ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เทรนด์ หรือมาตรฐานใหม่ของโลก เมื่อหลายประเทศเริ่มทำแล้ว

 

 

     คงไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไปแล้วในโลกยุคหลังโควิด หากจะบอกว่าวันนี้คุณยังเป็นพนักงานประจำอยู่ แต่กลับไม่ต้องนั่งทำงานอยู่ออฟฟิศ หรือไม่จำเป็นต้องเข้าทำงาน 5 - 6 วันต่อสัปดาห์อีกต่อไป การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายองค์กรมีการปรับตัวและมีความยืดหยุ่นในการทำงาน เพื่อเอื้อประโยชน์ทั้งต่อบริษัทและพนักงานของพวกเขามากขึ้น

     จนเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ผู้คนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านได้มากขึ้นเพราะการฉีดวัคซีน ทำให้หลายบริษัทในหลายประเทศเริ่มหันมาทบทวนรูปแบบการทำงานของตนเสียใหม่ ด้วยการลดจำนวนวันทำงานลงให้เหลือเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ ในขณะที่พนักงานเองยังสามารถดูแลรับผิดชอบงานได้เหมือนเดิม ได้รับเงินเดือน และผลประโยชน์เท่าเดิม แต่ได้มีอิสระในการทำงานมากขึ้น ประชุมลดลง เพื่อสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน โดยคิดว่าวิธีการดังกล่าวจะช่วยดึงดูดพนักงานไม่ให้อยากลาออก และเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มากขึ้นได้ด้วยเช่นกัน มีประเทศไหนเริ่มทำไปแล้วบ้างไปดูกัน

เบลเยียม

     ราวเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ ชาวเบลเยียมได้รับสิทธิ์ให้ทำงานเต็มสัปดาห์อยู่ที่ 4 วันแทนที่จะเป็น 5 วันเหมือนเดิม โดยที่พนักงานทุกคนยังคงได้รับเงินเดือนปกติเหมือนเช่นเดิม โดย Alexander de Croo นายกรัฐมนตรีแห่งเบลเยียมเชื่อว่าข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยให้ตลาดแรงงานที่เข้มงวดของเบลเยียมมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และทำให้ผู้คนผสมผสานชีวิตครอบครัวเข้ากับอาชีพการงานได้ง่ายขึ้น

     ซึ่งการที่พนักงานจะเลือกตัดสินใจว่าจะทำงานต่อสัปดาห์อยูที่ 4 หรือ 5 วันนั้น จริงๆ แล้วไม่ได้มีผลต่อปริมาณงาน หรือชั่วโมงการทำงานให้น้อยลงเลย โดยอาจมีข้อตกลงกับบริษัทว่าลดวันมาทำงานลง แต่ให้เพิ่มชั่วโมงการทำงานในแต่ละวันแทน หรืออาจไม่ต้องเพิ่มชั่วโมงการทำงาน แต่ความรับผิดชอบต่องานต้องเท่าเดิม

สหราชอาณาจักร

      สำหรับสหราชอาณาจักรเอง ได้เริ่มมีการจัดทำโครงการนำร่องเพื่อให้พนักงานบริษัทต่างๆ ได้ทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อศึกษาถึงผลกระทบของชั่วโมงการทำงานที่สั้นลงว่าส่งผลต่อประสิทธิภาพของบริษัท สวัสดีภาพของพนักงาน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงความเท่าเทียมทางเพศ และปัจจัยอื่นๆ

     โดยเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 มีบริษัทกว่า 60 แห่ง ซึ่งมีพนักงานประมาณ 3,000 คน ได้เริ่มลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ โดยมีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และอ็อกซ์ฟอร์ด และวิทยาลัยบอสตันเป็นผู้ดำเนินการ โดยการปฏิรูปดังกล่าวนั้นพนักงานจะได้รับอนุญาตให้ทำงานได้ถึง 9.5 ชั่วโมงต่อวัน หรือตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00 น. - 18.30 น. หรืออาจขยายไปถึง 10 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ลดจำนวนวันทำงานลงเหลือเพียง 4 วันต่อสัปดาห์

สกอตแลนด์ + เวลส์

     สำหรับสตอกแลนด์ และเวลส์ มีการตั้งเป้าว่าจะเริ่มดำเนินการให้แรงงานในประเทศลดวันการทำงานลงเหลือเพียงแค่ 4 วันในปี 2566 ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายหาเสียงของพรรค Scottish National Party (SNP) ที่ป่าวประกาศว่าจะช่วยให้พนักงานลดชั่วโมงการทำงานลง 20 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องเสียค่าชดเชยใดๆ โดยทางพรรคจะเป็นฝ่ายสนับสนุนบริษัทที่เข้าร่วมด้วยเงินประมาณ 10 ล้านปอนด์ หรือราว 11.8 ล้านยูโร จากนโยบายดังกล่าวสถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะ (IPPR) ได้ทำการสำรวจโดยพบว่ากว่าร้อยละ 80 ของผู้คนมีความคิดเชิงบวกต่อแนวคิดนี้ โดยมองว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมสุขภาพและสร้างความสุขให้แก่พวกเขาได้มากขึ้น โดยเริ่มมีบริษัทบางแห่งได้นำร่องลดวันการทำงานของพนักงานลงให้เหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ไปบ้างแล้ว หลังจากที่ได้ทดลองทำแล้วพบผลที่น่าพึงพอใจ

ไอซ์แลนด์

     เรียกว่าเป็นประเทศที่มาก่อนกาลก็ว่าได้ เพราะในไอซ์แลนด์นั้นเริ่มมีการลดชั่วโมงการทำงานลงจาก 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ให้เหลือเพียง 35 – 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี 2562 โดยที่ไม่มีการปรับลดค่าจ้างลง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการทดสอบกว่า 2,500 คน ซึ่งจากการศึกษาดังกล่าวนั้นได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในไอซ์แลนด์ โดยเกือบร้อยละ 90 ของประชากรที่ทำงานมีการลดชั่วโมงการทำงานลง โดยมีผลการวิจัยออกมาว่าพบว่าชาวไอซ์แลนด์วัยทำงานมีความเครียด เบื่อหนายการทำงานลดลง สมดุลระหว่างการใช้ชีวิตและการทำงานก็ดีขึ้น

สวีเดน

     ในสวีเดนเริ่มมีการทดลองลักษณะเดียวกันนี้ เพื่อให้พนักงานลดชั่วโมงการทำงานลงตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งค่อนข้างมีผลลัพธ์และความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป เช่น มีการเสนอให้ทดลองทำงานเหลือเพียงวันละ 6 ชั่วโมง จากเดิม คือ 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างในชั่วโมงที่หายไป ซึ่งทำให้ลูกจ้างบริษัทเอกชนหลายคนไม่พอใจ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ หมอ พยาบาล กลับมีความรู้สึกไปในเชิงบวกที่ลดชั่วโมงการทำงานลงจาก 8 ชั่วโมงเหลือเพียง 6 ชั่วโมงต่อวัน และจ้างพนักงานใหม่มาทดแทนในช่วงเวลาที่หายไป เนื่องจากทำให้พวกเขาไม่ต้องเหนื่อยเกินไป

เยอรมนี

      ถ้าถามว่าประเทศใดในยุโรปที่มีชั่วโมงการทำงานน้อยที่สุด จากข้อมูลของ World Economic Forum (WEF) พบว่า ก็คือ เยอรมัน นั่นเอง เฉลี่ย 34.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ถึงจะน้อยที่สุดแล้วก็ยังมีการเรียกร้องให้ลดชั่วโมงการทำงานลงไปอีก โดยเมื่อปีที่แล้ว IG Metall สหภาพการค้าที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมันได้เรียกร้องให้มีสัปดาห์การทำงานสั้นลง โดยอ้างว่าจะช่วยรักษางานและหลีกเลี่ยงการเลิกจ้างได้

     โดยจากการสำรวจของ Forsa พบว่ากว่า 71 เปอร์เซ็นต์ของคนทำงานอยากมีตัวเลือกให้ทำงานเพียง 4 วันต่อสัปดาห์บ่าง โดย 3 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่าพวกเขาพร้อมจะสนับสนุนรัฐบาลหากจะออกนโยบายลดการทำงานลงให้เหลือเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ ขณะที่นายจ้าง 2 ใน 3 ก็คิดเช่นเดียวกัน โดยผู้คนกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์น่าจะเป็นประโยชน์ต่อเหล่าพนักงาน และ 59 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่านายจ้างจะทำได้เช่นกัน ขณะที่ตัวนายจ้างเองกว่า  

     46 เปอร์เซ็นต์มีความเห็นว่าการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ในองค์กรของตนนั้นเป็นไปได้

ญี่ปุ่น

     ในปี 2564 รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มมีการประกาศนโยบายวางแผนการสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างการใช้ชีวิตและการทำงานให้เกิดความสมดุลซึ่งกันและกัน โดยมองว่าจะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศมากขึ้น เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างมีสถิติผู้คนที่เสียชีวิตจากการทำงานหนักจำนวนมาก ทั้งจากการเจ็บป่วย หรือการฆ่าตัวตาย โดยในปี 2562 ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Microsoft ได้ทดลองเสนอวันหยุดสุดสัปดาห์ให้พนักงานเป็น 3 วัน ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน โดยพบว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการผลิตให้เพิ่มขึ้นได้กว่า 40 เปอร์เซ็นต์

สเปน

     ฝั่งด้านสเปนเองก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวให้เห็นแล้ว โดยพรรคเล็กฝ่ายซ้าย Más País ได้ประกาศเอาไว้เมื่อต้นปีว่ารัฐบาลได้ตกลงที่จะขอให้เปิดตัวโครงการนำร่องเล็กๆ ของนโยบายการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ สำหรับบริษัทต่างๆ ที่สนใจแนวคิดนี้

     “ด้วยสัปดาห์ทำงาน 4 วัน (32 ชั่วโมง) เรากำลังเข้าสู่การอภิปรายที่แท้จริงของเวลาของเรา” อินิโก เอร์เรฆอน รองสภาคองเกรสสเปนได้กล่าวไว้ โดยได้เริ่มมีการประชุมปรึกษาหารือกันในเมื่อต้นเดือนเมษายน เพื่อจะทดลองให้พนักงานกว่า 6,000 คนของบริษัทเล็กๆ 200 แห่งได้หยุดงานเพิ่ม 1 วันต่อสัปดาห์ หรือรวมแล้วเท่ากับ 3 วันต่อสัปดาห์ โดยได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน โดยมีระยะทดลองอย่างน้อยหนึ่งปี แต่ยังไม่แน่ชัดเจนว่าจะเริ่มต้นเมื่อใด

นิวซีแลนด์

     ในขณะที่ในนิวซีแลนด์บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านสินค้าอุปโภคบริโภคอย่าง Unilever ก็มีการทดลองให้พนักงาน 81 คน ได้ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ โดยได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน Nick Bangs กรรมการผู้จัดการยูนิลีเวอร์นิวซีแลนด์กล่าวเป้าหมายก็เพื่อทดลองวัดผลการปฏิบัติงาน โดยคิดว่าวิธีการทำงานแบบเก่าๆ อาจไม่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของบริษัทอีกต่อไป ซึ่งหากการทดลองนี้ประสบความสำเร็จ บริษัทจะมีการขยายไปยังประเทศอื่นๆ ต่อไป

สหรัฐ + แคนนาดา

      สุดท้ายสำหรับประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาพ่วงด้วยแคนนาดาพบว่าก็เริ่มมีความสนใจอยากทดลองนำนโยบายการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มาทดลองใช้เช่นกัน

      เริ่มจากในสหรัฐอเมริกา จากการสำรวจโดย Qualtrics ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ระบบคลาวด์พบว่า 92 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานในสหรัฐฯ ที่ได้ทำการสำรวจเห็นด้วยกับสัปดาห์การทำงานที่สั้นลง ถึงแม้ว่าจะหมายถึงการทำงานนานขึ้นในแต่ละวันก็ตาม โดยพนักงานที่ทำแบบสำรวจได้กล่าวว่านโยบายดังกล่าวจะส่งผลให้สุขภาพจิตพวกเขาดีขึ้น และความสามารถในการทำงานก็จะเพิ่มขึ้นตามประโยชน์ที่ได้รับด้วย โดยพนักงาน 3 ใน 4 หรือประมาณ 74 เปอร์เซ็นต์ กล่าวว่าพวกเขาสามารถทำงานให้เสร็จได้ใน 4 วันโดยไม่ต้องเพิ่มเวลาการทำงานในแต่ละวัน ขณะที่ 72 เปอร์เซ็นต์ กล่าวว่าจะต้องใช้เวลาทำงานนานขึ้นในวันทำงานจึงจะทำเช่นนั้นได้

     มาทางฝั่งแคนาดา จากการวิจัยของ Indeed บริษัทจัดหางานทั่วโลกพบว่า 41 เปอร์เซ็นต์ของนายจ้างชาวแคนาดากำลังพิจารณาตารางการทำงานแบบผสมผสานทางเลือกและรูปแบบการทำงานใหม่ๆ เข้าด้วยกันภายหลังการระบาดของโควิด-19 โดยได้มีการสำรวจนายจ้างกว่า 1,000 คนในแคนาดา พบว่า 51 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานมากกว่า 500 คนมีแนวโน้มที่จะเริ่มดำเนินนโยบายให้ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ขณะที่กว่าร้อยละ 63 ขององค์กรขนาดกลางที่มีพนักงานอยู่ราว 100 - 500 คน กล่าวว่าพวกเขาพร้อมที่จะดำเนินการทำงานต่อสัปดาห์ที่สั้นลงเช่นกัน นอกจากนี้พนักงานลูกจ้างประจำชาวแคนาดาเองกว่าร้อยละ 79 พบว่ายังเต็มใจที่จะลดเวลาทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ให้เหลือ 4 วัน จากการสำรวจความคิดเห็นของ Maru Public Opinion ที่จัดทำขึ้นด้วย

     จากข้อมูลที่กล่าวมาแล้วนั้น ดูเหมือนนโยบายการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เริ่มจะได้รับความสนใจจากหลายประเทศทั่วโลกมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทีเดียว คงต้องรอดูกันต่อไปว่านี่จะเป็นเพียงแค่เทรนด์ทดลองในบางประเทศ หรือจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการทำงานทั่วโลกได้ จาก 5 วันให้เหลือเพียง 4 วันต่อสัปดาห์

 

TEXT : กองบรรณาธิการ

 

ที่มา : https://www.clearestate.com/blog/exclusive-clearestate-poll-shows-estate-settlement-among-lifes-most-difficult-tasks

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

ESG จะเปลี่ยนความเสี่ยงเป็นโอกาสธุรกิจได้อย่างไร

แม้คำว่า ESG (Environment, Social, Governance) จะฟังดูเป็นเรื่องใหญ่โตและต้องใช้เงินลงทุน แต่แท้จริงแล้วเอสเอ็มอี ก็สามารถทำได้ เพราะนี่คือโอกาสและความท้าทายครั้งสำคัญในการดำเนินธุรกิจ   

4 เครื่องมือช่วย “ตัดสินใจ” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า

หากมีทางเลือกอยู่หลายทาง แล้วทางไหนจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ และข้อผิดพลาดน้อยที่สุด SME Thailand เลยอยากจะแนะนำเครื่องมือที่ช่วยให้การตัดสินใจที่มีความรอบคอบและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด