ESG จะเปลี่ยนความเสี่ยงเป็นโอกาสธุรกิจได้อย่างไร

เรียบเรียง : Phan P.


     “ESG” (Environment-สิ่งแวดล้อม, Social-สังคม, Governance-ธรรมาภิบาล) เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งกำลังเป็นที่ความสนใจอย่างมากจากทั่วโลก แม้คำว่า ESG จะฟังดูเป็นเรื่องใหญ่โตและต้องใช้เงินลงทุน แต่แท้จริงแล้วเอสเอ็มอี ก็สามารถทำได้ เพราะนี่คือโอกาสและความท้าทายครั้งสำคัญในการดำเนินธุรกิจ   

     มาฟัง ณัฐพงศ์ ตันติจัตตานนท์ กรรมการบริหาร ฝ่ายความยั่งยืน เคพีเอ็มจี ประเทศไทย (KPMG) พูดถึงโอกาสและเทรนด์ทางธุรกิจที่ไม่อาจจะเลี่ยงได้ ในงานสัมมนา พัฒนาธุรกิจ SME สู่ความยั่งยืนในตลาดโลกด้วย ESG และการเปิดตัว ESG Toolkit สำหรับ SME

ESG ตอบโจทย์ธุรกิจอย่างไร

     ณัฐพงศ์ กล่าวถึงความสำคัญของ ESG ว่าถ้าผู้ประกอบการยังไม่เริ่มลงมือทำในตอนนี้ จะไม่มีความสามารถทางการแข่งขันในอนาคตเพราะกฎกติกาของโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว หลายคนอาจมองว่า ESG คือความเสี่ยง แต่ในอีกด้านหนึ่ง ESG ก็เป็นโอกาสสำคัญที่ควรคว้าไว้ เพราะจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งถ้าไม่ทำในวันนี้ก็จะไม่สามารถค้าขายกับประเทศยุโรปได้ ทั้งนี้ หากเอา ESG เข้ามาผนวกเป็นกลยุทธ์ธุรกิจก็จะช่วยสร้างรายได้ เพิ่มกำไรทางธุรกิจได้ โดยก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าเราทำ ESG เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องอะไร 

1. ตามกฎระเบียบ

     - กฎระเบียบของรัฐที่เกี่ยวกับความยั่งยืน

     - ข้อกำหนดการเปิดเผยข้อมูลขององค์กรเกี่ยวกับความยั่งยืน ESG และสภาพภูมิอากาศ

2. ขับเคลื่อนตลาด

     - ดึงดูดนักลงทุน

     - ประสิทธิภาพทางการเงินที่ดีขึ้น 

     - ชื่อเสียงของธุรกิจที่ดีขึ้น

     - ตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

3. สร้างมูลค่า

     - เพิ่มโอกาสในการเติบโตด้วยการลดต้นทุน

     - สะท้อนประสิทธิภาพโดยการลดความเสี่ยง

     - สร้างมูลค่าทางการเงินและมูลค่าองค์กร

ESG สร้างโอกาสธุรกิจได้อย่างไร

1. การเข้าถึงตลาดใหม่

     การปฏิบัติตาม ESG เปิดประตูสู่ผู้บริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและภูมิภาคด้วยกฎระเบียบที่เข้มงวด

2. การดึงดูดนักลงทุน

     ธุรกิจที่เน้น ESG เป็นที่ดึงดูดความสนใจของนักลงทุนและสถาบันการเงินที่เสนอสินเชื่อหรือเงินช่วยเหลือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

     “นักลงทุน สถาบันการเงินให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ทำเรื่องกรีน ความยั่งยืน เพราะสถาบันการเงินมีการตั้งเป้าหมายเรื่องสินเชื่อกรีน มีเงินอัดฉีดเงินให้มหาศาลเพื่อให้ SME ปรับตัวในเรื่องนี้ ซึ่งถ้าเราปรับตัวไม่ได้ก็อาจจะกู้ยืมเงินไม่ได้ เวลาที่นักลงทุนจะลงทุนก็จะกางเรตติ้ง ESG ดูก่อนว่าได้อะไร ถ้าอยู่ในสเกลเรตติ้งที่สูงก็มีโอกาสได้รับเงินลงทุน ได้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ”

3. ชื่อเสียงของแบรนด์ที่เพิ่มขึ้น

     แนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนจะช่วยสร้างการรับรู้ถึงแบรนด์ในวงกว้างและความภักดีของลูกค้า

4. การลดต้นทุน

     ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นจากการประหยัดพลังงาน การลดของเสีย และการเพิ่มประสิทธิภาพทรัพยากร

     “การลดคาร์บอนง่ายที่สุดสามารถเริ่มจากภายใน ลดการใช้พลังงาน ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้น้ำ ลดขยะ ซึ่งทั้งหมดคือเรื่องการลดต้นทุน หมายความว่าต้นทุนทางธุรกิจจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นอย่ามองว่าการทำ ESG คือค่าใช้จ่ายเพียงอย่างเดียว”

จะบูรณาการ ESG เข้ากับกลยุทธ์ธุรกิจ SME ได้อย่างไร?

     ถ้าเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ จะเริ่มได้อย่างไร ในเรื่องนี้ ณัฐพงศ์ อธิบายว่า

1. ให้ความสำคัญจากระดับบน

     การทำ ESG ควรเริ่มต้นจากคณะกรรมการและผู้บริหาร เพื่อกำหนดทิศทางการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนที่ชัดเจน     

2. สร้างทีม ESG

     สร้าง ESG Mindset ให้คนในองค์กร รวบรวมพนักงานที่มีความอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงและความยั่งยืน เพื่อสร้าง ESG Team ในการขับเคลื่อน ESG ในองค์กร

3. เลือกและวางแนวทางการทำ ESG

     ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่สามารถทำประเด็นเกี่ยวกับ ESG ได้ในทุกเรื่องในปีเดียวหรือวันเดียวได้ นอกจากนี้แต่ละทุกธุรกิจย่อมมีความแตกต่างกัน มีสิ่งสำคัญที่ต้องการทำไม่เหมือนกัน ดังนั้น ควรเลือกหยิบประเด็นสำคัญที่จะทำมาแค่ 3 เรื่อง เช่น ลดการใช้พลังงาน การใช้พลังงานสะอาด ลดการใช้พลาสติก ฯลฯ แล้วเริ่มทำ 3 เรื่องนี้ในปีนี้ก่อน จากนั้นค่อยๆ ขยายไปทำเรื่องอื่นๆ ในปีถัดไป

4. พนักงานและซัพพลายเชนมีส่วนร่วม

     ทุกคนในธุรกิจไม่ว่าจะเป็นพนักงานหรือผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน สามารถมีบทบาทในการทำให้กลยุทธ์ ESG ประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นพยายามให้พนักงาน และซัพพลายเชน รับรู้และมีส่วนร่วมด้วย   

5. การวัดและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

      สิ่งสำคัญคือต้องรวบรวมข้อมูลและผลการดำเนินงาน ESG เป็นระยะๆ เพื่อดูว่าการดำเนินการโครงการต่างๆ นั้นมีประสิทธิผลอย่างไร โดยควรมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น จะลดน้ำลดการใช้ไฟกี่เปอร์เซ็นต์ต่อปี เป็นต้น

6. สื่อสารและเปิดเผย

     ความโปร่งใสและการเปิดกว้างถือเป็นหัวใจสำคัญของ ESG ดังนั้นควรสื่อสารในเรื่องนี้ และแสดงให้เห็นว่าจุดแข็งขององค์กรที่ตอบโจทย์ ESG มีอะไร จากนั้นนำมาทำแบรนด์ดิ้ง แล้วเปิดเผยเรื่องนี้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบ

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

4 เครื่องมือช่วย “ตัดสินใจ” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า

หากมีทางเลือกอยู่หลายทาง แล้วทางไหนจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ และข้อผิดพลาดน้อยที่สุด SME Thailand เลยอยากจะแนะนำเครื่องมือที่ช่วยให้การตัดสินใจที่มีความรอบคอบและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

เขียนสัญญาเช่ายังไงให้รัดกุม ธุรกิจไม่เสียเปรียบ

สัญญาเช่า เรื่องใกล้ตัวผู้ประกอบการหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่รู้ไหมการมีสัญญาเช่าที่ดีและรัดกุม สามารถป้องกันปัญหาและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้มากมาย