“ลดพุงดิจิตอล” โอกาสธุรกิจกับชีวิตออฟไลน์

 



เรื่อง : สัญชัย บูรณ์เจริญ 
          nineclookclick@gmail.com  
          www.clookclick.com


    ผมพยายามล็อกอินใช้งาน Pinterest โซเชียลมีเดียที่ฮิตมากในสหรัฐฯ ส่วนเมืองไทยเคยได้รับความนิยมอยู่พักหนึ่ง พยายามคีย์รหัสหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ นี่ผมไม่ได้ใช้นานจนลืมพาสเวิร์ดหรือว่าเขาปลดชื่อออกจากสารบบไปแล้ว นอกจาก Pinterest แล้ว ก็มีอีกหลายโซเชียลมีเดียที่สมัครไปแต่ไม่ได้เคลื่อนไหวบัญชีนานแล้ว อย่างเช่น google+ แม้จะไม่ลืมพาสเวิร์ดเพราะผูกติดกับอีเมล แต่ก็เข้าใช้งานน้อยมาก โดยพฤติกรรมส่วนตัวผมรู้สึกว่าใช้โซเชียลมีเดียน้อยลง เอ๊ะ! นี่ผมผิดปกติหรือเปล่า 

    วันก่อนมีรายการทีวีสัมภาษณ์ “พี่ติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ผลดี” ดาราชื่อดังที่ยังเป็นขวัญใจของสาวๆ แม้จะอยู่ในวงการมานานแล้ว หนึ่งในเรื่องราวนอกจากละครที่กำลังออนแอร์ คือ การใช้โซเชียลมีเดีย ที่น่าสนใจเพราะพี่ติ๊ก ไม่ใช้โซเชียลมีเดียอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ใช้เพียง Line เพื่อการติดต่อทำงานเท่านั้น ดูจากไลฟ์สไตล์ก็พอจะเข้าใจได้ เพราะพี่ติ๊กทำรายการทีวีเกี่ยวกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วันๆ ก็เข้าป่ามากกว่าอยู่ในเมือง การสื่อสารแบบเรียลลิตี้ จึงไม่มีความจำเป็น เทียบกับพี่ติ๊กแล้ว ผมก็จัดว่าใช้งานเยอะมาก  


FoMO คืออะไร 

    เมื่อ 3-4 ปีก่อน ตอนที่โซเชียลมีเดียเริ่มเป็นที่นิยม หลายคนต่างรีบสมัครใช้บริการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะนอกจากปัจจัยสี่ มนุษย์ก็ต้องการการสื่อสารการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เมื่อสื่อ (Media) เปลี่ยนไป มนุษย์ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้ทัน เพื่อให้เชื่อมสัมพันธ์กับเพื่อนได้เหมือนเดิม 

    ความนิยมในเมืองไทยดังไประดับโลก ในครั้งหนึ่งกรุงเทพฯ คือ เมืองหลวงของเฟซบุ๊ก (City of Facebook) เพราะเป็นเมืองที่มีบัญชีเฟซบุ๊กต่อจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก ในครั้งนั้นกรุงเทพฯ คือแชมป์โลกอินสตาแกรม โดยมี 2 โลเกชั่นที่ถูกปักหมุดในโลกออนไลน์มากที่สุดคือ สนามบินสุวรรณภูมิและสยามพารากอน   

    โซเชียลมีเดียเปลี่ยนโลกของการสื่อสารระหว่างกัน ทำให้เราได้เจอเพื่อนที่ห่างหายไปหลายปี ได้รู้ความเคลื่อนไหวแม้อยู่ห่างไกลคนละซีกโลก ได้ใกล้ชิดเพื่อนแม้ปลีกเวลาฝ่าการจราจรไปเจอกันลำบาก ได้รู้ข่าวสารทันทุกสถานการณ์ เสน่ห์ของเนื้อหาที่ถูกอัพเดตตลอดเวลา และเปิดเข้าไปดูเมื่อไรก็เจอรูปภาพและข้อความใหม่ๆ ทุกครั้ง ทำให้หลายคนเริ่มเสพติดโซเชียลมีเดียโดยไม่รู้ตัว กลัวตกข่าวกลัวพลาดเรื่องสำคัญ นี่คือปรากฏการณ์ Fear of Missing Out (FoMO) หรือกลัวตกกระแส


JoMO คืออะไร  

    แต่โลกของโซเชียลมีเดียก็มีอีกด้านที่ไม่ได้สวยงามไปทั้งหมด บางเหตุการณ์เป็นเรื่องธรรมดาแต่ถูกทำให้ดราม่าเกินจริง บางเรื่องราวยังไม่ได้พิสูจน์ว่าจริงหรือเท็จแต่ก็ถูกส่งต่อกันไปสู่วงกว้างนำไปสู่การเข้าใจผิด ชนิดที่เจ้าตัวไม่มีโอกาสได้อธิบาย บางเนื้อหามีการผลิตซ้ำย้ำแล้วย้ำอีก กลายเป็นโลกที่หมุนเร็ว หมุนแรง ถูกแต่งเติม และดราม่าเยอะ ก่อให้เกิดความเครียดโดยไม่จำเป็น จึงทำให้บางคนเริ่มถอยห่าง
 

    Anil Dash นักเขียนและบล็อกเกอร์ชื่อดังได้เขียนบทความเรื่อง Joy of Missing Out (JoMO) ว่า การขาดหายจากโลกออนไลน์ราวเดือนเศษไม่ได้ทำให้เขาพลาดอะไรแม้แต่น้อย ตรงข้ามกลับทำให้เขามีความสุขกับคนรอบข้าง เพราะได้ใช้เวลาด้วยกันมากขึ้น นี่เป็นพฤติกรรมของ JoMO ซึ่งตรงกันข้ามกับ FoMO แนวคิดนี้เริ่มขยายวงกว้าง หนังสือ The Joy of Missing Out และหนังสือ The Digital Diet ต่างก็มองว่าการใช้ชีวิตในโลกดิจิตอลที่มากเกินไปจะกลายเป็นผลเสีย และเสนอแนวทางการใช้ชีวิตที่สมดุลในยุคดิจิตอล JoMO ถูกกล่าวถึงอย่างมากและถูกมองว่าเป็นเทรนด์



พฤติกรรมที่จะเริ่มโดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ

    Juan Enriquez กล่าวบนเวที TEDTalks ว่า ชีวิตในโลกออนไลน์จะทิ้งร่องรอยพฤติกรรมอยู่อย่างถาวร ทุกการโพสต์รูปภาพ โพสต์ข้อความ กดไลก์ กดแชร์ การฟอลโลคนดัง ค้นหาข้อความในเว็บเซิร์ช เปิดจีพีเอสตลอดเวลา ทุกอย่างจะถูกบันทึกไว้กลายเป็นรอยสักอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Tattoo) และจะทำให้มนุษย์เรากลายเป็นอมตะ เพราะสิ่งเหล่านี้จะอยู่ยืนยาวยิ่งกว่าอายุของเรา


   ไม่เพียงเท่านั้นมันไม่ใช่รอยสักธรรมดาแต่ยังฉลาดด้วย เพราะรู้ว่าเราชอบใส่ชุดแบบไหน รับประทานอาหารอะไร ไปเที่ยวที่ไหน ใครคือเพื่อนสนิท ในปี 2555 บริษัท face.com ซึ่งมีภาพใบหน้าคนทั่วโลกกว่า 1,000 ล้านหน้า ได้ขายกิจการให้กับเฟซบุ๊ก นั่นยิ่งทำให้รอยสักอิเล็กทรอนิกส์มีข้อมูลและรู้จักเรามากกว่าที่เราคิด แนวคิดเรื่อง Digital Tattoo ทำให้มหาวิทยาลัยบริติสโคลัมเบีย เริ่มรณรงค์เรื่องคิดก่อนโพสต์ (Think Before You Ink) เพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักและคิดให้รอบคอบในการใช้งานโซเชียลมีเดีย  

 
โอกาสทางธุรกิจอยู่ตรงไหน

    คนที่อาศัยอยู่ในเมืองเริ่มปรับตัวเพื่อหาสมดุลใหม่ ใช้ชีวิตดิจิตอลแค่ไหนจึงจะพอดี โดยมีบางกลุ่มที่ยังเป็น FoMO ในขณะที่คนบางกลุ่มเริ่มลดการใช้ชีวิตดิจิตอลที่เกินความจำเป็น (Digital Diet) และรู้สึกว่าชีวิตออฟไลน์กลายเป็นเสน่ห์แบบใหม่ คล้ายๆ กับที่ถวิลหา “ความเนิบช้า” โหยหา “ความโบราณ” สำหรับผู้ประกอบการแล้วชีวิตออฟไลน์ คือนิยามใหม่ของความหรูหรา (Offline is new luxury) อย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม  


    ในขณะที่แอพพลิเคชันส่วนใหญ่ อำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อได้เร็ว ส่งข้อมูลได้เยอะ แต่เดี๋ยวนี้เริ่มมีการพัฒนาแอพพลิเคชันเพื่อบล็อกการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต รับส่งอีเมล ข้อความจากโซเชียลมีเดีย เช่น SelfControl TimeOut หรือ Think เป็นต้น เพื่อให้มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ต้องทำ นั่นเพราะคนทั่วไปไม่สามารถห้ามใจตัวเองได้ การมีตัวช่วยเหล่านี้จึงมีความจำเป็น  


    การถ่ายรูปอาหารก่อนรับประทานเพื่อโพสต์ลงในโซเชียล อาจสร้างความสนุกสนานและดูคล้ายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคนบางกลุ่ม แต่ขณะเดียวกันเหตุการณ์แบบนี้ก็รบกวนลูกค้าคนอื่น นี่จึงเป็นโอกาสที่ร้านอาหารควรทำอะไร เพื่อให้ลูกค้า JoMO ได้เข้ามารับประทานอาหารแล้วได้ลิ้มลองรสชาติอย่างแท้จริง แทนที่จะลงทุนติดตั้งระบบ Wi-Fi ให้เชื่อมต่อได้ง่าย ก็ชูความเป็นร้านอาหารออฟไลน์ให้ลูกค้าได้สุนทรีย์กับรสชาติ เช่นเดียวกับรีสอร์ตหรือสถานที่ท่องเที่ยว ที่ควรเน้นเรื่องความสงบ ความเป็นส่วนตัว ปราศจากการรบกวน ได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างแท้จริง แน่นอนว่าอาจไม่ถูกใจลูกค้าบางกลุ่ม แต่จะโดนใจกลุ่มที่หนีความวุ่นวายในเมือง


    ในวงการศึกษาและพัฒนาการเด็ก มีการตั้งข้อสังเกตว่า เด็กสมัยนี้เวลาว่างก็ดูทีวี คอมพิวเตอร์ เล่นเกม แท็บเลต แช็ตบนมือถือ ที่เป็นสาเหตุของโรคสมาธิสั้น บางคนเป็นน้อยบางคนเป็นมาก บางคนเพิ่งมารู้ตัวตอนเป็นวัยรุ่นแล้ว ทำให้เกิดปัญหาการเข้าสังคม ปัญหาการเรียน การสอบ และอีกหลายๆ อย่างตามมา ทำให้ผู้ปกครองสมัยนี้เน้นเรื่องการเลี้ยงดูเด็กมากขึ้น พยายามลดการใช้งานอุปกรณ์ไอที โดยเฉพาะในวัยเด็กเล็ก จะเน้นกิจกรรมการเล่นที่ต้องใช้ทักษะของร่างกาย การใช้มือการสัมผัส ตลาดของเล่นแนวใหม่จึงไม่ใช่แค่ขายของเล่น แต่ขายวิธีการเล่น (How to Play) เพื่อให้เด็กได้ใช้ทักษะตามวัย กลายเป็นโอกาสที่น่าจับตามอง  


    สำหรับผู้ประกอบการ SME แล้ว การแข่งขันเรื่องไฮเทคอาจไม่ง่ายถ้าจะสู้กับบริษัทขนาดใหญ่ แต่ถ้าหันมาเน้น Hi-Touch ที่สามารถเอาใจใส่ดูแลลูกค้าได้ทั่วถึงกว่า ก็มีโอกาสเหนือกว่าเห็นๆ

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ถอดวิธีคิดญี่ปุ่น 5 เคล็ดลับออกแบบสินค้าที่ครองใจคนทั่วโลก

เคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าจากญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, แกดเจ็ต, นั่นเพราะสินค้าจากแดนปลาดิบมักจะโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

เจาะลึกเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มปี 2568 ที่ธุรกิจต้องรู้

 ในปี 2568 ยังคงเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกแนวโน้มสำคัญๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เอาสินค้าเข้า Modern Trade ต้องทำยังไง? เจาะลึกทุกขั้นตอน สู่ความสำเร็จบนชั้นวางสินค้า

การก้าวเข้าสู่โลกของ Modern Trade นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วันนี้ SME Thailand จะพาคุณไปล้วงเคล็ดลับจากวงในมาเปิดเผยแบบหมดเปลือกกัน