คนอาจสงสัยว่าผู้นำมีความสำคัญอย่างไรในสถานการณ์ที่ยุ่งเหยิง วุ่นวาย ไม่แน่นอน และถูกแทรกแซงด้วยปัจจัยต่างๆ ทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ อย่างเช่น กรณีโรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ปัจจุบันนี้ เป็นต้น
โควิดเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของบททดสอบนี้ เมื่อวิกฤตผ่านไป ความสับสนวุ่นวายอื่นในรูปแบบใหม่ๆ ก็จะเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน เพียงแต่รายละเอียดและผลกระทบอาจแตกต่างกันไปตามยุคตามสมัย
ผู้นำหลายคน เมื่อตกอยู่ในสภาพการณ์เช่นนี้ ความคิดก็เริ่มตีบตัน สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ไม่ค่อยได้ จมอยู่กับแนวทางและวิธีการเดิมๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะอัตราความเร็วในการเปลี่ยนแปลงของโลกสูงกว่าอัตราความเร็วในการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของมนุษย์หลายเท่า
Robert Kegan และ Lisa Lahey ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดไว้หนังสือของพวกเขาที่ชื่อว่า “Immunity to Change” ซึ่งเปรียบเปรยให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นว่า ความสามารถของคอมพิวเตอร์มีสมรรถนะเพิ่มสูงขึ้นเป็นล้านๆ เท่าตั้งเเต่ปี 1950 ในขณะที่สมองของมนุษย์ยังคงทำงานเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ดังนั้นการเป็นผู้นำให้ประสบความสำเร็จภายใต้สถานการณ์แห่งความไม่แน่นอนเช่นนี้ จำเป็นต้องมีวิธีการรับมือที่แยบยล และนี่คือ 6 กลยุทธ์ที่จะช่วยติดอาวุธให้กับผู้นำในโลกยุคปัจจุบัน
1. จงยอมรับว่าความแน่นอนคือความไม่เเน่นอน
ร่างกายและสมองของมนุษย์ถูกออกแบบมาให้รู้สึกเครียดและตื่นตัว เมื่อต้องพบเจอกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นชิน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไม คนส่วนใหญ่จึงพยายามหลีกเลียงที่จะเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงและความสับสนวุ่นวายที่ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ แต่ถ้าเราทำความเข้าใจว่า “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน” การตัดสินใจเผชิญหน้ากับมัน จะทำให้เรามีโอกาสเรียนรู้และเติบโต Satya Nadella ซีอีโอของไมโครซอฟ กล่าวไว้ว่า ผู้นำควรเปลี่ยนความคิดจาก “รู้แล้ว” (Know it all) เป็น “เรียนรู้” (Learn it all) เพื่อช่วยลดความรู้สึกวุ่นวายในใจลง เพราะบางทีเราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง แต่เราสามารถเรียนรู้ทุกเรื่องที่ไม่รู้ได้
2. แยกแยะความแตกต่างระหว่าง “ความยุ่งยาก” (Complicated) กับ “ความซับซ้อน” (Complex) ออกจากกัน
คนส่วนใหญ่อาจสับสนระหว่างความยุ่งยากกับความซับซ้อน แต่จริงๆ แล้วสองคำนี้ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น กฎหมายเกี่ยวกับภาษี อาจมีลักษณะทางเทคนิคสูงและเข้าใจยาก แต่ก็มีคำเฉลยหรือคำตอบที่ถูกต้อง หากเราแบ่งแยกเนื้อหาออกเป็นส่วนๆ และนำไปปรึกษาผู้รู้ ก็จะทำให้เข้าใจประเด็นต่างๆ ได้ถูกต้องชัดเจนมากยิ่งขึ้น (แบบนี้เรียกว่าเป็นปัญหาที่ Complicated แต่ไม่ Complex ในขณะที่ปัญหาโลกร้อน (Global Warming) เป็นประเด็นที่ซับซ้อนมาก (Complex) ไม่มีคำตอบถูกผิดหรือเฉลยที่ชัดเจนว่าควรทำอย่างไร ต้องอาศัยการลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ ดังนั้นเมื่อประสบปัญหา ผู้นำหลายคนแยกไม่ออก เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันซับซ้อน (Complex) แต่อันที่จริงแล้วมันแค่ยุ่งยาก (Complicated) เท่านั้นเอง ถ้าค่อยๆ แตกประเด็นออกมา ก็จะแก้ปัญหาได้
3. ปล่อยวาง ไม่มีสิ่งใดๆ ในโลกสมบูรณ์แบบ
ในบรรยากาศแห่งความสับสนบนโลกใบนี้ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเสมอ เพราะฉะนั้นการตั้งเป้าว่าทุกอย่างที่ทำต้องสมบูรณ์แบบ จึงเป็นสิ่งที่บรรลุได้ยาก ดังนั้นการยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและพัฒนาแก้ไข ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จะส่งผลดีกว่า แต่การยอมรับความผิดพลาด อาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่รักและหลงใหลในความสมบูรณ์แบบ เพราะพวกเขาให้ความหมายของความผิดพลาดว่ามันคือความล้มเหลวที่น่าอับอาย จะทำให้สูญเสียความน่าเชื่อถือ แต่แท้จริงแล้ว มันไม่ใช่จุดจบของชีวิต พวกเขาคิดไปเองต่างหาก ผลสำรวจพบว่าเมื่อนำคนหลายๆ คนมาคุยกัน พวกเขาจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และได้ข้อคิดดีๆ จากความผิดพลาดของทั้งตนเองและผู้อื่นมากกว่าการเรียนรู้จากความสำเร็จเสียอีก ดังนั้นอย่ากลัวที่จะผิดพลาด ถ้าไม่เช่นนั้น ก็จะไม่กล้าทำอะไรใหม่ๆ เลย
4. อย่าทำให้ทุกอย่างง่ายเกินไปและต้องการบทสรุปในการแก้ปัญหาที่รวดเร็ว
บางทีการเร่งรีบแก้ปัญหาด้วยความรู้สึกว่าทุกอย่างแก้ได้ จงรีบลงมือทำ อาจนำไปสู่ความหายนะในอนาคต เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอาจแตกต่างและซับซ้อนกว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ดังนั้นผู้นำต้องเรียนรู้ที่จะสร้างสมดุลระหว่างความต้องการในการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว กับการทำความเข้าใจในปัญหาและอคติที่ตนเองมีต่อปัญหาเหล่านั้น เสียก่อน
5. อย่าแก้ปัญหาคนเดียว
ผู้นำหลายคนเข้าใจว่าหน้าที่ของตนคือการแก้ปัญหา จึงแบกรับภาระนั้นไว้บนบ่าของตนเองแต่เพียงผู้เดียว แต่เมื่อความซับซ้อนและปริมาณงานเพิ่มมากขึ้น ความพยายามที่จะแก้ปัญหาและตัดสินใจเพียงลำพัง อาจนำมาซึ่งความเสียหายในระยะยาวได้ ผลการสำรวจแนวทางการทำงานของ CEO ในหลากหลายองค์กรพบว่า การขอความช่วยเหลือจากคนที่คิดต่าง จะช่วยทำให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพและได้ผลลัพธ์ที่ดีมากยิ่งขึ้น เข้าตำราสุภาษิตไทยโบราณที่ว่า “หลายหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว”
6. มองในมุมกว้าง
ประสบการณ์ทำให้ “รู้ลึก” แต่สิ่งที่มาพร้อมกันคือ “รู้แคบ” ผู้นำหลายคนติดอยู่กับกรอบความคิดและวิธีการมองปัญหาด้วยมุมเดิมๆ หนังสือ The Practice of Adaptive Leadership แนะนำว่าผู้นำควรหาโอกาสวางมือจากงานประจำที่ต้องทำทุกวัน (Routine Tasks) แล้วไปยืนดูปัญหาที่เกิดขึ้นจากมุมมองอื่น คล้ายขึ้นชั้น 2 แล้วมองจากระเบียงลงมา คนที่อยู่นอกเกมอาจเห็นความเชื่อโยงและช่องว่างมากกว่าผู้ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่คลุกอยู่หน้างาน เมื่อทำเช่นนี้เป็นครั้งคราว จะช่วยให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สิ่งเหล่านี้จะเป็นข้อเตือนใจที่ดีสำหรับผู้นำว่า บ่อยครั้งเราอาจไม่สามารถควบคุมความไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลง ความยุ่งเหยิงซับซ้อน และความวุ่นวายต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ แต่การมีกลยุทธ๋ในการรับมือกับสถานการณ์เหล่านั้น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและทำให้บรรลุประสิทธิผลตามที่ตั้งใจไว้ได้มากยิ่งขึ้น
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี