โควิด-19 ทำให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง แต่เลือดนักสู้ของ SME คอยย้ำเตือนว่า ต่อให้จะเจอโจทย์หนักหนาแค่ไหน ธุรกิจก็ต้องไปต่อ หลายคนเลยหาวิธีที่จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ซึ่งหนึ่งในหนทางต่อสู้ก็คือ “การสร้างธุรกิจใหม่ในธุรกิจเดิม” เหมือนที่ผู้ประกอบการหลายๆ รายในวันนี้ทำได้
เช่น การเปลี่ยนจากธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจอาหาร การพลิกจากร้านอาหารมาทำสินค้าสำเร็จรูปด้วยเมนูในร้านของตัวเอง ธุรกิจฟิตเนสพลิกมาเปิดสอนออนไลน์ ฟาร์มท่องเที่ยวที่เปิดท่องเที่ยวไม่ได้ ก็นำของในฟาร์มมาแปรรูปและทำแบรนด์ขายออนไลน์ อย่างนี้เป็นต้น
หลายคนอยากทำ แต่ไม่จำเป็นต้องเดินตามความสำเร็จของคนอื่น เพราะคุณก็สร้างสรรค์ธุรกิจในแบบคุณเองได้ วันนี้เราจึงมีสูตรง่ายๆ ที่จะเป็นแนวทางให้ SME สร้างธุรกิจใหม่ในธุรกิจเดิม และแน่นอนว่าแนวทางเหล่านี้หลายคนใช้และทำสำเร็จมาแล้ว
ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม แต่ให้เริ่มจากของที่มี (ความรัก-ทักษะ-ความเชี่ยวชาญ)
หลายคนอาจคิดว่าการจะทำธุรกิจใหม่ๆ หรือออกสินค้าอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาสักอย่าง จะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล แล้วใครกันอยากจะลงทุนท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ แต่รู้หรือไม่ว่าหลายธุรกิจใหม่ไม่ได้ใช้เงินทำ แต่สามารถใช้ “ต้นทุน” ที่ธุรกิจเดิมของเรามี ต้นทุนที่ว่ามีตั้งแต่พนักงานที่เรามี เครื่องมือเครื่องไม้ที่เราใช้ในธุรกิจเดิม ทรัพยากรรอบตัวที่มีอยู่แต่เราไม่เคยคิดจะนำมาใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น โรงแรมที่มีพื้นที่บริการอาหารเช้า มีพนักงานที่ทำอาหารบริการแขกอยู่แล้ว ก็สามารถปรับมาขายอาหารเดลิเวอรีในช่วงที่เกิดวิกฤตไร้นักท่องเที่ยวได้ เป็นการใช้ทรัพยากรที่โรงแรมมีมาก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อีกต้นทุนที่สำคัญ และหลายคนเลือกใช้เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ก็คือการใช้ทักษะความเชี่ยวชาญของตัวเอง รวมถึงความรักในบางสิ่งบางอย่าง ในอดีตเราอาจไม่เคยนำสิ่งเหล่านี้มาใช้เพราะต้องโฟกัสกับธุรกิจเดิมเป็นหลัก แต่ในยามวิกฤต ทักษะ ความเชี่ยวชาญ หรือแม้แต่ความรักในอะไรบางอย่างเหล่านี้ อาจเป็นหนทางที่จะทำให้คุณค้นพบวิธีสร้างธุรกิจใหม่ในธุรกิจเดิมก็เป็นได้
เช่น SME หลายรายที่วันนี้กลายมาเป็นคนดังในโลกโซเชียล จากคนทำงานเบื้องหลัง เก่งแต่ผลิตสินค้าขาย ก็กลายมาเป็นพ่อค้าแม่ค้าไลฟ์สดขายสินค้า และเริ่มสนุกไปกับมัน ทักษะใหม่ที่ซ่อนเร้นเลยกลายเป็นทางออกให้กับธุรกิจ เมื่อสินค้ายังคงขายได้ แถมยังได้ฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาจากผู้ติดตามบนโซเชียลอีกด้วย
บางคนทำธุรกิจอย่างหนึ่งอยู่ แต่ชื่นชอบในบางอย่าง เช่น ชอบทำอาหาร ชอบปลูกต้นไม้ รักการออกแบบ เชี่ยวชาญในเรื่องอุปกรณ์ออกกำลังกายจากการมีไลฟ์สไตล์ที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย เป็นต้น ก็สามารถนำสิ่งเหล่านี้มาเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ โดยการพัฒนาจากสิ่งที่รักพลิกมาเป็นธุรกิจใหม่ได้
ไม่ต้องไปทำสิ่งที่ไกลตัว แต่ให้ต่อยอดไปจากธุรกิจเดิม
หนึ่งในหนทางสร้างธุรกิจใหม่ในธุรกิจเดิมที่จะช่วยลดความเสี่ยง ช่วยให้เราโฟกัส และลดความเจ็บตัวในการทำธุรกิจใหม่ได้คือ การต่อยอดธุรกิจจากสิ่งเดิมที่มี โดยไม่ต้องกระโดดไปทำเรื่องไกลตัว หรือไม่เชี่ยวชาญ แม้ธุรกิจนั้นกำลังเป็นกระแสหรือคนอื่นทำสำเร็จมาแล้วก็ตาม แต่การที่คุณขาดความเข้าใจและไกลตัวเกินไป ก็อาจทำให้คุณพลาดและไม่ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน
แล้วจะทำอย่างไรถึงจะมองเห็นได้ชัดว่า เราจะต่อยอดอะไรไปจากธุรกิจเดิม หนึ่งในวิธีที่ SME นักพลิกวิกฤตใช้คือ ดูปัญหาธุรกิจเดิมที่มี และหาทางปรับปรุง พัฒนา หรือจัดการแก้ไขปัญหานั้น เช่น ผลิตภัณฑ์เดิมของเราเป็นสินค้าอาหารที่มีอายุการเก็บรักษาสั้น (Shelf Life) ในวันที่เกิดสถานการณ์วิกฤต หน้าร้านประจำเกิดปิดไป ขายสินค้าไม่ได้ หรือคนเดินน้อยลง ทำให้สินค้าเสียหาย การต่อยอดธุรกิจเดิมก็อาจเริ่มจากการแก้ปัญหาเหล่านั้น เช่น ปรึกษาหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาวิธียืดอายุสินค้า หรือในกระบวนการผลิตของเรามีของเสียระหว่างทางจำนวนมาก ไม่แน่ว่าธุรกิจใหม่ของเราอาจเกิดจากการนำของเสียเหล่านั้นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ก็ได้ เช่น ฟาร์มเลี้ยงไก่ ที่นำมูลไก่และเปลือกไข่มาทำเป็นกระถางต้นไม้ย่อยสลายได้เป็นต้น แทนที่จะขายแค่ไข่ ก็มีผลิตภัณฑ์อย่างกระถางรักษ์โลก ที่ตอบโจทย์คนยุคโควิดซึ่งหันมาปลูกต้นไม้กันมากขึ้น กลายเป็นโอกาสใหม่ให้กับธุรกิจเดิมได้อีกทางด้วย
หาความรู้เพิ่มเติมจากผู้รู้ แหล่งข้อมูลออนไลน์และออฟไลน์
แม้จะเริ่มจากความรัก ทักษะและความเชี่ยวชาญ หรือสิ่งใกล้ๆ ตัวก็จริง แต่ใช่ว่าเราจะต้องพึ่งพาแค่ตัวเองเท่านั้น เพราะการทำของใหม่อย่างไรก็มีหลายสิ่งที่เรายังไม่รู้ ฉะนั้นการหาความรู้เพิ่มเติมยังเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งปัจจุบันมีองค์ความรู้มากมายให้ SME เข้าถึงโดยไม่ต้องไปหาอะไรไกลตัว เพียงแค่เปิดสื่ออย่าง YouTube ก็มีแทบทุกคำตอบอยู่ในนั้น แม้แต่การทำนวัตกรรมที่ว่ายาก ใน YouTube ก็ยังมีวิธีให้ศึกษา SME Thailand มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ประกอบการหลายราย ที่เริ่มธุรกิจจากอาจารย์ที่ชื่อ Google และ YouTube ตั้งแต่การแปรรูปสินค้าอย่างง่ายๆ ไปจนการพัฒนาเครื่องจักรที่มาแก้ปัญหาในธุรกิจ ทั้งหมดนี้มีให้เรียนรู้ด้วยตัวเอง เพียงแค่ผู้ประกอบการไม่ปิดกั้นที่จะไขว่คว้าหาความรู้เท่านั้น
นอกจากเรียนรู้เอง การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งคำว่าผู้เชี่ยวชาญในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงอาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญในหน่วยงานต่างๆ เท่านั้น เพราะความเชี่ยวชาญบางอย่างแม้ไม่มีตำแหน่งทางวิชาการ แต่ประสบการณ์ของคนเหล่านั้นก็พร้อมให้เราเรียนรู้ได้ เช่น พ่อค้าแม่ค้าที่ค้าขายอยู่ในตลาดสด ย่อมเชี่ยวสนามตลาดสด คุ้นเคยและเข้าใจผู้ซื้อในตลาดสดได้ดีกว่าใครอื่น หากอยากจะลองเปิดขายออนไลน์ เพื่อนของคุณที่ช้อปเก่งโอนไว ก็อาจเป็นกูรูที่จะช่วยบอกความลับของการขายออนไลน์ให้ได้ใจลูกค้ากับคุณก็ได้ ฉะนั้นขอแค่วิเคราะห์ให้ออกว่าองค์ความรู้แบบไหนที่คุณจำเป็นต้องรู้เพิ่มเติม หรือยังขาดความเข้าใจ ก็ให้ไปหาคำตอบจากคนที่ใช่ที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ
ลงมือทำ ถ้ายังไม่ใช่ก็แค่ปรับเปลี่ยน เรียนรู้เอาระหว่างทาง
สิ่งสำคัญที่สุดของการสร้างธุรกิจใหม่ในธุรกิจเดิม คือการ “ลงมือทำ” และเรียนรู้เอาระหว่างทาง เพราะถ้าคุณยังไม่กล้า ไม่เริ่ม หรือกลัวความล้มเหลว สิ่งใหม่ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้แน่นอน และต่อให้ทุกอย่างไม่เป็นไปอย่างที่คิด ติดอุปสรรคมากมาย แต่นั่นก็คือสิ่งที่คุณต้องเรียนรู้และปรับตัว เลือดนักสู้ของคุณจะทำให้คุณค้นพบทางออกได้เอง
อย่างผู้ประกอบการที่อยากผลิตสินค้าของตัวเอง ลองพัฒนาเครื่องยืดอายุสินค้าแบบง่ายๆ จนสามารถทำแบรนด์ของตัวเองออกมาขายได้สำเร็จ แต่ปรากฎว่าสินค้านั้นกลับไม่ได้รับการตอบรับในตลาดเท่าที่ควร แต่ทว่ามีธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้น นั่นคือบริการรับยืดอายุสินค้าให้กับผลิตภัณฑ์ของ SME ที่มีความต้องการอย่างมากในยุคนี้ ผู้ประกอบการรายดังกล่าวจึงขยายธุรกิจมาเป็นบริการรับยืดอายุสินค้า ก่อเกิดเป็นโอกาสธุรกิจใหม่ และสร้างรายได้ให้อย่างดีในวิกฤต
ไม่ใช่ว่าสิ่งแรกที่คุณทำจะประสบความสำเร็จเสมอ แต่ต้องอาศัยการเรียนรู้ลองผิดลองถูก ที่สำคัญคือต้องลงมือทำ เพราะถ้ายังกลัวกับความล้มเหลวหรือไม่กล้าเปลี่ยน การสร้างธุรกิจเดิมในธุรกิจใหม่ของคุณก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้แน่นอน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี