ภาษีความเค็ม ผลดีต่อสุขภาพคนไทย ส่งผลอย่างไรต่อผู้ประกอบการ

Text: รุจรดา วัฒนาโกศัย

 

     แม้ว่าเทรนด์อาหารสุขภาพกำลังมาแรงในทั่วโลก แต่เรากลับพบว่าคนไทยกินอาหารเค็มกันมากขึ้น ล่าสุดในช่วงปลายปี 2564 เราก็ได้เห็นความเคลื่อนไหวจากภาครัฐที่เตรียมเก็บภาษีความเค็มจากกลุ่มอาหารโซเดียมสูงเพื่อให้คนไทยลดการบริโภคอาหารรสเค็มลง แต่ประเด็นนี้จะส่งผลต่อฝั่งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารอย่างไรบ้าง ไปดูกัน

คนไทยบริโภคเกลือเฉลี่ยวันละ 9.1 กรัม ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ 5 กรัมต่อวัน เกือบ 2 เท่า

ภาษีความเค็มกลไกเดียวกับภาษีน้ำตาล

      ก่อนหน้าที่จะพูดถึงเรื่องการเก็บภาษีความเค็มลดโซเดียม ประเทศไทยมีการเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีความหวาน หรือที่เรียกกันว่า “ภาษีความหวาน” มีหลักการคือ หวานมากเก็บภาษีมาก หวานน้อยเก็บภาษีน้อยบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 โดยให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 2 ปีเพื่อให้ผู้ประกอบการลดปริมาณน้ำตาลในสินค้าตนเอง และหลังจากนั้นจะเก็บภาษีความหวานเพิ่มขึ้นทุก 2 ปี

ซึ่งอัตราภาษีความหวานที่ใช้ในวันที่ 1ตุลาคม 2564 -  30 กันยายน 2565 คือ

  • เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ได้รับยกเว้นเก็บภาษี
  • เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 6-8 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีที่ 0.10 บาทต่อลิตร
  • เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 8-10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีที่ 0.30 บาทต่อลิตร
  • เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 10-14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีที่ 1 บาทต่อลิตร
  • เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 14-18 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษีที่ 3 บาทต่อลิตร
  • เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกิน 18 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษี 5 บาทต่อลิตร

 

    เมื่อมีการเก็บภาษีความเค็มก็จะยึดหลัก เค็มมากเสียภาษีมาก และเค็มน้อยเสียภาษีน้อย และหากโซเดียมต่ำกว่าเกณฑ์ก็จะไม่เสียภาษีเลย

กระทบ 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร

     ภาษีความเค็มจะจัดเก็บกับสินค้าที่มีการบรรจุหีบห่อและระบุปริมาณโซเดียมที่ชัดเจน  5 กลุ่มสินค้า แต่ไม่รวมอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง เพราะจะไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ คือ

  • กลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
  • อาหารแช่แข็ง
  • อาหารแช่เย็น
  • ขนมขบเคี้ยว
  • ซอสปรุงรส

 

     ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินว่ากลุ่มสินค้าที่อาจเข้าข่ายมีปริมาณโซเดียมสูง (วัดจากปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งบรรจุภัณฑ์จากการสำรวจสุ่มตัวอย่างสินค้าในตลาด) น่าจะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 88,000 ล้านบาทในปี 2565 หรือคิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าตลาดอาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด

     ซึ่งที่ผ่านมามีการรณรงค์ลดการบริโภคเกลือแต่ก็ได้ผลน้อย ขณะที่การติดฉลากผลิตภัณฑ์บอกปริมาณโซเดียม ซึ่งจะแสดงเป็นปริมาณต่อหน่วยบรรจุภัณฑ์/ต่อหน่วยการบริโภค และแสดงสัดส่วนร้อยละของปริมาณสูงสุดที่บริโภคได้ต่อวัน บังคับใช้กับอาหารและเครื่องดื่ม 13 กลุ่ม อาทิ อาหารขบเคี้ยว อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารพร้อมทานแช่แข็ง/แช่เย็น ก็ลดการบริโภคได้เพียง 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ถ้ามีการบังคับลดเกลือในอุตสาหกรรมอาหารจะสามารถลดการบริโภคเกลือได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

     ณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กล่าวว่า การพิจารณาภาษีความเค็มจะต้องดูความพร้อมในแง่มาตรการภาษีกับอุตสาหกรรม โดยจะต้องรอให้เศรษฐกิจดีขึ้นด้วย คาดว่าจะบังคับใช้ได้เมื่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของเศรษฐกิจขยายตัวอยู่ที่มูลค่า 16 ล้านล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเมื่อพร้อมก็จะมีการประกาศล่วงหน้าเพื่อให้เวลาภาคอุตสาหกรรมปรับตัว 6-12 เดือน เนื่องจากภาษีความเค็มจะกระทบประชาชนในวงกว้าง และเพื่อให้เวลาผู้ประกอบการได้มีการปรับตัว และผลิตสินค้าสูตรใหม่ออกมา

     นี่เป็นความท้าทายของผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารทั้ง 5 กลุ่มนี้เป็นอย่างมาก ท่ามกลางสถานการณ์ต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งต้นทุนด้านพลังงาน ราคาน้ำมันปาล์ม และข้อจำกัดด้านการขนส่ง ซึ่งสวนทางกับกำลังซื้อที่ต้องใช้เวลาฟื้นตัวและค่าครองชีพที่เร่งตัวขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ

กรมสรรพสามิตวางเป้าหมายให้การบริโภคโซเดียมของคนไทยในแต่ละวันให้น้อยกว่า 20% ต่อคนต่อวัน หรือเหลือ 2,800 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน

ลดเค็มทั่วโลก

     การตั้งเป้าลดปริมาณโซเดียมในอาหารไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นวาระระดับโลก หลายประเทศได้วางเป้าหมายการลดเกลือในอาหารแปรรูปทั่วไป ขณะที่องค์การอนามัยโลกก็ได้เปิดตัวมาตรฐานการใช้โซเดียมระดับโลก หรือ WHO’s New Global Sodium Reduction Benchmarks ที่จะช่วยให้ประเทศต่างๆ ลดปริมาณโซเดียม โดยตั้งเป้าให้ลดลง 30 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2568

ขณะที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปตกลงที่จะสร้างกรอบการทำงานร่วมงานในเรื่องนี้

  • 10 ประเทศในยุโรปมีการกำหนดระดับเกลือสูงสุดในอาหาร โดยเฉพาะขนมปัง
  • 25 ประเทศในยุโรปสมัครใจติดฉลากบอกปริมาณเกลือในอาหารและปรับปรุงสูตร

 

     ฮังการีได้ใช้นโยบายภาษีที่เรียกว่าภาษีผลิตภัณฑ์สาธารณสุข (PHPT) สำหรับอาหารบรรจุหีบห่อและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและเกลือสูง เช่น น้ำอัดลม ขนมหวาน ขนมขบเคี้ยวรสเค็ม เครื่องปรุงรส และแยมผลไม้ จุดมุ่งหมายของการแนะนำภาษีคือการลดการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของประชาชนฟินแลนด์บังคับให้ติดฉลากในผลิตภัณฑ์ที่มีเกลือสูง

     ในฟินแลนด์ดำเนินกิจกรรมมากมายเพื่อลดเกลือ เช่น บังคับให้มีป้ายเตือนหากผลิตภัณฑ์มีน้ำตาลหรือเกลือเกินเกณฑ์ที่กำหนด เข่น ติดป้าย “ปริมาณเกลือสูง” วิธีนี้มีประสิทธิภาพมากทำให้ปริมาณโซเดียมโดยเฉลี่ยในผลิตภัณฑ์อาหารลดลง 20-25 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว และมีอีกหลายประเทศในละตินอเมริกา เช่น ชิลี เม็กซิโก เปรู อุรุกกวัย และบราซิล ใช้ป้ายเตือนสีดำด้านหน้ากล่องที่ระบุว่า ผลิตภัณฑ์มีไขมัน น้ำตาล หรือ เกลือสูง

     เรื่องนี้ไทยจึงไม่ได้ดำเนินการอย่างโดดเดี่ยว ผู้ประกอบการทั่วโลกต่างได้รับแรงกัดดันในการปรับสูตรผลิตภัณฑ์ให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ทั้งที่เป็นเรื่องยากเพราะเกลือมีบทบาทสำคัญต่อการเก็บรักษาและที่สำคัญคือมีรสชาติที่ถูกปากผู้บริโภค ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องลงทุนเพื่อพัฒนาวิธีการเก็บรักษาแบบใหม่ๆ หรือพัฒนาสารทดแทนเกลือขึ้นมาเพื่อคงรสชาติโดยไม่ทำร้ายร่างกายคนกินนั่นเอง

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

Sequence quotient รู้ว่าต้องทำอะไรก่อน-หลัง เทคนิคผู้บริหารต้องรู้อยากให้ธุรกิจโต

ในช่วงที่ผ่านมาได้เกิดกระแสดราม่าที่ร้อนแรงขึ้นกับคอนเทนต์ของคุณ CK Cheong (ซีเค เจิง) CEO ของ FASTWORK เรื่อง “มุมมองการบริหารเวลา แนะ ต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน แต่ทุกคนมีเวลาเท่ากัน”

มัดรวม 5 ไอเดียประหยัดต้นทุนธุรกิจโรงแรมไซส์เล็ก

ฤดูร้อนมาเยือนแล้ว เป็นอีกหนึ่งไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวฟากฝั่งทะเล จะทำยังไงให้มีรายได้เยอะขึ้น นอกจากการหาลูกค้าเพิ่ม การช่วยลดต้นทุนก็เป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ โดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็กที่ไม่ได้มีเงินทุนมากมาย วันนี้เลยอยากชวนมาลดต้นทุนธุรกิจกับ 5 ไอเดียประหยัดต้นทุนโรงแรมไซส์เล็กกัน

รู้ก่อนเจ๊ง ความปลอดภัยทางไซเบอร์กับอนาคตธุรกิจ 40% ของเป้าหมายอาชญากรรมไซเบอร์ คือ SME

จากข้อมูลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย พบว่า การโจมตีทางไซเบอร์ต่อ SME เพิ่มขึ้น 35% โดยที่ 40% ของเป้าหมายอาชญากรรมไซเบอร์ทั้งหมดในประเทศคือ SME