ใช้สมองเยอะ ทำไมถึงหิว! คนชอบ (คิด) งาน ต้องรู้ ก่อนน้ำหนักจะขึ้นไม่รู้ตัว

TEXT : nimsri

Main Idea

  • ในเวลาที่เราต้องคิดงาน หรือใช้สมองเยอะๆ ระดับกลูโคสในกระแสเลือดจะลดลง จึงทำให้เกิดความรู้สึกหิวขึ้นมาได้

 

  • เช่นเดียวกับเมื่อมีความเครียดขึ้นมา ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่เรียกว่า “คอร์ติซอล” หรือ “ฮอร์โมนหิว” จึงทำให้สมองสั่งการว่าหิวมากกว่าปกติ

 

     ใครเป็นบ้าง เวลาออกจากห้องประชุมทีไร หรือเสร็จจากคิดโปรเจกต์อะไรหนักๆ เรามักจะรู้สึกหิวมากกว่าปกติ ทั้งที่ก็ไม่ได้ออกแรงทำอะไรมาก นี่ไม่ใช่แค่เรื่องอุปมาอุปไมยหรือนึกคิดไปเองเฉยๆ แต่มีหลักวิทยาศาสตร์ยืนยันได้ วันนี้จะเล่าให้ฟัง แถมวิธีช่วยจัดการให้ด้วย

ทำไมเราจึงรู้สึกหิว

     ก่อนจะไปดูเหตุผลว่าเพราะเหตุใดการใช้สมองคิดอะไรเยอะๆ จึงทำให้รู้สึกหิวขึ้นมาได้ เราลองมาทำความเข้าใจ กลไกการเกิดความหิว (Hunger mechanism) ของร่างกายกันก่อน

     อันดับแรกเลย คือ การเกิดความหิวและอิ่มของร่างกายจะถูกควบคุมด้วยสมองส่วนที่เรียกว่า “ไฮโพทาลามัส” (hypothalamus) โดยศูนย์ควบคุมความอิ่มจะอยู่ส่วนกลางของไฮโพทาลามัส ส่วนศูนย์ความหิวจะอยู่ด้านข้าง ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายของเราจะมีกลไกควบคุมระดับน้ำตาลกลูโคสให้คงที่อยู่เสมอ โดยศูนย์ความหิวที่อยู่ในไฮโพทาลามัสจะมีตัวรับกลูโคสที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดมาก ซึ่งปกติน้ำตาลกูโคสในเส้นเลือดแดงมักจะมีมากกว่าเส้นเลือดดำเสมอ

     ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่ระดับน้ำตาลในเลือดของเส้นเลือดทั้งคู่เริ่มมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย เนื่องจากเส้นเลือดแดงต้องคอยทำหน้าที่กระจายกลูโคสไปยังเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย เพื่อให้พลังงาน ศูนย์ความหิวในสมองก็จะเริ่มสั่งการไปยังกระเพาะอาหารทำให้เรารู้สึกหิวขึ้นมาในทันที เพื่อนำอาหารเข้าสู่ร่างกาย และเมื่อร่างกายเริ่มได้รับพลังงานจากอาหารเพียงพอแล้ว ระดับน้ำตาลในเลือดก็จะกลับมาเป็นปกติ ศูนย์หิวก็จะเริ่มหยุดสั่งการ ศูนย์ควบคุมความอิ่มก็เริ่มทำงานขึ้นมา และเมื่อเส้นเลือดแดงส่งต่อน้ำตาลกลูโคสไปยังอวัยวะต่างๆ ใกล้หมดอีกครั้ง เมื่อนั่นแหละเราจึงจะเริ่มรู้สึกหิวขึ้นมาอีกครั้ง

แค่คิด ไม่ได้ออกแรง ทำไมยังหิว

     ทีนี้มาเข้าเรื่องกันว่าทำไม๊ ทำไม แค่การนั่งคิดงาน หรือนั่งฟังประชุมเฉยๆ เราจึงรู้สึกหิวขึ้นมาได้ ไม่ต่างจากการออกแรงทำงานเลย

     โดยจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์กล่าวไว้ว่า เมื่อใดก็ตามที่สมองต้องใช้สมาธิ จดจ่อ หรือคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเวลานานๆ สมองจะต้องการกลูโคส ซึ่งเป็นพลังงานของเซลล์ประสาทมากขึ้นกว่าปกติ ทำให้การเผาผลาญกลูโคสในกระแสเลือดหมดไปอย่างรวดเร็ว จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงรู้สึกหิวขึ้นมาได้ ทั้งที่ก็แทบไม่ได้ออกแรงอะไรเลย

     ถึงตรงนี้ฟังดูแล้วหลายคนอาจเข้าใจผิดคิดว่า งั้นถ้ายิ่งคิดงานเยอะ ก็ยิ่งเผาผลาญนะสิ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งใช้สมองคิดเยอะ ก็ยิ่งผอมได้ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้น เพราะการเผาพลาญแคลอรีหรือพลังงานในร่างกายมันคนละอย่างกัน การที่เราจะขับแคลอรีออกมาได้ ก็ยังคงต้องใช้การออกแรง เช่น การออกกำลังกาย การขยับร่างกายอยู่ดี

      วารสาร Psychosomatic Medicine ได้เคยตีพิมพ์ผลงานวิจัยไว้ว่าระหว่างนั่งเฉยๆ 45 นาที กับอ่านหนังสือ 45 นาที สมองเราจะใช้พลังงานเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 3 แคลอรีเท่านั้น แต่จากการที่ต้องใช้ความคิดเยอะ ทำให้ระดับกลูโคสในร่างกายลดต่ำลงมากกว่าปกติ สมองจึงสั่งการให้เรารู้สึกหิว หรืออยากกินอะไรมากขึ้น แม้ในความเป็นจริงเราจะใช้พลังงานเพิ่มขึ้นมาเพียงเล็กน้อยก็ตาม ซึ่งจากผลวิจัยกล่าวว่าผู้ทดลองที่อ่านหนังสือมา 45 นาที จะกินข้าวเพิ่มเข้าไปมากกว่าผู้ที่นั่งอยู่เฉยๆ ถึง  200 แคลอรีเลยทีเดียว

     นอกจากระดับกลูโคสในร่างกายจะถูกนำมาใช้มากกว่าปกติ จนทำให้รู้สึกหิวขึ้นมาในเวลาที่เราต้องใช้สมองเยอะๆ แล้ว หากใครมีความเครียดเพิ่มเข้ามาด้วย ก็จะยิ่งทำให้รู้สึกหิวเพิ่มขึ้นมาอีก เหมือนที่หลายคนชอบพูดว่า “ยิ่งเครียด ยิ่งกิน”

     เหตุผลเป็นเพราะว่าเวลาที่เราเครียดร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเครียดที่เรียกว่า “คอร์ติซอล” และฮอร์โมนหิวที่เรียกว่า “เกรลิน” ออกมา ทำให้สมองสั่งการว่าหิวมากกว่าปกติ จึงมักต้องการอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น ไขมันและน้ำตาล จึงไม่แปลกที่ทำไมหลายคนเวลารู้สึกเครียดๆ แต่พอได้กินของหวานแล้ว กลับทำให้อารมณ์ดีขึ้นมาได้

ทำยังไงไม่ให้อยากกินเยอะเกินไป เมื่อต้องใช้สมองเยอะๆ

     จากข้อมูลที่นำมาเล่าให้ฟัง จึงพอสรุปได้ว่าเมื่อเราต้องใช้สมองคิดงานเยอะๆ จะทำให้รู้สึกหิวและอยากกินเยอะขึ้นมามากว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลต่อน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น จนส่งผลเสียต่อสุขภาพ สร้างความกังวลให้หลายคนได้ มาถึงตรงนี้เราได้รวบรวมวิธีป้องกันและแก้ไขมาฝาก ดังนี้

  • ดื่มน้ำเปล่าก่อนที่จะไปหาอย่างอื่นกิน

 

  • อย่าเพิ่งผลีผลาม หยุดพัก หยุดคิดสักครู่ ปล่อยใจให้นิ่งๆ และค่อยไปหาอะไรกิน จะทำให้ความหิวลดลง

 

  • ออกกำลังกายง่ายๆ เช่น เดินเร็ว แกว่งแขนขาไปมา เพื่อช่วยเบี่ยงเบนความสนใจ และทำให้ลดความหิวลงมาได้บ้าง

 

  • หลีกเลี่ยงอาหารให้พลังงานสูง เช่น แป้ง น้ำตาล

 

  • กินโปรตีนแทน เช่น ถั่ว นม ไข่ โยกิร์ตจะช่วยให้บรรเทาความหิวลงได้ และแคลอรีไม่เยอะเกินไป

 

  • เบนความสนใจไปอย่างอื่นก่อน แล้วค่อยกิน เพื่อช่วยให้ความเครียดน้อยลง ความต้องการกลูโคสไม่สูงเกินไป

 

     สุดท้ายอยากฝากบอกนักคิดผู้ที่ต้องใช้สมองเยอะทุกคนว่า อย่ากังวลมากจนเกินไป เพราะอย่างน้อยการที่คุณรู้สึกหิวขึ้นมาเวลาที่ต้องคิดอะไรเยอะๆ แสดงว่าคุณเป็นคนจริงจังและใส่ใจกับงานที่ทำอยู่ ฉะนั้นถ้าน้ำหนักจะขึ้นมาสักเล็กน้อย ก็เป็นหลักฐานให้ใครๆ ได้เห็นว่า คุณ คือ ตัวจริงที่เอาการเอางานคนหนึ่งนะ

ที่มา : https://bit.ly/3u0ArU8

https://skm.ssru.ac.th/news/view/a576

https://outlawfitcamp.com/why-do-you-get-hungry-when-studying-or-thinking-%E2%80%A8and-how-to-squash-that-hunger-%E2%80%A8/

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

ESG จะเปลี่ยนความเสี่ยงเป็นโอกาสธุรกิจได้อย่างไร

แม้คำว่า ESG (Environment, Social, Governance) จะฟังดูเป็นเรื่องใหญ่โตและต้องใช้เงินลงทุน แต่แท้จริงแล้วเอสเอ็มอี ก็สามารถทำได้ เพราะนี่คือโอกาสและความท้าทายครั้งสำคัญในการดำเนินธุรกิจ   

4 เครื่องมือช่วย “ตัดสินใจ” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า

หากมีทางเลือกอยู่หลายทาง แล้วทางไหนจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ และข้อผิดพลาดน้อยที่สุด SME Thailand เลยอยากจะแนะนำเครื่องมือที่ช่วยให้การตัดสินใจที่มีความรอบคอบและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด