ไอเดียลูกน้องไม่เข้าท่า หัวหน้าปฏิเสธยังไง? ไม่ให้พนักงานเสียขวัญ

TEXT : กองบรรณาธิการ

 

Main Idea

  • ไอเดียคือ สิ่งสร้างสรรค์ แต่ถ้าไอเดียที่ดูยอดเยี่ยมในมุมลูกน้อง อาจไม่สอดคล้องหรือเหมาะกับแนวทางบริษัท

 

  • ในฐานะ CEO หรือหัวหน้า การรู้วิธีปฏิเสธคำแนะนำของพนักงาน โดยไม่ทำลายขวัญกำลังใจจะช่วยสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ก้าวหน้าได้

 

     ความรับผิดชอบที่สำคัญอย่างหนึ่งในฐานะ CEO หรือหัวหน้างานคือ การตัดสินใจทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบริษัท โดยเฉพาะทุกครั้งที่ต้องเริ่มทำโปรเจ็กต์ใหม่ๆ ซึ่งต้องมีการะดมมันสมองของลูกน้อง ซึ่งไอเดียนั้นอาจจะเป็นไอเดียที่ลูกน้องคิดว่าเจ๋งแล้ว แต่ในทางปฏิบัติมันอาจเป็นไปได้ยาก หรือยังไม่เหมาะกับสถานการณ์ของบริษัทในปัจจุบัน

     การปฏิเสธข้อเสนอแนะของพนักงานอาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่จะมีวิธีปฎิเสธอย่างไรที่ไม่ทำลายบรรยากาศการทำงาน และการระดมสมองครั้งหน้าคุณจะยังได้รับความร่วมมือจากลูกน้องเหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิม

     ลองนำวิธีการเหล่านี้ไปปรับใช้เมื่อต้องปฏิเสธไอเดียจากพนักงานโดยที่ไม่ทำลายขวัญกำลังใจของพวกเขา

อย่ารีบปัดตกในทันที

     Marie McIntyre โค้ชด้านอาชีพและผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Secrets to Winning at Office Politics” แนะนำว่า “อย่าด่วนตัดสินว่าไอเดียนั้นดีหรือไม่ดี”

     วิธีแก้ง่ายๆ คือ ให้โอกาสพวกเขาได้อธิบายความคิดนั้นเพิ่มเติม อย่างน้อยเป็นการให้เขาได้ทบทวนสิ่งที่นำเสนอ บางทีในการอธิบายอีกครั้ง อาจทำให้คุณได้เจอมุมใหม่ๆ และในขณะที่พวกเขาอธิบาย คุณควรต้องตั้งใจฟังและพยายามทำความเข้าใจด้วยความจริงใจ เพราะถ้าคุณแสดงท่าทีเฉยๆ พนักงานอาจรู้สึกได้ว่าคุณกำลังดูถูกเขาอยู่

ใช้ “คำถาม” เป็นตัวช่วย

     หากการอธิบายของเขายังไม่ชัดเจน คุณอาจจะใช้การตั้งคำถามเป็นตัวช่วย เพื่อให้พวกเขาค้นพบเหตุผลว่าไอเดียนั้นดีหรือไม่ด้วยตัวพวกกเขาเอง ลองถามคำถามเช่น: ประโยชน์ของสิ่งนี้คืออะไร? คุณเห็นว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร? สิ่งนี้จะทำให้ลูกค้าพอใจได้อย่างไร?

     ถ้าเขามีคำตอบได้ บางทีคุณอาจได้ไอเดียใหม่ๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงเพิ่มขึ้นมาก็เป็นได้

ปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ฟังขึ้น

     หลายครั้งที่บริษัทอยากได้ไอเดียใหม่ๆ นอกกรอบที่เคยทำมา แต่ถ้ามีคนพยายามเสนอไอเดียแนวนี้แต่คุณปฏิเสธไป แม้ความจริงไอเดียนั้นจะใช้ไม่ได้ก็ตาม แต่ในสายตาพนักงานคุณอาจกลายเป็นคนที่ไม่ยอมเปิดใจกับความคิดใหม่ๆ

     ดังนั้นถ้าคุณจะปฏิเสธก็ควรอยู่ภายใต้กติกาที่ชัดเจน ว่าไอเดียนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่พวกเราตั้งไว้หรือไม่ โดยให้เป้าหมายหรือแนวทางของบริษัทเป็นเสมือนกรรมการตัดสิน

แสดงให้เห็นว่าความคิดเห็นพวกเขามีคุณค่า

     "ขอบคุณสำหรับคำแนะนำของคุณ… พี่ว่าสิ่งที่น้องเสนอไอเดียมาเป็นวิธีที่ดีนะ แต่ไม่แน่ใจว่าดีพอกับสถานการณ์ในตอนนี้หรือไม่ เพราะถ้าดูจากสถานะทางการเงินของบริษัทเราในตอนนี้แล้วสิ่งที่น้องเสนอมามันอาจทำให้เป็นไปได้ยาก"

     นี่อาจเป็นประโยคตัวอย่างที่ทำให้พนักงานของคุณรู้ว่าคุณให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของพวกเขา แม้ว่าคุณจะไม่สามารถนำไอเดียพวกเขาไปต่อยอดได้ แต่คุณยังให้ความเชื่อมั่นในตัวพวกเขา สิ่งนี้จะทำให้พวกเขาพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ แนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์มากขึ้นในครั้งต่อไป

ให้ข้อเสนอแนะกลับไป

     ในกรณีที่เขาเสนอไอเดียมีข้อดีแต่ยังมีจุดอ่อนอยู่ ในฐานะผู้บังคับบัญชาคุณต้องให้คำแนะนำกลับไปว่าจะต้องปรับปรุงหรือแก้ไขตรงไหน เพื่อให้เขาเห็นแนวทางและนำไปพัฒนาในการเสนอไอเดียครั้งต่อไป

ไม่แสดงท่าทีเมินเฉยหรือหยาบคาย

     แม้ว่าการปฏิเสธความคิดอย่างตรงไปตรงมาเป็นสิ่งสำคัญ แต่การแสดงท่าทีเมินเฉยหรือใช้คำหยาบคาย อาจเป็นการทำลายขวัญกำลังใจของพนักงานซึ่งอาจส่งผลให้สภาพแวดล้อมการทำงานแย่ พวกเขาอาจจะรู้สึกไม่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นในครั้งต่อไป นี่คือข้อห้ามที่คุณห้ามมองข้าม

ต้องไม่มีอคติส่วนตัว

     อาจด้วยตำแหน่งหรือประสบการณ์ที่ทำให้เจ้าของหรือหัวหน้ามีแนวทางของตัวเองจนบางครั้งลืมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ  ดังนั้น ในบางครั้งอาจต้องถอยและตรวจดูให้แน่ใจว่าคุณมีความเป็นกลางในการตัดสินใจหรือไม่ แต่ถ้ายังไม่มั่นใจ คุณอาจหาทางออกคือ ให้บุคคลที่สามมาช่วย

     อย่างไรก็ดีจงจำไว้ว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้คนจะมีจุดยืนและแนวทางที่แตกต่างกัน ในฐานะเจ้าของหรือผู้บังคับบัญชาคุณสามารถปฏิเสธไอเดียของพนักงานได้ แต่จะดีกว่าถ้าการปฏิเสธนั้นไม่ไปทำลายขวัญกำลังใจของพนักงาน ถ้าวันหนึ่งคุณต้องปฎิเสธลูกน้องอย่าลืมนำคำแนะนำข้างต้นไปปรับใช้

ที่มา : https://www.entrepreneur.com/leadership/how-to-respectively-decline-employees-suggestions/442433

https://edition.cnn.com/2019/10/15/success/work-colleague-bad-idea/index.html

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

ESG จะเปลี่ยนความเสี่ยงเป็นโอกาสธุรกิจได้อย่างไร

แม้คำว่า ESG (Environment, Social, Governance) จะฟังดูเป็นเรื่องใหญ่โตและต้องใช้เงินลงทุน แต่แท้จริงแล้วเอสเอ็มอี ก็สามารถทำได้ เพราะนี่คือโอกาสและความท้าทายครั้งสำคัญในการดำเนินธุรกิจ   

4 เครื่องมือช่วย “ตัดสินใจ” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า

หากมีทางเลือกอยู่หลายทาง แล้วทางไหนจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ และข้อผิดพลาดน้อยที่สุด SME Thailand เลยอยากจะแนะนำเครื่องมือที่ช่วยให้การตัดสินใจที่มีความรอบคอบและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด