4 เทคนิค จดเครื่องหมายการค้าได้ถูกต้อง ไม่ยุ่งยาก

TEXT: Momiin

Main Idea

 

  • เครื่องหมายการค้า เป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ที่ใช้กับสินค้าและบริการ ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถแยกแยะสินค้าหรือบริการของแต่ละธุรกิจได้ ดังนั้น เครื่องหมายการค้า จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่ผู้ประกอบการ SME ต้องจดทะเบียนให้ถูกต้อง

 

  • เพื่อให้ขั้นตอนการจดเครื่องหมายการค้าทำได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก และเซฟเวลาลงได้ ผู้ประกอบการ SME ควรเตรียมตัวให้พร้อม โดยใช้ 4 เทคนิคนี้ช่วยลดความยุ่งยาก

 

     1. รู้จักประเภทเครื่องหมายค้าของตัวเอง

     2. รู้ว่าอะไรสามารถนำไปจดเครื่องหมายการค้าได้บ้าง

     3. รู้ว่าเครื่องหมายการค้าที่ผ่านเกณฑ์เป็นแบบไหน

     4. รู้สิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนไปจดเครื่องหมายการค้า

 

 

     ก่อนจะไปจดเครื่องหมายการค้า ผู้ประกอบการ SME ต้องรู้กฎเกณฑ์ต่างๆ มากมายที่ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญากำหนดไว้ เพราะก่อนรู้เงื่อนไขและเตรียมตัวให้พร้อม จะทำให้ลดข้อผิดพลาดและความยุ่งยากได้มากเลยทีเดียว

ก่อนจด : .ต้องรู้จักประเภทเครื่องหมายค้าของตัวเอง

     เครื่องหมายการค้าแบ่งออกเป็น 4 ประเภทด้วยกัน ดังนั้นก่อนที่จะไปจดเครื่องหมายการค้า ต้องรู้ก่อนว่าคุณต้องการจดเครื่องหมายการค้าแบบไหน?

     1. เครื่องหมายการค้า (TRADE MARK) คือ ทรัพย์สินทางปัญญา หมายถึง เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เช่น มาม่า เลย์ สิงห์ เป็นต้น

     2. เครื่องหมายบริการ (SERVICE MARK) คือ เครื่องหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริการ เพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการของบุคคลอื่นๆ เช่น เครื่องหมายของสายการบิน โรงแรม ธนาคาร เป็นต้น

     3. เครื่องหมายรับรอง (CERTIFACATIPN MARK) คือ เครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองใช้ เพื่อเป็นการรับรองเกี่ยวกับแหล่งกำเนิด ส่วนประกอบ วิธีการผลิต คุณภาพ และชนิดของสินค้าและบริการว่าเป็นว่ามีคุณสมบัติสอดคล้องและได้มาตรฐานตามที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองนั้นกำหนดขึ้น เช่น ฮาลาล ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ เป็นต้น

     4. เครื่องหมายร่วม (COLLECTIVE MARK) คือ เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ใช้โดยบริษัทหรือวิสาหกิจในกลุ่มเดียวกัน หรือโดยสมาชิกของของสมาคม สหกรณ์ องค์กรอื่นของรัฐหรือเอกชน เช่น โออิชิ กรุ๊ป เป็นต้น

ก่อนจด : รู้ว่าอะไรใช้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้

 13 สิ่งต่อไปนี้ คือ สิ่งที่ผู้ประกอบการสามารถใช้ในการจดทะเบียนการค้าได้

     1. ภาพถ่าย เป็นภาพที่เกิดขึ้นเนื่องจากกระบวนการถ่ายภาพจากสิ่งที่มีตัวตนที่ปรากฏอยู่เดิม

     2. ภาพวาด ต้องเป็นภาพที่เกิดจาการวาด ซึ่งอาจจะเป็นภาพวาดเหมือนจากสิ่งที่ปรากฏอยู่เดิม หรือเป็นภาพวาดขึ้นเองตามจินตนาการ รวมถึงอาจสร้างขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ก็ได้เช่นกัน

     3. ภาพประดิษฐ์ เป็นภาพที่สร้างขึ้นโดยให้แตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติหรือที่มีอยู่ทั่วไป

     4. ตราหรือสัญลักษณ์ ที่ใช้แสดงตัวบุคคล องค์กรหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

     5. ชื่อ เป็นคำที่ใช้แทนตัวหรือใช้เรียกบุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือองค์กร

     6. คำ จะเป็นพยัญชนะและสระที่ประกอบเข้าด้วยกัน ซึ่งสามารถอ่านออกเสียงได้โดยจะมีความหมายหรือไม่ก็ตาม

     7. ข้อความ เป็นข้อความที่มีความหมายหรือไม่มีความหมาย สามารถใช้ได้เช่นกัน

     8. ตัวหนังสือ สามารถใช้ตัวอักษรในภาษาต่างๆ ได้

     9. ตัวเลข จะเป็นตัวเลขในภาษาใดๆ ก็ได้เช่นกัน

     10. ลายมือชื่อ ลายเส้นที่แสดงถึงชื่อของบุคคลธรรมดา

     11. กลุ่มของสี สีที่มีการรวมกลุ่มกันตั้งแต่ 2 สีขึ้นไป

     12. รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ เครื่องหมายที่มีลักษณะเป็นรูปร่าง หรือรูปทรงแสดงถึงด้านกว้าง ด้านยาว ด้านลึก

     13. สิ่งที่กล่าวข้างต้นอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน เช่น คำ มากกว่าหนึ่งคำ หรือเครื่องหมายหลายเครื่องหมายมารวมกัน เช่น เครื่องหมายภาพและเครื่องหมายคำ หรือเครื่องหมายคำและเครื่องหมายตัวเลข เป็นต้น

ก่อนจด : รู้ว่าเครื่องหมายการค้าที่ผ่านเกณฑ์เป็นอย่างไร

     เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนได้ นอกจากต้องเป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะตามหัวข้อก่อนหน้านี้แล้ว ยังต้องประกอบด้วยลักษณะ 3 ประการ

     1. เป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ที่จะแสดงถึงความแตกต่างระหว่างสินค้าบริการที่ใช้เครื่องหมายนี้กับสินค้าบริการของบุคคลอื่น และต้องไม่ใช่เครื่องหมายที่บ่งบอกถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการนั้นๆ โดยตรง

     2. ไม่เป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย เช่น ไม่เป็นตราราชวงศ์ ตราแผ่นดิน เครื่องหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลาย เป็นต้น

     3. ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้รับจดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว

ก่อนจด : รู้สิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อมสำหรับการจดเครื่องหมายการค้า

  • กรณีเป็นเครื่องหมายคำ ข้อความ ตัวอักษร ตัวเลข กลุ่มของสี หรือรูปภาพ ให้จัดเตรียมรูปภาพเครื่องหมายที่เห็นรายละเอียดเครื่องหมายอย่างชัดเจน โดยขนาดของภาพ ไม่ควรเกิน 5 X 5 เซนติเมตร หากเกินจะมีค่าธรรมเนียมในส่วนที่เกิน ในอัตราเซนติเมตรละ 200 บาทต่อด้าน

 

  • กรณีเป็นเครื่องหมายรูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ ให้จัดเตรียมรูปภาพที่แสดงถึงด้านกว้าง ด้านยาว ด้านลึกของเครื่องหมายอย่างชัดเจน โดยอาจแสดงมาในรูปเดียวหรือมากกว่านั้นก็ได้ ทั้งนี้รวมแล้วไม่เกิน 6 รูป

 

  • กรณีเป็นเครื่องหมายกลุ่มของสีให้ระบุคำบรรยายลักษณะของกลุ่มของสีลงในแบบฟอร์มคำขอจดทะเบียนด้วย

 

  • กรณีเป็นเครื่องหมายเสียง จัดเตรียมไฟล์เสียงอิเล็กทรอนิกส์ในสกุล wav,mp3 พร้อมบรรยายลักษณะของเครื่องหมายเสียงในแบบคำขอจดทะเบียนให้ชัดเจน

 

  • กรณีเครื่องหมายประกอบด้วยคำในภาษาต่างประเทศให้ระบุคำอ่านและคำแปลเป็นภาษาไทยด้วย และในกรณีเป็นภาษาจีนให้ระบุคำอ่านเป็นภาษาไทยทั้งสำเนียงจีนกลางและจีนแต้จิ๋วพร้อมคำแปลภาษาไทย

             

      หาก SME เข้าใจและเตรียมตัวให้พร้อมก่อนไปจดเครื่องหมายการค้า จากความยุ่งยากก็จะกลายเป็นเรื่องง่าย แม้จะเป็นมือใหม่ก็ทำได้ไม่ต่างจากมืออาชีพ

4 เหตุผล ทำไม? ถึงควรจดเครื่องหมายการค้า

  • สร้างความน่าเชื่อให้กับแบรนด์และสินค้าได้ เพราะการจดเครื่องหมายการค้า แสดงการปฏิบัติตามกรอบที่กฎหมายกำหนด ทำให้การจดเครื่องหมายการค้าสามารถทำให้แบรนด์ดูน่าเชื่อถือได้ เพราะได้รับการรับรองจากกฎหมายโดยตรง

 

  • สร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ เพราะว่าการจดเครื่องหมายการค้าการบ่งบอกอยู่แล้วว่าสินค้นหรือแบรนด์ของคุณแตกต่างจากเจ้าอื่นๆ เพื่อป้องกันเข้าใจผิดต่อลูกค้า

 

  • สร้างการจดจำ ซึ่งการจดเครื่องหมายการค้าทำให้ผู้บริโภคสามารถจดจำภาพลักษณ์และตราสินค้าของธุรกิจได้

 

  • ป้องกันการลอกเลียนแบบ เพราะถ้าธุรกิจไม่ได้ทำการจดเครื่องหมายการค้าคู่แข่งสามารถลอกเลียนแบบสินค้าหรือบริการของคุณได้

 

ที่มา : https://shorturl.asia/fhkDo

https://www.ipthailand.go.th/images/Promote/3_book_TM.pdf

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

 

RECCOMMEND: MANAGEMENT

ESG จะเปลี่ยนความเสี่ยงเป็นโอกาสธุรกิจได้อย่างไร

แม้คำว่า ESG (Environment, Social, Governance) จะฟังดูเป็นเรื่องใหญ่โตและต้องใช้เงินลงทุน แต่แท้จริงแล้วเอสเอ็มอี ก็สามารถทำได้ เพราะนี่คือโอกาสและความท้าทายครั้งสำคัญในการดำเนินธุรกิจ   

4 เครื่องมือช่วย “ตัดสินใจ” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า

หากมีทางเลือกอยู่หลายทาง แล้วทางไหนจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ และข้อผิดพลาดน้อยที่สุด SME Thailand เลยอยากจะแนะนำเครื่องมือที่ช่วยให้การตัดสินใจที่มีความรอบคอบและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด