เปิดไม้ตายวิธีรับมือลูกน้องสุดแสบ มาแบบไหนก็จัดการได้ ไม่ต้องปวดหัวอีกต่อไป

TEXT : กองบรรณาธิการ
 


             
     เพราะทรัพยากรบุคคล คือ ปัจจัยสำคัญที่สุดอีกหนึ่งอย่างในการขับเคลื่อนองค์กรธุรกิจให้เติบโตขึ้นมาได้ แต่ขณะเดียวกันก็อาจเรียกว่าเป็นปัญหาในการบริหารจัดการและแก้ไขได้ยากที่สุดเช่นกัน อย่างที่หลายคนมักพูดว่า ปัญหาที่ยากที่สุดในการทำธุรกิจ ก็คือ เรื่องคน ดังนั้นแล้วจึงอาจต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เพราะแต่ละบุคคลก็มีบุคลิกและอุปนิสัยที่แตกต่างกันไป ลูกน้องแบบไหนต้องรับมือยังไง ทำยังไงให้เกิดการยอมรับขึ้นมาได้ ลองไปดูพร้อมกัน
 




  • ลูกน้องหัวรั้น

             
     บ่อยครั้งที่คุณอาจสั่งงานไปแล้ว แต่ลูกน้องเลี่ยงที่จะไม่ทำตามหรือปฏิบัติตามคำสั่ง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาได้จากหลายปัจจัย เช่น ไม่เข้าใจในงานที่สั่ง ไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง ไปจนถึงไม่ศรัทธาและยอมรับในหัวหน้างานนั้นๆ วิธีการบริหารจัดการลูกน้องประเภทนี้ คือ อาจต้องใช้การเผด็จการบ้างในบางครั้ง รวมถึงพยายามสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นที่ยอมรับ การเสียสละ การทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง สิ่งนี้จะค่อยๆ ช่วยให้ลูกน้องของคุณเห็นถึงศักยภาพและเปิดใจยอมรับ ยอมที่จะปฏิบัติตามสิ่งที่ได้รับมอบหมายไป
 




  • ลูกน้องที่มั่นใจในตัวเองสูง

             

     คิดว่าตนเองเก่ง ฉลาด และมีความรู้มากกว่าคนอื่น เป็นคนสำคัญของบริษัท หากขาดเขาไปแล้วอาจสร้างความเสียหายให้แก่บริษัทได้ ลูกน้องประเภทนี้อาจสร้างประโยชน์ให้กับบริษัทได้มากกว่าก็จริงอยู่ แต่การที่ไม่เกรงใจใคร ทำตัวโอ้อวดเก่งกว่าคนอื่น บางครั้งอาจสร้างให้เกิดปัญหาในการทำงานร่วมกันได้ ไปจนถึงไม่เคารพต่อหัวหน้า วิธีการแก้ไขรับมือลูกน้องประเภทนี้ให้อยู่หมัด ก็คือ การแสดงความสามารถและฝีมือให้เห็น เพื่อให้เกิดการยอมรับ ขณะเดียวกันก็ต้องกล้าวิจารณ์และปฏิเสธไอเดียตามหลักเหตุและผลที่เป็นจริง ดีก็ว่าไปตามดี ไม่ดีก็อธิบายให้เข้าใจ

  • ลูกน้องที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง

             

     สำหรับลูกน้องประเภทนี้จะตรงกันข้ามกับประเภทที่กล่าวมาเลย ซึ่งความจริงแล้วอาจเป็นคนที่มีความสามารถ แต่ขาดความมั่นใจในตัวเอง กังวล และกลัวไปหมด ทำตามคำสั่งเพียงอย่างเดียว ไม่ค่อยชอบคิดนอกรอบ สิ่งที่ต้องทำสำหรับลูกน้องประเภทนี้ ก็คือ การสนับสนุนให้กำลังใจ ส่งเสริมหรือหาโอกาสให้งานที่ท้าทายมากขึ้น ยกย่องและชมเชยถ้ามีผลงานที่ดี ถึงอาจไม่สำเร็จในครั้งนี้ ครั้งหน้าค่อยเอาใหม่ก็ได้ การทำแบบนี้บ่อยๆ จะทำให้ลูกน้องกล้าที่จะแสดงออกมากยิ่งขึ้น
 




  • ลูกน้องที่แก่กว่า

    
         
     นับเป็นปัญหาอีกข้อที่เวลาผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้ามีอายุอ่อนกว่าลูกน้อง ไม่ว่าจะตามอายุจริง หรืออายุงานก็ตาม มักไม่ได้รับการยอมรับเชื่อฟังจากลูกน้อง เพราะมองว่าเด็กกว่า ซึ่งเป็นปกติธรรมดาของสังคมคนโซนเอเชียอยู่แล้วที่เด็กมักต้องนับถือผู้ใหญ่ที่แก่กว่า วิธีการที่จะช่วยทำให้คุณผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ก็คือ การให้เกียรติในฐานะผู้ที่มีอายุน้อยกว่า แต่ขณะเดียวกันก็ต้องแสดงความเป็นผู้นำที่ชัดเจนและเด็ดขาดในเรื่องที่ต้องตัดสินใจ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่มี รวมถึงสร้างความเป็นกันเอง สิ่งเหล่านี้จะช่วยๆ ให้ลูกน้องเกิดการยอมรับในตัวผู้นำขึ้นมาได้
 

  • ลูกน้องช่างประจบ

             

     หรือเรียกง่ายๆ ว่า ปากหวานก้นเปรี้ยว เอาตัวรอดจากการประจบประแจงหรือเอาหน้าไปวันๆ อาจมีนิสัยชอบนินทาร่วมด้วย สิ่งที่ต้องทำเมื่อเจอกับลูกน้องประเภทนี้ ก็คือ ทำตัวเป็นสายกลาง ให้ความยุติธรรมกับทุกคน ไม่เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง พิจารณางานตามผลงานจริงที่เกิดขึ้น มิใช่เพราะความเสน่หา วิธีนี้นอกจากจะทำให้ลูกน้องช่างประจบไม่สามารถทำอะไรคุณได้แล้ว ยังได้ใจลูกน้องคนอื่นๆ ไปเต็มๆ ด้วยที่ได้เห็นความยุติธรรมจากหัวหน้างานหรือผู้บังคับบัญชา
 




  • ลูกน้องขี้โม้

             

     ลูกน้องประเภทนี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะดีแต่พูดมาก่อน คือ รับปากไว้ก่อน หรือพูดไอเดียนำเสนอไว้ซะสวยหรู แต่สุดท้ายไม่มีความรับผิดชอบ หรือทำตามอย่างที่พูดไว้ให้สำเร็จ สิ่งที่คุณต้องจัดการกับลูกน้องประเภทนี้ คือ ขอความชัดเจน โดยวางกรอบการทำงานที่แน่นอน วางตารางอัพเดตความคืบหน้า กำหนดการส่งงานโดยระบุวัน เวลาเอาไว้ เพื่อให้เป็นข้อผูกมัดเป็นคำสัญญา ไม่ใช่แค่พูดลอยๆ โดยก่อนที่จะถึงระยะเวลาในการนำส่งชิ้นงานนั้นคุณอาจต้องติดตามและถามไถ่ความคืนหน้าอยู่เรื่อยๆ ด้วย เพื่อแสดงถึงความใส่ใจและจริงจังที่อยากให้ทำขึ้นมาให้สำเร็จ อย่าปล่อยให้ถึงกำหนด เพราะหากไม่สามารถทำได้ หรือทำไม่ทันจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที
 





  • ลูกน้องที่ไม่เก่ง แต่มีความซื่อสัตย์

      

     สิ่งที่ทุกองค์กรมักต้องการมากที่สุด คือ คนซื่อสัตย์ แต่หลายครั้งที่คนซื่อสัตย์มักไม่ได้เก่งหรือได้ดั่งใจเราเสมอไป สิ่งที่ต้องจัดการกับลูกน้องกลุ่มนี้ ก็คือ พยายามสร้างทักษะองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้ เพื่อให้เกิดความชำนาญ และพัฒนาฝีมือในการทำงานให้มากขึ้น ไปจนถึงการให้กำลังใจ เพราะอย่างไรเสียเขาก็เป็นคนที่มีความหวังดีกับองค์กร หากเราสามารถพัฒนาให้เป็นคนมีฝืมือขึ้นมาได้ เรียกว่าทั้งดีและเก่งได้ คุณอาจได้สุดยอดพนักงานเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งคนเลยทีเดียว
             

     และนี่คือ วิธีรับมือลูกน้องแต่ละประเภท เพื่อวางรากฐานองค์กรให้เข้มแข็ง นำไปสู่ชัยชนะการแข่งขันทางธุรกิจได้ราบรื่นต่อไปนั่นเอง
 


 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

ESG จะเปลี่ยนความเสี่ยงเป็นโอกาสธุรกิจได้อย่างไร

แม้คำว่า ESG (Environment, Social, Governance) จะฟังดูเป็นเรื่องใหญ่โตและต้องใช้เงินลงทุน แต่แท้จริงแล้วเอสเอ็มอี ก็สามารถทำได้ เพราะนี่คือโอกาสและความท้าทายครั้งสำคัญในการดำเนินธุรกิจ   

4 เครื่องมือช่วย “ตัดสินใจ” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า

หากมีทางเลือกอยู่หลายทาง แล้วทางไหนจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ และข้อผิดพลาดน้อยที่สุด SME Thailand เลยอยากจะแนะนำเครื่องมือที่ช่วยให้การตัดสินใจที่มีความรอบคอบและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด