5 หลักคิดในการทำธุรกิจแบบญี่ปุ่น เริ่มต้นง่ายๆ แต่ได้ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่

TEXT : กันยา เตียวตระกูล

ภาพประกอบ : สันติ

     รู้ไหมว่า กว่า 52,000 บริษัทในประเทศญี่ปุ่นอยู่มานานกว่า 100 ปี ในจำนวนนี้ 1,938 บริษัทมีอายุมากกว่า 500 ปี และที่น่าทึ่งไปกว่านั้น 21 บริษัทยังดำเนินกิจการมานานกว่า 1 พันปี!! ตามข้อมูลการศึกษาของ Toshio Goto ศาสตราจารย์วิจัยแห่งมหาวิทยาลัย Japan University of Economics เบื้องหลังของความสำเร็จนี้อยู่ที่อะไร?  5 ศาสตร์ปรัชญาในการทำธุรกิจแบบญี่ปุ่น เรื่องง่ายที่ทำได้ไม่ยาก แต่ให้ผลที่ยิ่งใหญ่

ริเน็น

ศาสตร์แห่งการยึดมั่นทำตามเป้าหมาย

     “ริเน็น (Rinen)” แนวคิดหรือปรัชญาทางธุรกิจที่ผู้บริหารยึดมั่น ส่งต่อแนวคิดจนเกิดเป็นจิตวิญญาณในการทำงานร่วมกัน ในภาษาญี่ปุ่น  ริ (理) หมายถึง เหตุผล ,เน็น (念) แปลว่า สติ  ดังนั้น คำว่า ริเน็น (理念) แบบตรงตัว จึงหมายถึง เหตุผลที่เกิดจากสติปัญญานั่นเอง

     หลักการของ “ริเน็น” คือการตอบคำถามว่า “ธุรกิจของเราเกิดมาเพื่ออะไร?” และยึดมั่นในจุดยืนนั้นในทุกๆ ย่างก้าว โดยไม่เอากำไรเป็นที่ตั้ง แเน้นแสวงหา “ความสุข” มากกว่าผลประโยชน์ และความสุขที่ว่านั้น ต้องมาจากพนักงานเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยคู่ค้า ลูกค้า สังคม และสุดท้ายคือเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น

     การทำธุรกิจแบบริเน็นจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ช้าๆ แต่เติบโตได้อย่างยั่งยืน รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งจากภายในสู่ภายนอก และมุ่งทำเพื่อผู้อื่นและสังคมมากกว่าประโยชน์ของตัวเอง

     เหมือนอย่าง “ริวเก็ตสึ” ร้านขนมอายุกว่าร้อยปีในจังหวัดฮอกไกโด ที่ยึดริเน็นเป็นหลักในการทำธุรกิจ ด้วยคีย์เวิร์ดที่ว่า “จะมุ่งมั่นสานสายสัมพันธ์คนในครอบครัวผ่านขนม” ดังนั้นไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ขนมของทางร้านจะยังคงอร่อยและราคาถูกอยู่เสมอ โดยอาศัยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อลดต้นทุน แต่ไม่ลดคุณภาพวัตถุดิบ สร้างรายได้และกำไรอย่างต่อเนื่องกว่า 40 ปี และเป็นองค์กรที่พนักงานทุกคนตั้งใจทำขนม เพื่อความสุขของลูกค้าอย่างเต็มใจ แถมยังได้รับรางวัลจากการทำขนมมากมาย และครองใจลูกค้าได้ทั่วทั้งฮอกไกโดโดยที่ไม่ต้องโฆษณา

ไคเซ็น

 ศาสตร์แห่งการปรับปรุงพัฒนาไม่สิ้นสุด

      “ไคเซ็น (Kaizen)” มาจากคำว่า ไค (改) แปลว่า เปลี่ยน และ เซ็น (善) แปลว่า ดีหรือความดี  ไคเซ็น จึงหมายถึง “การเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้ดีขึ้น”

     หลักการของ “ไคเซ็น” มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ “การปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง” ไม่ใช่การเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด แต่เป็นการปรับปรุงเฉพาะจุดที่มีปัญหาเท่านั้น โดยรักษาวิธีการทำงานแบบเดิมที่มีอยู่แล้วทำให้ดียิ่งขึ้น เน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคนในองค์กรให้ร่วมกันคิดและปรับปรุงวิธีการทำงานให้ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

     Toyota เป็นบริษัทแรกๆ ที่นำแนวคิดนี้มาใช้ในองค์กรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ โดยคิดระบบ Just In Time หรือการผลิตแบบทันเวลาพอดี ซึ่งเป็นการผลิตตามความต้องการจริงของลูกค้าขึ้นมา แทนการผลิตแบบ Mass Production ที่เป็นการผลิตแบบจำนวนมาก ทำให้ Toyota ไม่มีปัญหาเรื่องของต้นทุนในการจัดเก็บสต็อก รวมถึงปัญหาความผิดพลาดในการผลิต เพราะส่วนประกอบของรถในไลน์ผลิตจะเท่ากับจำนวนที่ต้องใช้ ทำให้ไม่มีปัญหารถยนต์ที่มีส่วนประกอบขาดหรือเกินหลุดไปถึงมือลูกค้า

     สรุปได้ว่าศาสตร์ของการทำไคเซ็นนั้น ช่วยให้กระบวนการทำงานของธุรกิจมีคุณภาพดีขึ้น ต้นทุนถูกลด เวลาส่งมอบสินค้า ซึ่งรวมถึงเวลาการผลิต เวลาการจัดเรียง และเวลาการขนส่งลดลง กำจัดความสูญเปล่าในการทำงาน และเพิ่มความปลอดภัยในการทำงานและความปลอดภัยของลูกค้าให้มีมากขึ้นได้

โคดาวาริ

ศาสตร์แห่งการมุ่งมั่นตั้งใจ ทำทุกอย่างให้ลงตัว

     “โคดาวาริ” (Kodawari) หรือ “こだわり” ที่แม้ในภาษาไทยอาจไม่มีคำแปลตรงๆ แต่อธิบายได้ง่ายๆ ว่า คือความตั้งใจแน่วแน่ในการทำบางสิ่งให้ออกมาดีที่สุด แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม

     หลักคิดของ “โคดาวาริ” เน้นที่การพิถีพิถัน มุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานแต่ละอย่างให้ออกมาดีที่สุด ไม่ให้มีข้อผิดพลาดแม้แต่เพียงนิดเดียว แนวคิดนี้สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของคนญี่ปุ่น ที่เน้นใส่ใจทุกรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพราะไม่ใช่แค่จะต้องแข่งขันกับคู่แข่งทางธุรกิจ แต่กำลังแข่งขันกับตัวเอง เพื่อสร้างมาตรฐานการทำงานให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

     ถ้าให้เอ่ยถึงคนที่ยึดหลักโคดาวารินั้น จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก Jiro Ono ปรมาจารย์ด้านซูชิของญี่ปุ่น เจ้าของร้านซูชิ Sukiyabashi Jiro ร้านซูชิแรกของโลกที่เคยได้รับมิชลินสตาร์ 3 ดาว ผู้ที่มีอายุมากถึง 98 ปีในปัจจุบัน

     เขามีความมุ่งมั่นตั้งใจในการปั้นซูชิแต่ละชิ้นให้ออกมาสมบูรณ์ที่สุด เริ่มตั้งแต่การตื่นตั้งแต่ตี 2 ไปตลาดปลา เพื่อคัดเลือกวัตถุดิบที่ดีที่สุด ไปจนถึงกรรมวิธีในการทำที่มีการปรับปรุงเมนูตลอดเวลา และคิดหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อทำให้ซูชิสดใหม่อยู่เสมอ รวมถึงการบริการที่ใส่ใจทุกรายละเอียด เช่น ปั้นซูชิให้มีขนาดที่แตกต่างกันสำหรับเสิร์ฟให้ลูกค้าผู้หญิงและผู้ชาย การจัดที่นั่งบนเคาน์เตอร์ที่คำนึงถึงว่าลูกค้าถนัดมือซ้ายหรือมือขวา

     ความพิถีพิถันเหล่านี้ ทำให้ร้าน Sukiyabashi Jiro กลายเป็นร้านซูชิระดับโลกแม้มีที่นั่งเพียง 10 ที่!! ซึ่งมีบุคคลสำคัญของโลกจากนานาประเทศแวะเวียนมาลองชิมกันแบบไม่ขาดสาย

     ที่มา: TUXSA Blog, Marumura, DIY InspireNow, Isra News, Unlockmen  

ซัมโปะ โยชิ

ศาสตร์ที่มุ่งสร้างความพึงพอใจระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย และชุมชน

    "ซัมโปะ โยชิ" มาจากคำว่า ซัมโปะ มีความหมายว่า องค์ประกอบทั้ง 3 ส่วน และ โยชิ ที่หมายถึง ดี ซัมโปะ โยชิ จึงมีความหมายว่า ความพึงพอใจ 3 ฝ่าย ซึ่งหลักของศาสตร์นี้คือการดำเนินธุรกิจที่ต้องทำให้เกิดตวามพอใจทั้ง 3 ส่วนอันได้แก่ ผู้ซื้อ ผู้ขาย และสังคมหรือชุมชน

     3 หลักการสำคัญของซัมโปะ โยชิ คือ ทำธุรกิจที่ดีต่อตัวเอง เงินอาจไม่ใช่ทั้งหมด แต่การทำธุรกิจต้องสร้างรายได้ การวางกลยุทธ์เพื่อให้ธุรกิจเติบโตในระยะยาวไม่ว่าจะเป็น ราคา การลงทุน หรือการลดความเสี่ยง จึงสำคัญ, การทำธุรกิจที่ดีต่อลูกค้า ต้องให้ความสำคัญกับลูกค้าด้วยสินค้าและบริการที่ดี และด้วยความซื่อสัตย์ยุติธรรม สุดท้าย ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม และต้องก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมและสิ่งแวดล้อม

     เดอะ บอดดี้ ช็อปคือต้นแบบหนึ่งที่ใช้หลัก ซัมโปะ โยชิ ที่ดำเนินธุรกิจโดยใช้ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน มีจริยธรรมในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์  ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแลดล้อม ทำให้บริษัทเติบโตมาร้านค้ากว่า 2000 แห่งมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก มียอดขายกว่า 538 ล้านดอลลาร์ในปี 2002

     ที่มา: Medium.com, sampoyoshi.net

โอโมเตนาชิ

ศาสตร์การให้บริการที่มอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า

     "โอโมเตนาชิ" เป็นหลักในการให้บริการของคนญี่ปุ่น ซึ่งมีความหมายมาจาก โอโมเทะ เเปลว่า เบื้องหน้า และ Nashi นาชิ แปลว่า ไม่มี โอโมเทนาชิ จึงหมายรวมได้ว่า การให้บริการด้วยความเต็มใจ และความเอาใจใส่อย่างแท้จริง เพื่อมอบความประทับใจเเละประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า

     โดยมี 3 หลักการสำคัญคือ 1. ใส่ใจในรายละเอียดในการให้บริการอย่างพิถีพิถัน 2. มองเห็นความต้องการของลูกค้าพร้อมให้บริการ 3.ให้บริการที่เกินความคาดหวัง และเหมาะสมกับสถานการณ์

     โอโมทาริ มีนัยที่มากกว่าการให้บริการโดยทั่วไป เราสามารถสัมผัสประสบการณ์โอโมเทนาชิในธุรกิจบริการของญี่ปุ่น อาทิ ไม้จิ้มฟันที่บรรจุมาพร้อมกับตะเกียบแบบใช้แล้วทิ้งจากร้านสะดวกซื้อ พนักงานเบเกอรี่ที่ใส่น้ำแข็งแห้งในกล่องเค้ก การกล่าวต้อนรับลูกค้าด้วยความจริงใจ หรือการขอบคุณลูกค้าด้วยการโค้งคำนับด้วยท่าทีที่สุภาพพร้อมรอยยิ้มที่แจ่มใส ทำให้เรียนรู้ว่าบริการอันดีเยี่ยมนั้นรวมอยู่ในเกือบทุกด้านของชีวิตชาวญี่ปุ่น

     ที่มา : toki.tokyo, Japan.travel

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

SME ไทยจะรับมือยังไง เมื่อบริษัทจีนเข้ามาตีตลาด

ในหลายอุตสาหกรรมของไทยในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าได้รับผลกระทบของการแข่งขันจากการที่บริษัทจีนเข้ามาแข่งขันอย่างมาก ทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีการหมุนวนของเม็ดเงินในบริษัทของคนจีนเอง อุตสาหกรรมรถยนต์ที่รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเข้ามาแข่งขันอย่างรุนแรง จนกระทบตลาดรถยนต์มือสองจนบริษัทใหญ่ก็มีการปิดตัวลงไป

จับตลาด Niche ยังไงให้ธุรกิจโต รวมวิธีทำพร้อมกลยุทธ์ที่เหมาะกับ SME

ในโลกของการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงในปัจจุบัน การค้นหาจุดเด่นและพื้นที่ตลาดเฉพาะ (Niche) ถือเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME)