แบรนด์เสื้อพิมพ์ลายยอดขายปัง! Jula store ใช้แพ็คเกจจิ้งมัดใจลูกค้าจน Sold out หมดไวภายใน 5 นาที
Text : Yuwadi.s
จากเด็กสถาปัตย์สู่ผู้ก่อตั้งแบรนด์เสื้อพิมพ์ลายสุดน่ารักที่ใช้ประสบการณ์จากการเรียนในมหาวิทยาลัยมาสร้างแบรนด์ กลายเป็น Jula store ที่รู้จักกันในฐานะของแบรนด์ที่ผลิตเสื้อพิมพ์ลายตัวต่อตัวแบบที่ไม่เคยมีแบรนด์ไหนทำมาก่อน
แต่กว่าจะมาเป็น Jula store ในเวอร์ชั่นปัจจุบัน เฟิน - จุฬาภกิต อุดมศิลป์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ได้เล่าให้ฟังว่าตัวแบรนด์เกิดขึ้นมาตั้งแต่หลังจากที่เธอเรียนจบ ปัจจุบันก็เกือบ 10 ปี โดยเมื่อก่อนแบรนด์จะผลิตเสื้อโปโลจนเปลี่ยนมาขายเสื้อผ้าแฟชั่นเรื่อยๆ จนช่วงก่อนโควิด ธุรกิจก็นิ่งไปและในที่สุดก็ฟื้นแบรนด์ใหม่กลับมาอีกครั้งในแบบฉบับที่ปังกว่าเดิม เพราะบางคอลเลกชันก็หมดเร็วในหลักนาทีแถมยังมียอดขายแตะ 6 หลัก!
ก่อตั้งตอนออนไลน์ยุคบุกเบิกก่อนจะรีแบรนด์ช่วงโควิด
เฟินเล่าว่าเธอสั่งสมประสบการณ์ด้านการออกแบบ การตลาด การขายมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย จนเธอเรียนจบก็เริ่มทำธุรกิจจริงจังในชื่อ Jula store แต่จะเป็นการผลิตเสื้อโปโลขายตั้งแต่ยุคที่เริ่มมี Facebook แรกๆ
“เราขายของ ทำแบรนด์ตั้งแต่เรียนเลย เราเรียนสถาปัตย์ แต่จะเป็นสาขากราฟิกและบรรจุภัณฑ์ เราก็มีประสบการณ์จากการเรียน ตอนนั้นเริ่มจากเสื้อยืดสกรีนลาย ขายในงานมหาวิทยาลัยบ้าง จนมาทำจริงจังก็คือ 1 ปีหลังเรียนจบ เราเริ่มสร้างแบรนด์ ตอนนั้นเราทำเสื้อยืด เสื้อโปโลขายส่งที่จตุจักร เราจะทำไม่เหมือนแบรนด์อื่น คือโปโลคอกลมแต่จะสั่งทอกุ๊นแขนกุ๊นคอให้เป็นสีพาสเทล น่ารักๆ พอเลิกทำโปโลก็กลายเป็นเสื้อผ้าแฟชั่น หาซื้อผ้าที่พาหุรัตเหมือนที่อื่น ช่วงแรกที่ทำก็ขายจากในเฟซบุ๊กตัวเองก่อน คนรู้จักซื้อไปก็มีคนมาซื้อตามๆ กัน พอเริ่มมีเพจในเฟซบุ๊กครั้งแรก เราก็เริ่มทำ ช่วงแรกยังไม่มีค่ายิงแอดอะไรเลย เราขายดีมากๆ พอมีอินสตาแกรมก็ทำ มีไลน์ก็ทำ ทำมาเรื่อยๆ ตามแพลตฟอร์มที่มี”
หลังจากเธอทำแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นมาเรื่อยๆ จนถึงช่วงโควิดที่ทำให้ธุรกิจหยุดนิ่งประกอบกับที่เธอมีลูก เธอจึงหยุดชั่วคราวเพื่อเลี้ยงลูกเอง ก่อนที่กลับมาฟื้นแบรนด์ใหม่และนำเทคโนโลยีทางการพิมพ์ที่เรียกว่า ซับลิเมชั่น (Sublimation) มาใช้ ซึ่งเป็นการพิมพ์ลงบนกระดาษก่อนที่จะนำไปรีดลงบนผ้า
“จนโควิดมันหยุดนิ่งไปเลยช่วงหนึ่ง พอดีช่วงนั้นเรามีน้องด้วย แพ้ท้องแล้วก็เลี้ยงลูกเอง เลยนิ่งไปประมาณปีหนึ่ง ทีนี้แฟนเริ่มเป็นคนเอาเครื่องพิมพ์ซับลิเมชั่นมาทำ เขาเป็นคนผลิตเสื้อพรีเมี่ยม เสื้อโปโล เสื้อพิมพ์ลายวิ่งอยู่แล้ว จนเราเกิดวิกฤติเราเลยลองทำดู ใช้เทคโนโลยีนี้ วาดแพทเทิร์นเองในโปรแกรม ลองพิมพ์ ลองทำ เริ่มลองขายจาก 10 ตัว 20 ตัว จนเป็นหลัก 100 ตัว”
ผลิตเสื้อพิมพ์ลายตัวต่อตัว มัดใจลูกค้าด้วยแพ็คเกจจิ้ง
สำหรับจุดเด่นของแบรนด์ Jula store ที่นอกจากจะนำเทคโนโลยีซับลิเมชั่นมาใช้แล้ว เธอยังเน้นการทำแบบตัวต่อตัวเพื่อให้เป๊ะที่สุด นอกจากนี้ยังมีการหยิบแรงบันดาลใจรอบตัวมาสร้างสรรค์ผลงาน เช่น นำสีสบู่มาสร้างคอลเลกชันคริสต์มาส
“เท่าที่รู้ ตอนนี้เราเป็นแบรนด์แรกที่ทำแบบตัวต่อตัว แบรนด์อื่นอาจจะพิมพ์ผ้าให้เป็นผืนใหญ่ๆ ค่อยตัดเป็นเสื้อ แต่เราจะวางแพทเทิร์น ชิ้นแขน ชิ้นปก แล้วพิมพ์ออกมาทีละส่วน ค่อยนำไปให้ช่างตัดเย็บขึ้นมาเป็นเสื้อ มันเลยมีความเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างสูงมาก เราจะเห็นเลยว่าสีเพี้ยนหรือไม่เพี้ยน แก้ไขได้ทันที แต่ถ้าสั่งทอเป็นม้วนใหญ่มันจะแก้ยาก ส่วนลายเราวาดเอง ข้อดีคือเราเรียนกราฟิกมา เราจะมีเทคนิคการใช้สี การจัดวาง และเราจะมีความชอบอย่างหนึ่งคือถ้าเห็นสีที่มันน่ารักหรือเตะตาเราจะถ่ายรูปไว้ อย่างเราไปเจอสีสบู่ที่อยู่ในห้าง คู่สีมันสวยดี เราก็ลองเอามาทำดู เริ่มจากเอาโทนสีมาก่อน แล้วก็วาดลายตามสีที่เราอยากได้ อย่างลายคอลเลกชันคริสต์มาสเราได้สีมาก่อน เป็นสีเขียวโทนนี้กับแดงโทนนี้ ก็ลองวาดดู ออกมาคือขายดี”
จากประสบการณ์ทำธุรกิจที่ยาวนานหลายปี หนึ่งในสิ่งที่เธอสร้างความแตกต่างให้แบรนด์ตัวเองนั่นคือการใส่ใจเรื่องแพ็คเกจจิ้งมากขึ้น จนผลตอบรับของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ก็ดีขึ้นเช่นกัน
“ก่อนหน้าที่เราทำ ก็แพ็คขายธรรมดา ใส่ซองพลาสติกใส แต่พอมาสมัยนี้มันทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว เราอยากเพิ่มกล่มลูกค้า อยากให้เป็นที่รู้จัก เราเลยเปลี่ยนมาใช้กล่อง เริ่มใส่ใจมากขึ้น มีของแถมตามคอลเลกชันหรือตามแบบเสื้อ มันต่างจากที่เราเคยทำมาก เสียเวลาในการแพ็คมากขึ้นด้วยจาก 1 ชั่วโมงเป็น 3 ชั่วโมง แต่ก็สร้างความประทับใจให้ลูกค้า ผลดีคือลูกค้าชอบ แล้วก็ทำให้ลูกค้ามีเรื่องที่จะคุยต่อหลังจากได้รับของกับเราแล้ว เช่น น้ำหอมที่ฉีดในกล่องซื้อที่ไหน สติกเกอร์ซื้อที่ไหน”
นอกจากนี้เธอยังใช้วิธีการโปรโมตแบบค่อยๆ ลงโพสต์จีบลูกค้า เพื่อโปรยให้ลูกค้าติดตามและอยากได้ ที่สำคัญยังขยายธุรกิจเข้าสู่ TikTok ทำให้ลูกค้าได้เห็นเบื้องหลังการทำงานและช่วยในเรื่องของการตัดสินใจซื้อได้มากขึ้น
“เราเพิ่งเริ่มทำ TikTok เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ตอนแรกเราถ่ายไม่เก่งเลย แต่ก็ลงไปเรื่อยๆ เคยอ่านเจอเขาบอกว่าให้ใส่เบื้องหลังลงไปบ้าง เราก็ลองทำดู ก่อนหน้านี้ลูกค้าจะไม่รู้เลยว่าเสื้อพิมพ์ลายเราคืออะไร ไม่เข้าใจ แต่พอเราลงคลิป เขาได้เห็นกระบวนการทำงานที่เรานำเสนอออกไป เห็นความใส่ใจ ก็ยอมซื้อในราคานี้ได้เลย มันเป็นกระบวนการ แต่ละคอลเลกชันที่ทำ เราจะไม่เป็นขายทันที แต่จะค่อยๆ ลงโพสต์จีบลูกค้าก่อน ส่วนใหญ่จะลงในไอจี ประมาณ 5 วันก่อนเปิดขาย ค่อยๆ ลงไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ตอนวาด ตอนพิมพ์ ตอนผลิต ตอนตัดผ้า ตอนแพ็คของ ส่วนใหญ่ก็ขายหมดตั้งแต่วันแรก เร็วสุดคือคอลเลกชันล่าสุด หมดภายใน 5 นาที ยอดขายต่อเดือนตอนนี้ก็ 8 หมื่นถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท”
โดยเฟินปิดท้ายถึงหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจในแบบฉบับของเธอนั่นคือการทุ่มเทใส่ใจ และให้ความสำคัญกับแพ็คเกจจิ้งเพื่อสร้างความประทับใจให้ลูกค้าตั้งแต่แรกพบ
“หลักๆ เราคือความที่เราทุ่มเทใจให้ลูกค้า เราเป็นคนหนึ่งที่ชอบแพ็คเกจจิ้งมาก เราเรียนมาด้านนี้ เราอยากทำ แต่ตอนแรกไม่กล้าลอง กลัวขาดทุน กลัวเสียเวลา แต่พอลองทำในสิ่งที่เราอยากได้ เราเริ่มจากเราอยากได้เองก่อน ก็ทำในแบบที่เราอยากได้ นี่คือหัวใจสำคัญของแบรนด์ตอนนี้ ทำให้มีลูกค้าติดใจ มีลูกค้าประจำเยอะมาก บางคนมาขอจองก่อนที่จะเปิดขายก็มี”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup