ความกดดัน กระตุ้นการทำงาน ได้จริงหรือ?

เรื่อง: วันวิสา งามแสงชัยกิจ

 

         ว่ากันด้วยเรื่องความกดดันของการทำงาน ในมุมมองที่ต่างกันระหว่าง “เจ้านาย” และ “พนักงาน”

         ฝั่งพนักงาน “ทำไมเจ้านายต้องกดดันเราซะขนาดนั้น...”

         ในขณะที่ฝั่งเจ้านายหรือเจ้าของกิจการ ก็อาจมองว่า “เครียดเล็กๆ กดดันหน่อยๆ แค่นี้จะเป็นไร งานจะได้เดิน งานจะได้ออกมาดี” หรือบางที “ยิ่งเครียดก็ยิ่งดีนะ”

 

ความเครียดช่วยให้คนทำงานได้ดีขึ้น..จริงหรือ?

            สิ่งที่ผู้ประกอบการในฐานะผู้นำองค์กรคิดอาจจะไม่ได้เกินจริงไปทั้งหมด เมื่องานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย - เบิร์กลีย์ ชี้ให้เห็นว่า ความเครียดบางอย่างก็สามารถช่วยให้คนทำงานได้ดีขึ้นจริง

  • ในปี 2013 นักวิจัยได้ทดลองฉีดสเต็มเซลล์ในสมองของหนู
  • ทำให้มีความเครียดเกิดขึ้นทันที เรียกว่า Acute Stress หรือ “เครียดเป็นระยะเวลาสั้นๆ”
  • ส่งผลให้เกิดการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมา
  • 2 สัปดาห์ต่อมาหลังจากเซลล์ใหม่เติบโตเต็มที่ หนูมีความตื่นตัว พร้อมเรียนรู้ และมีความจำที่ดีขึ้น

 

ข้อสรุปจากนักวิจัย : ความเครียดที่เกิดขึ้นแบบทันที สามารถช่วยให้สมองตื่นตัว ซึ่งการตื่นตัวที่ดีขึ้นเช่นนี้จะนำมาสู่ประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้นนั่นเอง

          ในขณะที่ การทดลองด้านการตอบสนองต่อความเครียดในมนุษย์ของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย – ซานฟรานซิสโก ชี้ให้เห็นอีกว่า

  • ความเครียดเรื้อรัง เป็นตัวบ่อนทำลายกัดกร่อนจิตใจ
  • ความเครียดสั้นๆ หรือเฉียบพลันทันทีเพียงเล็กน้อย จะทำให้สมองของเรามีความยืดหยุ่นและสามารถทำให้เราอดทนต่อความกดดันต่างๆ ได้

 

เครียดแค่ไหนถึงจะพอ..และไปต่อได้

         อย่างไรก็ตาม ปัญหาโลกแตกที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ก็คือ “การหาตรงกลางระหว่างกันไม่เจอ” เพราะฉะนั้น การโดนกดดันอยู่เสมอจนนำไปสู่ความเครียดที่กัดกินทั้งร่างกายและจิตวิญญาณของคนทำงาน จึงกลายเป็นโจทย์แห่งความท้าทายที่เจ้าของธุรกิจต้องหาคำตอบให้เจอ นั่นก็เพราะ

  • 1 ใน 4 ของพนักงานมองว่า งานของพวกเขานั้นเป็นความเครียดอันดับหนึ่งในชีวิต
  • 3 ใน 4 ของพนักงานปัจจุบันเชื่อว่า โดยเฉลี่ยของคนทำงานตอนนี้มีความเครียดในงานมากกว่าคนรุ่นก่อน
  • ความเครียดในสถานที่ทำงานทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 125 – 190 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
  • 65% บอกว่าความเครียดในที่ทำงานทำให้เกิดปัญหา และมากกว่า 10% ระบุว่าสิ่งเหล่านี้มีผลกระทบที่สำคัญ
  • 29% เคยตะโกนใส่เพื่อนร่วมงานเพราะความเครียดในที่ทำงานมาแล้ว
  • เกือบ 1 ใน 5 ของคนลาออกจากตำแหน่งเดิมเนื่องจากความเครียดจากงาน และเกือบ 1 ใน 4 ต้องเสียน้ำตาเพราะความเครียดในที่ทำงาน

 

       ที่สำคัญความกดดันหรือความเครียดที่มากเกินไปยังเป็นตัวลด Productivity ในการทำงาน ทำให้คนสูญเสียพลังงาน ไม่มีสมาธิ ลดทอนความคิดสร้างสรรค์ สร้างความเบื่อหน่ายและภาวะหมดไฟในการทำงาน สุขภาพกายย่ำแย่ สภาพจิตใจตกต่ำ จนสุดท้ายแล้วก็ต้องแยกทางกัน (แบบไม่เผาผี) ดีไม่ดียังดีดให้องค์กรมีอัตรา Turnover ของพนักงานสูงลิ่วก็ได้

        ดังนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่คนทำงานร่วมกันต้องร่วมกันหาตรงกลางและความพอดีระหว่างกันให้เจอ  

 

อ้างอิง:

https://www.fastcompany.com/3064562/sorry-but-some-work-related-stress-is-good-for-you

https://www.linkedin.com/pulse/moody-boss-anxious-employees-lower-engagement-upasana-dhanda

https://www.business.com/articles/stress-and-productivity-what-the-numbers-say/

https://www.cdc.gov/niosh/docs/99-101/

https://www.stress.org/workplace-stress

 

 

www.smethailandclub.com

ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

ESG จะเปลี่ยนความเสี่ยงเป็นโอกาสธุรกิจได้อย่างไร

แม้คำว่า ESG (Environment, Social, Governance) จะฟังดูเป็นเรื่องใหญ่โตและต้องใช้เงินลงทุน แต่แท้จริงแล้วเอสเอ็มอี ก็สามารถทำได้ เพราะนี่คือโอกาสและความท้าทายครั้งสำคัญในการดำเนินธุรกิจ   

4 เครื่องมือช่วย “ตัดสินใจ” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า

หากมีทางเลือกอยู่หลายทาง แล้วทางไหนจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ และข้อผิดพลาดน้อยที่สุด SME Thailand เลยอยากจะแนะนำเครื่องมือที่ช่วยให้การตัดสินใจที่มีความรอบคอบและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด