เงินไม่ใช่ปัจจัยเดียว ที่ลูกน้องอยากลาออกนะจ๊ะ นายจ๋า




           ขอนำเสนอภาคต่อของ The Great Resignation จากที่ได้เคยนำเสนอไปใน ส่อเค้าวุ่น ปัญหาแรงงานขาดระบาดทั่วโลก ญี่ปุ่นต้องพึ่งคนอายุ 80 กลับเข้าทำงาน ถึงวิกฤตการขาดแคลนแรงงานอย่างหนักในประเทศยักษ์ใหญ่ของโลก ซึ่งหนึ่งวิธีที่หลายแบรนด์นำมาแก้ไขปัญหาอย่างแรงด่วน คือ การขึ้นค่าแรงเพื่อจูงใจพนักงานให้กลับมาทำงาน โดยมองข้ามหรือลืมนึกถึงสาเหตุที่แท้จริงว่าเหตุใดพนักงานเหล่านั้นจึงชิงลาออกทั้งที่ก็ยังไม่มีงานใหม่รองรับ และนี่คือ เหตุผลที่ทำให้พวกเขาลาออกกัน


            McKinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการ ได้ทำการศึกษาปรากฏการณ์ Great Attrition - การลาออกจำนวนมากของพนักงาน หรือรู้จักกันดีในอีกชื่อ คือ “The Great Resignation” โดยพบว่าตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาแรงงานในสหรัฐฯ มากกว่า 19 ล้านคนและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ตัดสินใจลาออกจากงานจำนวนมาก โดยเหตุผลกลับไม่ใช่เพราะผลตอบแทนรายได้น้อยอย่างที่นายจ้างหลายคนเข้าใจ แต่กลับมาจากความต้องการภายใน ซึ่งบางครั้งอาจเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในการทำงาน เช่น ความเป็นอิสระและความยืดหยุ่นในการทำงานที่ไม่อยากทำงานเต็มรูปแบบเต็มเวลาเท่านั้น ดังนั้นการพยายามแห่ขึ้นค่าแรงเพื่อจูงใจพนักงานอย่างที่ทำอยู่ในขณะนี้ จึงอาจเป็นวิธีที่สวนทางกันและไม่มีประสิทธิภาพแก้ไขปัญหาที่แท้จริงได้นั่นเอง
               




        จากผลสำรวจความคิดเห็นจากเหล่าพนักงานกลับพบว่า 40 เปอร์เซ็นต์นั้น มีแนวโน้มที่จะลาออกใน 3 – 6 เดือนข้างหน้า และ64 เปอร์เซ็นต์คิดจะลาออกทั้งที่ยังไม่มีงานใหม่ โดยเป็นการสำรวจความคิดเห็นจากการสุ่มตัวอย่างเหล่าพนักงานใน 5 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา


          โดยพบว่าธุรกิจในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดที่จะสูญเสียพนักงานไป ก็คือ ภาคธุรกิจการบริการ เช่น พนักงานร้านอาหาร พนักงานให้บริการดูแลสุขภาพ โดยพนักงานในสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มการลาออกมากที่สุดกว่าเพื่อน และเป็นที่น่าตกใจว่ากว่า 42 เปอร์เซ็นต์นั้นมาจากเหล่าพนักงานที่ปฏิบัติงานด้านการดูแลสุขภาพและความช่วยเหลือทางสังคม เหตุเพราะแรงกดดันที่ต้องเห็นการสูญเสียจากผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดนั่นเอง


           สำหรับพนักงานที่ยังทำงานอยู่บอกว่า 65 เปอร์เซ็นต์ เป็นเพราะพวกเขาชอบที่อยู่อาศัยปัจจุบัน ในขณะที่กว่าร้อยละ 90 ของพนักงานที่ลาออกไปในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา กลับตอบว่าเหตุผลที่ตัดสินใจลาออกส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาไม่มีปัญหาเรื่องการย้ายที่อยู่อาศัย เนื่องบริษัทใหม่ที่เข้าทำงานด้วยยอมให้ทำงานทางไกลได้


           นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่าปัจจัยแท้จริง 3 อันดับแรกที่ทำให้พวกเขาอยากลาออก ได้แก่ 54 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่ากับองค์กรหรือหัวหน้างาน, 52 เปอร์เซ็นต์ ไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในที่ทำงาน และ 51 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกไม่มีตัวตนอยู่ในบริษัท โดยเฉพาะพนักงานผิวสี
               


           

           โดยเมื่อทำการสำรวจไปยังนายจ้างหรือหัวหน้างานกลับพบว่า 38 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าพนักงานลาออก เพราะค่าตอบแทนที่น้อยกว่า ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่พวกเขาเลือกแก้ปัญหาด้วยการขึ้นค่าแรงให้ แต่ความจริงแล้วจากผลสำรวจรวมกลับพบว่าปัจจัยที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจลาออกเลย ก็คือ 52 เปอร์เซ็นต์ เพราะไม่เชื่อมั่นในหัวหน้างาน และ 51 เปอร์เซ็นต์ ลาออก เพราะไม่เชื่อมั่นในงานที่ทำอยู่ว่าจะสามารถพัฒนาความสามารถหรือคุณภาพชีวิตพวกเขาให้ดีขึ้นได้นั่นเอง


         นอกจากนี้การเพิ่มค่าแรงหรือผลประโยชน์ทางการเงิน เช่น โบนัส ให้ โดยไม่เคยพูดคุยหรือสอบถามสาเหตุที่แท้จริงของการลาออกทำให้แทนที่จะรู้สึกดีใจหรือขอบคุณ พวกเขากลับรู้สึกคล้ายกับการแลกเปลี่ยนบางอย่างมากกว่า คือ ไม่อยากให้ลาออก ก็ขึ้นเงินให้ โดยไม่ได้แสดงถึงความจริงใจหรือเห็นความสำคัญของพวกเขาที่มีต่อองค์กรให้เห็นเลย ดังนั้นจึงไม่ได้มีเหตุผลอะไรที่พวกเขาจะต้องอยู่ต่อ



               

          ดังนั้นแล้วนี่จึงเป็นอีกบทเรียนให้ผู้ประกอบการต้องกลับไปคิดทบทวนตนเองว่า เพราะเหตุใดหลังเหตุการณ์วิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่นี้ได้เกิดขึ้น พนักงานจึงตัดสินใจลาออกกันเป็นจำนวนมาก ในไทยหรือประเทศโซนเอเชียเองอาจยังไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตมากเท่ากับประเทศฝั่งอเมริกาหรือยุโรป แต่ก็มีหลายบริษัทที่เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของเหล่าพนักงานได้ โดยจากรายงานชี้ให้เห็นว่าต่อไปนี้พนักงานอาจจะมีความอดทนเพียงเล็กน้อย สำหรับการกลับไปสู่สภาวะเป็นอยู่ที่พวกเขาไม่ชอบมาก่อน


          วิกฤตจากโรคระบาดครั้งใหญ่ได้เปลี่ยน Mindset ของคนทำงานไปค่อนข้างมาก ดังนั้นผู้ประกอบการเองก็ควรใช้วิกฤตนี้ เพื่อปรับปรุงตนเอง ปรับปรุงองค์กร ลองถอยออกมาฟัง ดู และเรียนรู้ ทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น บางครั้งการแสดงออกเล็กๆ น้อยๆ เช่น ที่จอดรถฟรี พื้นที่กิจกรรมสันทนาการ ก็อาจเป็นสิ่งช่วยผูกมัดใจพนักงานให้อยู่กับเราได้อย่างมีความสุข และยาวนานขึ้นได้นั่นเอง



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

Quiet Quitting เวอร์ชั่นใหม่จากจีน! ประท้วงแบบใหม่ แบบสับ แห่แต่งชุดไม่เหมาะสมไปทำงาน เรียกร้องสวัสดิภาพที่ดี

“Quiet Quitting” หรือ “การลาออกเงียบ” เทรนด์การทำงานของคนยุคนี้ที่มีการพูดถึงกันมากเมื่อช่วง 2 ปีก่อน ล่าสุดคนรุ่นใหม่ หรือ คน Gen Z ต่างหันมาแต่งตัวไปทำงานด้วยชุดที่ไม่เหมาะสม เช่น การสวมชุดที่ดูคล้ายชุดนอนมาทำงาน, การแต่งกายด้วยชุดเวอร์วัง อย่างเสื้อคลุมขนสัตว์ที่ดูรุ่มร่าม เป็นต้น โดยมองว่าไม่ได้ทำผิดกฎอะไร แค่อยากแสดงออกเชิงสัญญาลักษณ์เฉยๆ

ไม่อยากเจ๊งต้องอ่าน รวมทางออกให้ธุรกิจไปต่อ ยามเจอวิกฤตเศรษฐกิจเลวร้าย

ความท้าทายไม่เคยขาดหายไปสำหรับผู้ประกอบการ SME ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเศรษฐกิจถดถอย แต่ทุกปัญหาล้วนมีทางออกเสมอสำหรับผู้ที่มีวิสัยทัศน์และยืนหยัดด้วยปรัชญาที่ถูกต้อง

5 หนังครอบครัวฟีลกู้ด ที่คนทำธุรกิจควรดู

เพราะครอบครัว คือ รากฐานสำคัญของทุกอย่าง หลายธุรกิจแจ้งเกิดเติบโตประสบความสำเร็จได้  เนื่องในวันครอบครัว 14 เมษายนนี้ เลยอยากชวนมาดู 5 หนังเรื่องราวธุรกิจที่มีความอบอุ่นของครอบครัวเป็นแรงผลักดันจนสำเร็จมาฝากกัน