หยิบหลักคิด “Panda Parenting” เลี้ยงลูกน้องให้เติบโตแบบแพนด้า สร้างคนเก่ง คนกล้าให้อยู่คู่องค์กร  

Text: VaViz


      เคยสงสัยไหมว่า ทำไมแพนด้าถึงไม่สูญพันธุ์ แถมยังอยู่รอดมาได้ถึงทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่ใช้ชีวิตโลดโผนโจนทะยาน ขึ้นต้นไม้สูงๆ แล้วทิ้งตัวหล่นตุ๊บลงมาข้างล่าง นั่นอาจจะไม่ใช่เพราะโชคช่วยเพียงอย่างเดียว แต่เพราะทุกอย่างนั้นอยู่ในสายตาของ “พ่อแม่”  

      แข็งแกร่งดังหินผาแบบนี้ เรามาลองถอดวิธีเลี้ยงลูกแบบหมีขาว-ดำ สู่การพัฒนาลูกน้องในองค์กรให้เติบโตอย่างเข้มแข็งกันบ้างจะดีกว่า  

ก่อนอื่น...การเลี้ยงลูกแบบแพนด้าที่ว่านั้นคืออะไร?

     สไตล์การเลี้ยงลูกแบบแพนด้า หรือที่เรียกกันว่า Panda Parenting นั้น คือรูปแบบการเลี้ยงลูกแบบปล่อยวางและยึดหลักการไว้วางใจให้ลูกตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ซึ่งถูกพบครั้งแรกในหนังสือชื่อ How to Raise Successful People: Simple Lessons for Radical Results โดย Esther Wojcicki คุณแม่ชาวอเมริกันคนดัง ที่เลี้ยงดูลูกๆ จนประสบความสำเร็จและมักได้ขึ้นปกนิตยสารอยู่บ่อยๆ

     ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยวิธีนี้นั้นอยู่ที่

          - เน้นให้ลูกมั่นใจในตัวเอง

          - มีความเชื่อมั่นว่าแม้ทำผิดพลาด พ่อแม่ก็พร้อมเข้าใจ ให้อภัย และยินดีช่วยแก้ปัญหา

          - ลูกรู้สึกเป็นอิสระและไม่โดดเดี่ยวทางจิตใจ

แล้วจะหยิบ “Panda Parenting” มาพัฒนาลูกน้องได้อย่างไร?

     ถ้าเปรียบบรรดาพนักงานเหมือนกับลูกแพนด้า เจ้านายหรือหัวหน้าก็ไม่ต่างกับพ่อหมีแม่หมี ที่ต้องคอยสอดส่องดูแลให้ลูกตัวน้อยเติบโตและอยู่รอดได้ในป่าที่เต็มไปด้วยสรรพสัตว์น้อยใหญ่นั่นเอง ซึ่งทำได้ไม่ยาก ดัง 5 วิธีการ ต่อไปนี้

     1. ไม่ทำแทนไปเสียทุกอย่าง

          เมื่อลูกประสบปัญหาเล็กๆ น้อยๆ พ่อแม่ไม่ควรและไม่จำเป็นต้องรีบเข้าไปช่วยเหลือทันทีหรือทำให้ลูกแทนทันที เพื่อเปิดโอกาสให้เขาได้คิดและลองแก้ปัญหาด้วยตัวเองดูก่อน วิธีนี้จะช่วยฝึกให้ลูกมีทักษะความมั่นใจและสามารถพึ่งพาตัวเองได้

           - มุมหัวหน้า: เช่นเดียวกันกับพ่อแม่ หัวหน้าเองก็ควรให้โอกาสลูกน้องได้ลองแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองก่อน ถ้าทำไม่ได้หรือจำเป็นจริงๆ จึงยื่นมือเข้าไปช่วย

     2. ไม่ปิดโอกาส ไม่ขวางทางเจอความท้าทาย

           ลูกจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มั่นใจและมีความรับผิดชอบได้ พ่อแม่ต้องไม่มัวกีดกันลูกออกจากสถานการณ์ที่น่ากลัวหรือยากลำบากทุกครั้งไป แต่ควรเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ลองเผชิญกับความท้าทายบ้าง พร้อมดูแลอยู่ห่างๆ เพื่อให้เขารู้สึกว่ายังมีพ่อแม่อยู่เคียงข้าง

           - มุมหัวหน้า: ไม่ปิดกั้นลูกน้องให้ได้ลองทำสิ่งแปลกใหม่ หรือความท้าทายใหม่ๆ เพื่อฝึกให้รู้จักกล้าทำในสิ่งที่สร้างสรรค์ ไม่ติดอยู่ในกรอบแบบเดิมๆ

     3. ไม่เมินสิ่งเล็กๆ น้อยๆ

          จะทำให้ลูกเป็นคนมีระเบียบ รู้หน้าที่ และมีความรับผิดชอบ พ่อแม่ต้องรู้จักมอบหมายหน้าที่เล็กๆ น้อยๆ ให้พวกเขาได้ฝึกทำดู เช่น เก็บของเข้าที่ ช่วยงานบ้าน หรือทำการบ้านให้เสร็จตามเวลา

         - มุมหัวหน้า: ปลูกฝังความรับผิดชอบในหน้าที่การงานของลูกน้อง รวมถึงสร้าง Mindset ของการเป็นเจ้าของร่วมกัน ซึ่งจะช่วยผลักดันให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีแรงจูงใจในการทำงานที่ดีขึ้น นั่นเพราะถ้าธุรกิจอยู่ได้ ลูกน้องก็อยู่ได้ด้วย

      4. ไม่หมิ่นศักยภาพ

           เพราะคนเราไม่ได้เก่งหรือทำได้ดีไปหมดทุกอย่าง เด็กๆ เองก็เช่นกัน เพราะฉะนั้น เมื่อมีเรื่องที่ต้องตัดสินใจ ควรให้เด็กๆ ได้ลองเลือกทางที่เขาจะทำดู พร้อมฝึกให้ยอมรับผลจากสิ่งที่เลือกมา โดยที่พ่อแม่ควรเชื่อมั่นในศักยภาพของลูกเข้าไว้ และไม่ตีตนไปก่อนไข้ว่าสิ่งที่ลูกเลือกนั้นไม่ดีหรือไม่เหมาะสม เพียงเพราะเขาเป็นแค่เด็ก

           - มุมหัวหน้า: ในทำนองเดียวกัน หัวหน้าควรฝึกลูกน้องให้กล้าตัดสินใจ กล้าออกความคิดเห็น โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกตำหนิหรือมองว่าเป็นความคิดที่ไม่ได้เรื่อง 

     5. ไม่ควบคุม แต่ให้คำปรึกษา

          สุดท้าย การเลี้ยงลูกแบบแพนด้าต้องรู้จักให้อิสระ ไม่บังคับ หรือสั่งให้ลูกทำตามที่คนเป็นพ่อแม่ต้องการ รวมถึงไม่รับฟังความคิดเห็น ไม่ให้คำปรึกษา หรือไม่ให้กำลังใจ เพราะสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นตัวบั่นทอนความมั่นใจในตัวลูกได้

          - มุมหัวหน้า: พร้อมให้คำปรึกษา ไม่ถือตัวว่าเป็นหัวหน้า ไม่สวมบทเป็นเจ้านายจอมสั่ง ที่สั่งงานได้ตลอดเวลา แต่ไม่ให้เวลาคนทำ จนทำให้ลูกน้องหมดไฟในการทำงาน และหันหลังเดินจากบริษัทไปในที่สุด

     ไม่น่าเชื่อว่า การเลี้ยงลูกแบบแพนด้าช่างดูเข้าท่ากับการนำมาพัฒนาลูกน้องและเจ้านายให้อยู่ร่วมกันได้ในองค์กรแบบ Win-Win    

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

เช็คก่อนสาย! 9 สัญญาเตือนที่บ่งบอกว่าคุณคือผู้นำสุดอันตราย

Toxic Leadership หรือผู้นำที่แสดงพฤติกรรมในเชิงลบ มักจะทำให้บรรยากาศการทำงานเป็นพิษ จนทำให้พนักงานรู้สึกไม่มีความสุข สุขภาพจิตใจแย่ และประสิทธิภาพในการทำงานลดลง  แล้วมีสัญญาณอะไรที่บ่งบอกถึงผู้นำที่ Toxic บ้าง ไปดูกัน

รู้จัก 2 เทคนิค ตั้งเป้าหมายอย่างไร ไปให้ถึง

การตั้งเป้าหมายเป็นเรื่องง่าย แต่การจะบรรลุเป้าหมายนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราเลยจะมาแนะนำ 2 เทคนิคดีๆ เพื่อช่วยให้สามารถวางแผนไปถึงเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและสำเร็จได้ นั่นคือ SMART Goal และ WOOD

เช็กลิสต์ วัฒนธรรมองค์กรดี ที่พาธุรกิจโตไม่หยุด

การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่ง แต่ยังสร้างอนาคตที่ดีขององค์กรด้วย เราลองมาเช็คลิสต์กันว่า ในวันนี้องค์กรได้สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นบวก และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีแล้วหรือยัง