิดได้ แค่มุมมองเปลี่ยน"


อีกอย่างหนึ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ Lean Six Sigma คือ เป็นโครงการที่ไม่มีจุดเริ่มต้น และจุดจบของโครงการอย่างชัดเจน แต่เป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) อาจจะเห็นผลได้ช้า แต่ก็คุ้มค่าที่จะทำ การคาดหวังถึงความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของธุรกิจนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับวันที่โอกาสแห่งความสำเร็จนั้นจะเข้ามาด้วย ออกแบบกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ เท่านี้ความสำเร็จก็ไม่ไกลเกินที่คุณจะฝันถึง 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน