ไขข้อสงสัย เครดิตบูโรคืออะไร? ติดแบ็กลิสต์ มีผลต่อการกู้เงินแบงก์หรือไม่

TEXT : กองบรรณาธิการ

     เชื่อว่าคงไม่มีใครที่อยากจะติด blacklist หรือ ติดเครดิตบูโร นั่นอาจทำให้เสียประวัติแล้วหลายคนยังมีความเชื่อว่าการติด blacklist จะทำให้ไม่สามารถไปกู้เงินกับแบงก์ได้

     จริงๆ แล้วเครดิตบูโรคืออะไร การติดเครดิตบูโรนั้นมีผลต่อการกู้เงินจริงหรือไม่

     วันนี้ SME Thailand Online ชวนไปไขข้อสงสัยกัน

                                                                   

เครดิตบูโร คือ อะไร

     “เครดิตบูโร” คือ องค์กรหนึ่งที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อจะรวมข้อมูลคนเป็นหนี้ ใครไปเป็นหนี้แบงก์ ใครไปเป็นหนี้นอนแบงก์ จะมีองค์กรนี้เป็นศูนย์กลางในการเก็บข้อมูลคนเป็นหนี้ ถ้าเปรียบเทียบ คือ “สมุดพกของคนเป็นหนี้” เหมือนว่าเราไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยนั้นหรือที่โรงเรียนนั้น แล้วมีสมุดพกเพื่อรวบรวมว่าคนนี้มีผลการเรียนเป็นอย่างไร เหมือนกับว่า คนนี้มีหนี้ที่ไหนบ้าง แล้วปฏิบัติหนี้แต่ละก้อน แต่ละที่อย่างไร องค์กรนี้ในต่างประเทศและในประเทศไทย เรียกว่า “เครดิตบูโร”

เครดิตบูโร กับความเข้าใจผิดที่มักจะได้ยินบ่อยๆ

     สาเหตุที่สถาบันการเงินไม่ให้สินเชื่อ เพราะเครดิตบูโรขึ้น “บัญชีดำ” หรือที่เรียกกันว่า “ติดแบล็กลิสต์” ความจริงแล้วเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะ เครดิตบูโร หรือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) จะมีหน้าที่ในการจัดเก็บ รวมรวบข้อมูลสินเชื่อและประวัติการชำระหนี้สินเชื่อ โดยสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกมีหน้าที่รายงานและส่งข้อมูลให้แก่เครดิตบูโรเป็นรายเดือนทุกเดือน

     ทั้งนี้ NCB ได้เผยเผยแพร่บทความไว้ในเว็บไซต์เรื่อง “จริงไหม…ที่เขาบอกว่าเรา “ติดแบล็กลิสต์” ? เลยกู้สินเชื่อไม่ผ่านสักที แม้ว่าจะปิดหนี้ไปนานแสนนานแล้วก็ตาม

     เรื่องนี้ “ไม่เป็นความจริง” การเก็บข้อมูลของเครดิตบูโร ไม่ได้มีการทำเป็นแบล็กลิสต์ หรือบัญชีดำในฐานข้อมูลแต่อย่างใด

     สิ่งที่เครดิตบูโรจัดเก็บ คือข้อมูลการชำระหนี้ตามความเป็นจริง โดยมีสถานะกำกับไว้ ว่ามีการชำระปกติ หรือค้างชำระมาแล้วกี่วัน ยกตัวอย่าง

  • กรณีที่ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ ไม่ค้างชำระ รายงานจะแสดงสถานะว่าเป็น “ปกติ”

 

  • กรณีที่มีการผิดนัดชำระ รายงานจะแสดงสถานะ “ค้างชำระ” ในระบบข้อมูลของเครดิตบูโร

 

     รายงานข้อมูลเครดิตเป็นการรายงานประวัติการชำระสินเชื่อตามข้อเท็จจริง แต่ไม่มีการรายงานว่าลูกหนี้คนใดติดแบล็กลิสต์ และเครดิตบูโรไม่มีสิทธิที่จะอนุมัติ หรือร่วมตัดสินใจให้สินเชื่อกับใคร

เก็บข้อมูล 3 ปี

     สำหรับ “รายงานข้อมูลเครดิต” คือ ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการชำระหนี้ โดยจัดเก็บไว้ในระบบฐานข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) และจะปรากฏในรายงานข้อมูลเครดิต เมื่อมีผู้ขอเรียกดู

     โดยเครดิตบูโรจะเก็บข้อมูลย้อนหลังไม่เกิน 3 ปีตามที่กฎหมายกำหนด หากชำระหนี้เก่าที่ค้างครบแล้ว หรือปิดหนี้แล้ว และไม่ได้มีการค้างชำระอีก ผ่านไป 3 ปี (36 เดือน) ประวัติค้างชำระก็จะหายไป

ข้อมูลในเครดิตบูโร ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก

     1) ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงตัวตนเจ้าของบัญชี เช่น ชื่อ ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด สถานภาพการสมรส อาชีพ เลขที่บัตรประชาชน และกรณีที่เป็นนิติบุคคล จะเป็น ชื่อ สถานที่ตั้ง เลขที่ทะเบียนนิติบุคคล เป็นต้น

     2) ข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ และประวัติการชำระสินเชื่อ ประวัติการชำระราคาสินค้าหรือบริการโดยบัตรเครดิต รวมทั้งสถานะบัญชี ว่ามีการชำระตรงเวลาตามปกติหรือไม่ หากมีสินเชื่อหลายบัญชี หรือมีบัตรเครดิตหลาย ๆ ใบ รายงานก็จะมีหลายหน้ามากขึ้น แยกตามแต่ละบัญชีสินเชื่อ

ทำไมผู้กู้ให้ข้อมูลครบหมดแล้ว ประวัติหนี้เสียก็ไม่มี แต่ยังขอสินเชื่อไม่ผ่าน?

     หลายคนอาจสงสัยมีคำถามว่า ไม่มีประวัติหนี้เสียแต่ก็ยังกูไม่ผ่าน ในเว็บไซต์ NCB ได้ชี้แจงเรื่องถึงสาเหตุที่สถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อ อาจเป็นไปได้หลายอย่าง ได้แก่

  • นโยบายการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการแต่ละแห่งแตกต่างกัน

 

  • ประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาของลูกหนี้

 

  • โอกาสในการผิดนัดชำระหนี้มากหรือน้อย

 

  • ภาระหนี้ที่มีอยู่เดิม และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ

 

  • หลักประกันความเสี่ยง เช่น หลักทรัพย์ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกัน

 

วิธีแก้ไขถ้าธนาคารปฏิเสธให้สินเชื่อเพราะติดเครดิตบูโร

     ในกรณีถ้าผู้ประกอบการไม่สามารถกู้เงิน หรือถูกปฏิเสธสินเชื่อ โดยธนาคารหรือสถาบันการเงินให้เหตุผลว่า เป็นเพราะข้อมูลในเครดิตบูโรหรือเกี่ยวข้องกับเครดิตบูโร ธนาคารหรือสถาบันการเงินต้องออกหนังสือชี้แจงเหตุผลที่ไม่ให้กู้หรือปฏิเสธให้สินเชื่อโดยชัดเจนว่า ไม่ให้กู้เพราะข้อมูลของท่านในเครดิตบูโรเป็นอย่างไร เช่น มีข้อมูลแสดงว่ามีประวัติค้างชำระ มีหนี้หรือวงเงินสินเชื่อมากเกินไป เป็นต้น

     จากนั้นผู้ประกอบการสามารถนำหนังสือชี้แจงดังกล่าว พร้อมกับบัตรประชาชนตัวจริง มายื่นขอตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเครดิตบูโรได้ฟรี ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรทุกแห่ง ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ

ที่มา : https://www.ncb.co.th/ncb-infographic/national-credit-bureau-infographic/blacklist-truth/

https://www.ncb.co.th/ncb-infographic/national-credit-bureau-infographic/blacklist-truth/

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

ESG จะเปลี่ยนความเสี่ยงเป็นโอกาสธุรกิจได้อย่างไร

แม้คำว่า ESG (Environment, Social, Governance) จะฟังดูเป็นเรื่องใหญ่โตและต้องใช้เงินลงทุน แต่แท้จริงแล้วเอสเอ็มอี ก็สามารถทำได้ เพราะนี่คือโอกาสและความท้าทายครั้งสำคัญในการดำเนินธุรกิจ   

4 เครื่องมือช่วย “ตัดสินใจ” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า

หากมีทางเลือกอยู่หลายทาง แล้วทางไหนจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ และข้อผิดพลาดน้อยที่สุด SME Thailand เลยอยากจะแนะนำเครื่องมือที่ช่วยให้การตัดสินใจที่มีความรอบคอบและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด