Leader as a Coach คุณสมบัติสำคัญ 5 ข้อ ฝึกหัวหน้าทีมเป็นโค้ชที่ดี

TEXT : อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

 

     หลายๆ องค์กร อยากเห็นหัวหน้าทำหน้าที่เป็นโค้ชด้วย 

     ในฐานะที่ปรึกษา ได้ทำงานกับองค์กรต่างๆ มากมาย เชื่อไหมว่าทุกวันนี้ 6 ใน 10 องค์กรมีเป้าหมายต้องการสร้างหัวหน้างานให้เป็นโค้ช ผ่านโครงการพัฒนาภายใต้หัวข้อ Leader as a Coach เพราะโลกของการทำงานแปรเปลี่ยนไป ดังนั้นเมื่อโลกเปลี่ยน ผู้นำก็ต้องปรับ

     คำว่าโค้ช มีรากศัพท์มาจากภาษาฮังการีแปลว่ารถม้า และนี่คือเหตุผลที่กระเป๋าแบรนด์เนมชื่อดังอย่าง Coach จึงมีโลโก้เป็นรูปรถม้า

     รถม้ามีหน้าที่พาคนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง โดยพาไปสู่จุดหมายที่ตั้งไว้ภายในเวลาที่กำหนด เพราะฉะนั้นโค้ชก็ทำหน้าที่ไม่ต่างกัน โค้ชต้องพาผู้ที่ได้รับการโค้ช จากจุดที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ในอนาคต ภายในเวลาที่กำหนด

     คำว่าโค้ชเริ่มต้นในแวดวงการขนส่งและแผ่ขยายไปในหลากหลายวงการ แต่ที่ทุกคนคุ้นชินกันมากหน่อยก็คงจะเป็นการโค้ชในวงการกีฬา กีฬาทุกประเภทมีโค้ช ดังนั้นหากอยากศึกษาความสำเร็จของการเป็นโค้ชที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ให้ศึกษาจากโค้ชนักกีฬา

     คุณสมบัติสำคัญของโค้ช 5 ประการ ที่หัวหน้าควรเรียนรู้

1. โค้ชไม่ต้องเก่งเท่านักกีฬา - หัวหน้าสามารถเป็นโค้ชให้ลูกน้องได้ แม้ความเชี่ยวชาญบางเรื่องอาจสู้ลูกน้องไม่ได้ เพราะต่างเล่นคนละบทบาท ลูกน้องต้องรู้ลึก หัวหน้าต้องรู้กว้าง

2. โค้ชรู้จักนักกีฬาทุกคนทั้งในและนอกสนาม - หัวหน้าต้องรู้จักลูกน้องทุกคน ไม่ใช่รู้จักแค่ชื่อเสียงเรียงนามและตำแหน่งหน้าที่การงานเท่านั้น แต่ต้องรู้จักพื้นเพความหลังของพนักงานที่ตนเองดูแลอยู่ด้วย

3. โค้ชซ่อมจุดอ่อนและใช้จุดแข็งเพื่อสร้างความสำเร็จ - ความสำเร็จไม่ได้เกิดจากการปิดจุดอ่อนให้หมด เพราะทุกคนมีจุดอ่อน แต่คนที่ประสบความสำเร็จคือคนที่หยิบจุดแข็งมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่างหาก ดังนั้นหน้าที่ของหัวหน้าคือต้องรู้ว่าพนักงานแต่ละคนมีจุดอ่อนจุดแข็งตรงไหน จากนั้นซ่อมแซมจุดอ่อนและใช้จุดแข็งเพื่อสร้างความสำเร็จ

4. โค้ชฉลองความสำเร็จระหว่างทางเป็นระยะๆ - การฉลองความสำเร็จไม่จำเป็นต้องรอให้จบเกม ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นได้ว่าโค้ชและนักกีฬาต่างดีใจและชื่นชมกันและกันทุกๆ ครั้งที่ทำคะแนนได้ หัวหน้าก็ควรหาโอกาสชื่นชมและฉลองความสำเร็จเล็กๆ เป็นระยะๆ อย่างนี้ด้วย

5. โค้ชไม่ใช่ผู้เล่น - หน้าที่ของผู้เล่นกับหน้าที่ของโค้ชต่างกัน โค้ชที่ลงสนามไปเป็นผู้เล่นด้วย ไม่เคยมีใครประสบความสำเร็จสักคน หลักการนี้ก็ไม่ต่างกับการบริหารงานของหัวหน้า ผู้นำต้องเข้าใจบทบาทของตัวเองให้ดี การบริหารแบบ “ผู้จัดการสันดานเสมียน” มีเยอะมาก แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ

ลองสำรวจตัวเองดู เราเป็นหัวหน้าที่ทำหน้าที่โค้ชได้ดีรึยัง

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

ESG จะเปลี่ยนความเสี่ยงเป็นโอกาสธุรกิจได้อย่างไร

แม้คำว่า ESG (Environment, Social, Governance) จะฟังดูเป็นเรื่องใหญ่โตและต้องใช้เงินลงทุน แต่แท้จริงแล้วเอสเอ็มอี ก็สามารถทำได้ เพราะนี่คือโอกาสและความท้าทายครั้งสำคัญในการดำเนินธุรกิจ   

4 เครื่องมือช่วย “ตัดสินใจ” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า

หากมีทางเลือกอยู่หลายทาง แล้วทางไหนจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ และข้อผิดพลาดน้อยที่สุด SME Thailand เลยอยากจะแนะนำเครื่องมือที่ช่วยให้การตัดสินใจที่มีความรอบคอบและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด