ปัญหาสุขภาพจิต ความท้าทายครั้งใหญ่ในโลกธุรกิจ องค์กรระดับโลกเริ่มมีมาตรการป้องกัน

TEXT : กองบรรณาธิการ

 Main Idea

  • หลากหลายปัญหาที่รุมเร้าตลอดสองสามปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เรื่องสุขภาพจิตเป็นปัญหาที่ท้าทายในการทำธุรกิจ แม้แต่ CEO ของ Starbucks ยังเอ่ยปากว่า สุขภาพจิตและอารมณ์ของพนักงานเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดหลังเกิดโรคระบาด

 

  • จากรายงานของสมาคมจิตแพทย์อเมริกา ภาวะซึมเศร้าที่ไม่ได้รับการแก้ไขทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง 35%

 

  • ส่งผลให้หลายองค์กรเริ่มมีมาตรการป้องกันในเรื่องดังกล่าวแล้ว

 

   ด้วยปัญหาต่างๆ ทั้งโรคระบาด เศรษฐกิจ บวกกับความกดดันจากการทำงาน ฯลฯ ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

     จากการศึกษาล่าสุดโดย Willis Towers Watson พบว่าเกือบครึ่ง (45 เปอร์เซ็นต์) ของคนงานในสหรัฐฯ มีอาการป่วยทางจิต กว่าสามในสี่ (ร้อยละ 76) พวกเขาประสบกับความทุกข์ทางอารมณ์เนื่องจากความกดดันในการทำงาน และมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 51) ความทุกข์ทางอารมณ์ของพวกเขารุนแรงพอที่จะส่งผลต่อความสามารถในการทำงานให้ได้ดี

     นอกจากนี้ ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสถิติแรงงาน (BLS) แสดงให้เห็นว่ามากกว่าหนึ่งในสาม (36%) ของคนงานในสหรัฐฯ กำลังประสบกับอาการที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าหรือความวิตกกังวลในแต่ละวัน

     หรือแม้แต่ในประเทศไทยเองปัญหาเรื่องสุขภาพจิตก็ไม่ต่างจากต่างประเทศ โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต ตั้งแต่ 1 มกราคม 2020 ถึง 9 มีนาคม 2023 พบว่าจากผู้ที่ทำการประเมินทั้งหมดกว่า 3.9 ล้านคน มีความเครียดสูง 6.9% มีความเสี่ยงซึมเศร้า 8.2% มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 4.5% และมีภาวะหมดไฟ 4.2% 

ปัญหาสุขภาพจิตส่งผลต่อการทำงานอย่างไร

     ทั้งนี้จากรายงานของสมาคมจิตแพทย์อเมริการะบุว่าา ภาวะซึมเศร้าที่ไม่ได้รับการรักษาทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง 35% และยังก่อให้เกิดความสูญเสียด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปีละ 210,500 ล้านดอลลาร์ ทั้งการสูญเสียประสิทธิภาพการทำงาน ค่ารักษาพยาบาล และการขาดงาน โดยพบว่าพนักงานที่มีจิตใจหดหู่จะขาดงานเฉลี่ยหนึ่งเดือนหรือประมาณ 31.4 วันต่อปี

     นอกจากนี้ปัญหาสุขภาพจิตยังส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการตัดสินใจและแก้ปัญหาของคนๆ นั้นอีกด้วย

     จากการศึกษาของ Qualtrics พบว่าผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตในปัจจุบันรู้สึกว่างานสร้างสรรค์ต้องใช้ความพยายามมากกว่าที่เคยทำได้ ผู้ที่ไม่ประสบปัญหาสุขภาพจิตใช้ความพยายามน้อยลง 23% ในการทำงานสร้างสรรค์มากกว่าผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต

     นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น

  • อัตราการลาออกสูง

 

  • พนักงานลาป่วยบ่อยๆ

 

  • ผลกระทบต่อประสิทธิภาพงาน

 

  • ความคิดสร้างสรรค์

 

ปัญหาสุขภาพจิตกำลังเติบโตในหมู่นักการตลาด

     หนึ่งในอาชีพที่ว่ากันว่ามีปัญหาด้านสุขภาพจิตมากก็คือ นักการตลาด เป็นที่ทราบกันดีว่านักการตลาดต้องเผชิญกับความท้าทาย ทั้งวิธีการทำงานที่เปลี่ยนแปลงตามวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่มีตัวเลขยอดขายคอยกดดันการทำงาน

     สาเหตุที่เป็นบ่อเกิดปัญหาสุขภาพจิตของนักการตลาด มาจาก

  • กลัวตกงาน

 

  • ความกดดันของการอัพสกิล จากการตลาดแบบดั้งเดิมสู่ตลาดดิจิทัล

 

  • ปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น

 

     นอกจากนี้ในสายงานอื่นๆ ก็มีแนวโน้มที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตไม่ต่างกันและมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกวัน

กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วจะแก้ไม่ทัน

     ทั้งนี้จากการวิจัยบริษัทมากกว่า 1,000 แห่ง พบว่าองค์กรที่พนักงาน “มีสุขภาพจิตที่ดี” มีประสิทธิภาพดีกว่าองค์กรอื่นๆ ในหลายๆ ด้าน อาทิ ช่วยลดอัตราการขาดงานลงเกือบ 11 เท่า และแนวโน้มที่จะรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์ได้มากกว่า 3 เท่า 

     ปัจจุบันหลายๆ องค์กรเริ่มตระหนักถึงปัญหาของเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น แม้แต่ CEO ของ Starbucks ได้กล่าวว่า เขาถือว่าสุขภาพจิตและอารมณ์ของพนักงานในบริษัทเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดหลังจากเกิดโรคระบาดรอบ 2

     Morgan Stanley บริษัทให้บริการทางการเงินระดับโลก ยังต้องจ้างบุคลากรที่มีวุฒิการศึกษาขั้นสูงรวมทั้งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เพื่อการรักษาและปรับปรุงสุขภาพจิตของพนักงานในองค์กร

     นอกจากนี้หลายๆ บริษัทเริ่มมีนโนบายปรับการทำงานที่ยืดหยุ่นช่วยให้พนักงานได้ผ่อนคลายมากขึ้น อาทิ การทำงานสี่วันทำงานต่อสัปดาห์ การอนุญาตให้สุนัขเข้ามาในออฟฟิศ ฯลฯ

ตัวอย่างวิธีจัดการปัญหาขององค์กรระดับโลก

     JPMorgan Chase ได้นำเทคโนโลยีมาช่วยโดยขอให้พนักงานและผู้นำทุกคนเข้าไปในแอปพลิเคชันเป็นประจำเพื่อบอกบว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรในแต่ละวัน ทำให้ทีมฝ่ายทรัพยากรบุคคลสามารถรับทราบปัญหาและหากเกิดปัญหาสามารถส่งต่อไปยังหัวหน้าแผนกของแต่ละคน

     Royal Bank of Canada ขอให้ผู้จัดการทุกคนเรียนหลักสูตรสุขภาพจิต ซึ่งเป็นหลักสูตรช่วยให้ผู้นำพัฒนาทักษะในการตระหนักถึงความเครียดรูปแบบต่างๆ หรือความเจ็บป่วยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต

     Saber บริษัทด้านเทคโนโลยีและรับจองสายการบิน ได้เปลี่ยนไปใช้รูปแบบการจัดการวิธีการสำรวจพนักงานใหม่ เพื่อตรวจสอบความเครียดและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานอย่างต่อเนื่อง

     ถ้าองค์กรเปรียบเหมือนภูเขาและความเครียดปัญหาสุขภาพจิตของพนักงานเป็นเหมือนไฟ ในฐานะผู้บริหารคุณคงไม่อยากเห็นภูเขาไฟระเบิด อย่าลืมใส่ใจเรื่องปัญหาของ “สุขภาพจิต” ของพนักงานหรือแม้แต่ตัวคุณเอง ที่ต้องใช้เวลาหนึ่งในสามของชีวิตอยู่กับการทำงาน

ที่มา : https://sloanreview.mit.edu/article/mental-health-has-become-a-business-imperative/

https://executive.berkeley.edu/thought-leadership/blog/impacts-poor-mental-health-business

https://thevisionboard.in/2021/07/11/mental-health/

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

ESG จะเปลี่ยนความเสี่ยงเป็นโอกาสธุรกิจได้อย่างไร

แม้คำว่า ESG (Environment, Social, Governance) จะฟังดูเป็นเรื่องใหญ่โตและต้องใช้เงินลงทุน แต่แท้จริงแล้วเอสเอ็มอี ก็สามารถทำได้ เพราะนี่คือโอกาสและความท้าทายครั้งสำคัญในการดำเนินธุรกิจ   

4 เครื่องมือช่วย “ตัดสินใจ” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า

หากมีทางเลือกอยู่หลายทาง แล้วทางไหนจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ และข้อผิดพลาดน้อยที่สุด SME Thailand เลยอยากจะแนะนำเครื่องมือที่ช่วยให้การตัดสินใจที่มีความรอบคอบและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด