สื่อสารเชิงสร้างสรรค์ ทักษะจำเป็นต่อความเป็นมืออาชีพในการทำงาน ผู้นำองค์กรควรเรียนรู้

Text : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

     ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแส "ชัชชาติฟีเวอร์" ของ "คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง หากติดตามมาตลอดจะสังเกตเห็นการตอบคำถามของคุณชัชชาติที่จะเป็นไปแบบบัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น ประณีประนอม และหลีกเลี่ยงการสร้างดราม่าไม่ว่าจะถูกถามชงแค่ไหนก็ตาม การสื่อสารลักษณะนี้เรียกกันว่า constructive communication หรือการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ซึ่งเป็นทักษะที่ผู้นำองค์กรหรือคนทำงานควรเรียนรู้หรือฝึกฝนไว้ 

     การสื่อสารเชิงสร้างสรรค์หมายถึงการสื่อสารทางบวกที่ทำให้สมาชิกไม่ว่าในครอบครัว ในองค์กร หน่วยงานหรือคนรอบข้างเกิดความเข้าใจในกันและกัน ลดความขัดแย้งและนำมาซึ่งความรู้สึกและสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน หากนำทักษะการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์มาใช้ในระหว่างการทำงานจะก่อประโยชน์มากมาย

     ซึ่งการสื่อสารเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาตนเองและสู่การเป็นมืออาชีพโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงโควิดที่ทำให้การทำงานเปลี่ยนไป การสื่อสารระหว่างกันจึงจำเป็นต้องปรับไปด้วยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่สุด ข้อแนะนำเกี่ยวกับการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์มีหลายข้อรวมถึง

     การพูดคุยแบบเผชิญหน้า อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ แทนที่จะส่งเพียงอีเมล บันทึกข้อความ ประกาศหรือเอกสารซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว ผู้นำระดับบริหารควรหาโอกาสหรือเจียดเวลาลงมาคลุกวงในกับผู้ใต้บังคับบัญชาหรือคนทำงานหน้างานบ้างซึ่งจะทำให้เกิดการพูดคุย ตั้งคำถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำเสนอไอเดีย และแจ้งปัญหาต่าง ๆ การพูดคุยแบบ face-to-face ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในออฟฟิศหรือห้องประชุมเท่านั้น ในยุคที่ผู้คนทำงานที่ไหนก็ได้ทุกที่ทุกเวลา อาจคุยกันผ่านเทคโนโลยี เช่น Zoom ก็ได้   

     ใส่ใจในคำติชม คำติชมหรือคำวิจารณ์ถือเป็นเรื่องดีมากกว่าที่หลายคนคิดโดยเฉพาะการวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ ฟีดแบ็คหากเป็นไปในทางบวก นอกจากเป็นกำลังใจให้คนทำงานยังทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นมาถูกทิศทางแล้ว ยิ่งมีการเผยแพร่ผลงานหรือการกระทำให้คนรอบข้างรับรู้ ก็เท่ากับเป็นการนำเสนอเพื่อเป็นแบบอย่างแก่ผู้ร่วมงานคนอื่น แต่ถ้าเป็นฟีดแบ็คลบแบบติเพื่อก่อ หากยอมรับด้วยใจเป็นกลางว่าเป็นเรื่องจริงก็ยังเป็นประโยชน์อยู่ดีในแง่ของการนำคำวิจารณ์นั้นไปพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น

     รับฟังคนรอบข้าง การสื่อสารไม่ได้หมายถึงการพูดอย่างเดียว ครึ่งหนึ่งของการสื่อสารประกอบด้วยการฟัง สิ่งที่จะทำให้การรับฟังเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพคือ Active listening-การฟังเชิงรุกหรือการรับฟังอย่างตั้งใจ อยู่กับเรื่องราวของคนที่เล่าตลอดเพื่อจะได้เข้าใจและตอบสนองต่อการสื่อสารจากอีกฝ่ายได้ถูกต้อง การรับฟังด้วยใจเป็นพื้นฐานสำคัญของการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อทำให้ภารกิจหรือเป้าหมายที่กำหนดไว้บรรลุจุดประสงค์  

     ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ฝึกทักษะในการทำความเข้าใจผู้อื่นด้วยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา จำลองภาพการอยู่ในสถานการณ์ของคนอื่นจะทำให้เห็นมุมมองที่ต่างออกไปมากกว่าที่จะมาจากสายตาตัวเองหรือความคิดของตัวเองเพียงด้านเดียว การทำความเข้าใจผู้อื่นทั้งด้านความคิด ความรู้สึก และอารมณ์คือหัวใจสำคัญของการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ เมื่อนำมาใช้ในการทำงานจะช่วยลดความขัดแย้ง และการทำงานดำเนินไปอย่างราบรื่น

     อย่าลืม “อวัจนภาษา” ในการสื่อสารระหว่างกันเราไม่ได้ใช้แค่คำพูด (verbal language) เท่านั้น แต่สิ่งที่มาควบคู่กับคืออวัจนภาษา (non-verbal language) ด้วย ซึ่งในชีวิตประจำวัน การสื่อสารด้วยอวัจนภาษา เช่น น้ำเสียง การแสดงออกทางสีหน้า การใช้ท่าทางต่าง ๆ ซึ่งเป็นภาษากายนั้นอาจมากกว่าการสื่อสารผ่านคำพูดด้วยซ้ำ เหมือนวลีในเพลงดังเพลงหนึ่งว่า You say it best when you say nothing at all-บางทีการสื่อสารที่ดีที่สุดก็คือการไม่ได้เปล่งคำพูดออกมา ดังนั้นขณะสื่อสารจึงควรฝึกควบคุมภาษากายด้วย เช่น การขมวดคิ้ว การถอนหายใจ การกอดอกที่อาจทำให้เข้าใจผิดว่าเครียด ไม่พอใจ เบื่อหน่าย หรือไม่เป็นมิตรทั้งที่ความจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น

     ที่ทำงานถือเป็นสถานที่หนึ่งที่เหมาะสมที่สุดในการฝึกในการใช้ทักษะการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์หากต้องการให้การทำงาน และการสร้างสัมพันธภาพกับคนในองค์กรเป็นไปอย่างราบรื่น นอกจากสร้างบรรยากาศดี ๆ ยังมีผลต่อ productivity หรือความสามารถในการผลิตงานเพิ่มขึ้นด้วย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

 

RECCOMMEND: MANAGEMENT

ESG จะเปลี่ยนความเสี่ยงเป็นโอกาสธุรกิจได้อย่างไร

แม้คำว่า ESG (Environment, Social, Governance) จะฟังดูเป็นเรื่องใหญ่โตและต้องใช้เงินลงทุน แต่แท้จริงแล้วเอสเอ็มอี ก็สามารถทำได้ เพราะนี่คือโอกาสและความท้าทายครั้งสำคัญในการดำเนินธุรกิจ   

4 เครื่องมือช่วย “ตัดสินใจ” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า

หากมีทางเลือกอยู่หลายทาง แล้วทางไหนจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ และข้อผิดพลาดน้อยที่สุด SME Thailand เลยอยากจะแนะนำเครื่องมือที่ช่วยให้การตัดสินใจที่มีความรอบคอบและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด