กลเม็ด...รักษาคน (เก่ง) อยู่กับองค์กร

 
 
 เรื่อง : อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
         apiwut@riverorchid.combook.com/OrchidSlingshot
 
 
หลายองค์กรที่มีโอกาสเข้าไปให้คำปรึกษาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พวกเขาเหล่านั้นล้วนมีปัญหาที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ การรักษาคนเก่ง คนดีให้อยู่กับองค์กรไปนานๆ ถึงแม้ปัญหาจะเหมือนกันแต่รายละเอียดกลับต่างกันไปในแต่ละองค์กร วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ การหาสาเหตุของปัญหาให้เจอก่อน
 
แนวทาง 3 อย่างที่องค์กรควรทำ ได้แก่ สำรวจความพึงพอใจของพนักงาน (Employee Satisfaction Survey) เพื่อวัดดูระดับความสุขของพนักงานที่ยังอยู่ สำรวจความผูกพันของพนักงาน (Employee Engagement Survey) เพื่อประเมินว่ามีใครที่เริ่มคิดจะจากไปบ้างหรือยัง และสอบถามสาเหตุที่ลาออก (Exit Interview) เพื่อค้นหาเหตุผลจากที่คนตัดสินใจจากไปแล้ว
 
ผลจากการสำรวจและสอบถาม มักพบว่าต้นตอของปัญหาส่วนใหญ่มาจากปัจจัยหลัก 2 ประการ คือ ปัจจัยดึงจากภายนอกองค์กร (Pull Factor) เช่น การถูกซื้อตัว เพื่อนที่ย้ายไปอยู่ที่ใหม่ชักชวน เป็นต้น ปัจจัยนี้ควบคุมได้ยาก โอกาสที่จะหาทางป้องกันให้ได้ผลมีน้อย หากองค์กรสูญเสียพนักงานเก่งๆ ไป เพราะถูกซื้อตัวหรือถูกดึงจากภายนอก ก็คงทำอะไรได้ไม่มากนอกจาก “ทำใจ” แต่ปกติหากแรงดึงจากภายนอกไม่มากพอและไม่มีปัจจัยอีกปัจจัยหนึ่งเสริมแรง คือ ปัจจัยดันจากภายในองค์กร (Push Factor) พนักงานมักไม่ลาออกทันทีที่ถูกดึงตัว
 
องค์กรควรให้ความสำคัญและสนใจกับปัจจัยดันภายในองค์กรมากกว่า เพราะเป็นสิ่งที่ควบคุมและบริหารจัดการได้ ที่ผ่านมาพบว่าปัจจัยดันจากภายในองค์กร มีต้นตอมาจากประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
 
ความไม่ยุติธรรม หมายถึง การแบ่งก๊กแบ่งเหล่า เล่นพรรคเล่นพวก มีเด็กของคนนั้น พวกของคนนี้ ในองค์กร ซึ่งส่งให้พนักงานบางกลุ่มได้รับอภิสิทธิ์มากกว่าบางกลุ่ม
ผลตอบแทนไม่เหมาะสมกับความรับผิดชอบ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่เงินเดือนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโบนัสและสวัสดิการต่างๆ ด้วย ผลตอบแทนที่น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับงานที่ทำและกับองค์กรอื่นๆ ทำให้คนตัดสินใจลาออกได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีฝีมือ
 
ความคาดหวังที่ไม่ชัดเจน หากพนักงานไม่รู้ว่าเป้าหมายในการทำงานของตนคืออะไร องค์กรคาดหวังอะไรในตัวเขา งานที่ทำมีความสำคัญและมีส่วนส่งเสริมเป้าหมายใหญ่ขององค์กรได้อย่างไร ก็ทำให้ความรู้สึกผูกพันกับองค์กรลดต่ำลง
 
มองไม่เห็นโอกาสในความก้าวหน้า การที่พนักงานมองไม่เห็นหนทางที่จะเติบโตต่อไปในหน้าที่การงานของตนเอง เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนลาออก ทั้งนี้ เพราะพนักงานส่วนใหญ่เข้าใจว่าความก้าวหน้าหมายถึงการเติบโตในแนวดิ่งเท่านั้น (การเติบโตตามสายงาน เช่น พนักงานขายก็คิดว่าการเติบโต คือ การได้เป็นผู้จัดการฝ่ายขาย เป็นต้น) แต่พวกเขาลืมคิดไปว่าความก้าวหน้ายังหมายถึงการเติบโตแนวราบ (การได้รับผิดชอบงานในขอบเขตที่กว้างขึ้นกว่าเดิม) หรือการเติบโตแนวทะแยง (การเติบโตข้ามสายงาน) ก็ได้ด้วย
 
ขาดการสื่อสารที่ดี หมายถึงบรรยากาศขององค์กรที่ไม่ค่อยมีการพูดคุยกัน พนักงานไม่ค่อยรับรู้ข่าวคราวอะไร หรือถ้ารู้ก็รู้มาจากคนอื่นภายนอกองค์กรเสียเป็นส่วนใหญ่ ในองค์กรเต็มไปด้วยข่าวลือที่สร้างความอึมครึมและบรรยากาศในเชิงลบ
 
การไม่รับฟังความคิดเห็น หากหัวหน้างานหรือผู้บริหารในองค์กร ไม่ค่อยรับฟังความคิดเห็นของพนักงาน หรือเลือกฟังแต่สิ่งที่อยากฟัง ย่อมทำให้บรรยากาศภายในองค์กรค่อนข้างเคร่งเครียด พนักงานต้องระมัดระวังที่จะพูดหรือไม่พูดอะไร เพราะเกรงว่าจะไม่ถูกใจผู้บริหารหรือไม่ก็อาจรู้สึกว่าพูดไปก็ป่วยการ นิ่งเสียตำลึงทอง แบบนี้ก็ทำให้คนลาออกได้เหมือนกัน
 
ความเครียด ความกดดันในการทำงานที่มากเกินไป หลายๆ องค์กรให้ความสำคัญกับความสำเร็จในเชิงตัวเลขและเป้าหมายเพียงอย่างเดียว โดยลืมคิดไปว่าพนักงานไม่ใช่เครื่องจักรที่ต้องการแต่ไฟฟ้าหรือน้ำมันในการทำงาน พวกเขาต้องการความเป็นคน ซึ่งมีชีวิตจิตใจ อยากได้ความรักความเข้าใจและการเอาใจใส่มากกว่าแค่ให้เงินและทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายเท่านั้น
 
ความเข้มงวดในระเบียบมากจนเกินไป กฎกติกาเป็นสิ่งจำเป็นในการอยู่ร่วมกัน แต่การเข้มงวดในกฎระเบียบที่หยุมหยิมจนเกินไป กลับทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง องค์กรจะมีแต่บรรยากาศการจับผิดตลอดเวลา
 
ไม่มีการพัฒนาให้ความรู้ พนักงานหลายคนโดยเฉพาะคนเก่งๆ ที่มีศักยภาพ มักทำงานเพราะหวังอยากได้เรียนรู้ด้วย หากองค์กรไม่มีการส่งเสริมเรื่องการพัฒนาความรู้และทักษะอย่างต่อเนื่อง ก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พนักงานบางคน ตัดสินใจไปหาที่ทำงานใหม่ที่คิดว่าจะมีโอกาสได้รับการพัฒนามากขึ้น
 
ลองสำรวจในองค์กรดูสิครับว่าปัญหาเหล่านี้ เริ่มก่อตัวขึ้นบ้างหรือยัง หากพบแต่เนิ่นๆ และรีบจัดการซะก่อน ก็จะช่วยลดปัจจัยดันภายในองค์กรลงอย่างได้ผล
 
        อย่างคำโบราณว่า ยังจริงเสมอในทุกยุคทุกสมัย “กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วแก้ไม่ทัน”
 
 

RECCOMMEND: MANAGEMENT

Quiet Quitting เวอร์ชั่นใหม่จากจีน! ประท้วงแบบใหม่ แบบสับ แห่แต่งชุดไม่เหมาะสมไปทำงาน เรียกร้องสวัสดิภาพที่ดี

“Quiet Quitting” หรือ “การลาออกเงียบ” เทรนด์การทำงานของคนยุคนี้ที่มีการพูดถึงกันมากเมื่อช่วง 2 ปีก่อน ล่าสุดคนรุ่นใหม่ หรือ คน Gen Z ต่างหันมาแต่งตัวไปทำงานด้วยชุดที่ไม่เหมาะสม เช่น การสวมชุดที่ดูคล้ายชุดนอนมาทำงาน, การแต่งกายด้วยชุดเวอร์วัง อย่างเสื้อคลุมขนสัตว์ที่ดูรุ่มร่าม เป็นต้น โดยมองว่าไม่ได้ทำผิดกฎอะไร แค่อยากแสดงออกเชิงสัญญาลักษณ์เฉยๆ

ไม่อยากเจ๊งต้องอ่าน รวมทางออกให้ธุรกิจไปต่อ ยามเจอวิกฤตเศรษฐกิจเลวร้าย

ความท้าทายไม่เคยขาดหายไปสำหรับผู้ประกอบการ SME ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเศรษฐกิจถดถอย แต่ทุกปัญหาล้วนมีทางออกเสมอสำหรับผู้ที่มีวิสัยทัศน์และยืนหยัดด้วยปรัชญาที่ถูกต้อง

5 หนังครอบครัวฟีลกู้ด ที่คนทำธุรกิจควรดู

เพราะครอบครัว คือ รากฐานสำคัญของทุกอย่าง หลายธุรกิจแจ้งเกิดเติบโตประสบความสำเร็จได้  เนื่องในวันครอบครัว 14 เมษายนนี้ เลยอยากชวนมาดู 5 หนังเรื่องราวธุรกิจที่มีความอบอุ่นของครอบครัวเป็นแรงผลักดันจนสำเร็จมาฝากกัน