ในช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้ ผู้ประกอบการหลายคนอาจสังเกตได้ว่าพนักงานของคุณไม่ได้สดชื่นเหมือนที่เคย แม้ว่างานของพวกเขาจะไม่มีปัญหา ส่งงานได้ตรงตามกำหนดก็ตาม พวกเขาอาจดูอิดโรยลงไปและไม่กระตือรือร้นนักเวลาประชุมร่วมกัน นั่นเป็นเพราะสถานการณ์ในช่วงนี้อาจมีพนักงานมีความเครียดสะสม พวกเขาอาจจะกำลังคิดถึงเรื่องวัคซีน หรือกำลังรู้สึกไม่มั่นคงกับชีวิต
เมื่อเร็วๆ นี้มีผลสำรวจที่แสดงให้เห็นถึงความเหนื่อยหน่ายของพนักงานในปี 2564 โดย Indeed ระบุว่า 67 เปอร์เซ็นต์ของคนทำงานรู้สึกว่าพวกเขาเหนื่อยหน่ายมากขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไม่ควรเพิกเฉยได้อีกต่อไป และถึงเวลาต้องลุกขึ้นมาผลักดันให้พนักงานของคุณมีสุขภาพจิตดีและห่างไกลจากความเจ็บป่วยทางจิต โดยคำนึงถึง 3 ประเด็นนี้ ก็จะช่วยให้พนักงานลดความวิตกกังวล และผ่อนคลายลงได้บ้าง
- คำนึงถึงความเป็นมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง
บ่อยครั้งที่คนเรากำลังฟันฝ่ากับอุปสรรคหรือความเหนื่อยยาก อาจจะไม่ได้ต้องการคนที่ช่วยแก้ปัญหาให้แต่พวกเขาต้องการคนที่รับฟังและใส่ใจความรู้สึก สิ่งที่ยากที่สุดอย่างหนึ่งในช่วงที่โควิดระบาดคือการแยกกันใช้ชีวิต ซึ่งไม่ใช่แค่ทำให้เราโดดเดี่ยวทางร่างกายเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงความรู้สึกโดดเดี่ยวทางจิตใจ โดยเฉพาะเมื่อองค์กรของคุณให้พนักงาน Work from Home มักจะพบว่าหลังจากการประชุมออนไลน์เสร็จสิ้นก็ไม่ได้มีการสนทนากันต่อเหมือนกับตอนที่ประชุมร่วมกันในห้องประชุมจริงๆ
สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้หลายคนรู้สึกเหนื่อยหน่ายก็คือพวกเขาไม่ได้พูดคุย ปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นๆ อย่างเพียงพอ ฉะนั้นแล้ว คนเป็นผู้นำก็ควรเริ่มการแบ่งปันทุกข์สุขกับพนักงาน ถามไถ่ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ไหม มีความกังวลอะไร ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกว่าไม่ได้อยู่คนเดียว
- ให้ความสำคัญกับเวลาเลิกงานและการพักผ่อน
จากผลสำรวจของ Indeed พบว่า ปีนี้พนักงาน 53 เปอร์เซ็นต์ทำงานในแต่ละวันนานขึ้น และ 61 เปอร์เซ็นต์พบว่าการเลิกงานตรงเวลาเป็นสิ่งที่ทำได้ยากขึ้น นอกจากนี้ยังไม่ได้ใช้วันหยุดประจำปีหรือลาพักร้อนอย่างที่ควรจะเป็นในทุกๆ ปี พวกเขาเอาแต่ทำงานตลอดทั้งปี เหตุผลพวกนี้มีส่วนทำให้พวกเขารู้สึกอ่อนล้าและสิ้นหวัง จนนำไปสู่ความเหนื่อยหน่ายอิดโรยในแต่ละวัน
ผู้ประกอบการควรเช็กพนักงานสักหน่อยว่าพวกเขาหยุดพักจากการทำงานบ้าง โดยทำงานร่วมกับแผนกทรัพยากรบุคคลเพื่อสำรวจดูว่ามีพนักงานคนไหนไม่ได้ลายพักร้อนเลย แล้วเสนอให้พวกเขาหยุดพักบ้าง แม้ว่าจะไม่สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ก็ตามที แต่การได้มีเวลาที่เว้นว่างจากความกดดันในการทำงานนั้นมีความสำคัญต่อความสุข สภาพจิตใจและอารมณ์ของคนเราทุกคน หรือทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าเจ้าของกิจการใช้เวลาวันหยุดไปกับการพักผ่อนและสนุกสนานเป็นแบบอย่างให้กับพนักงานบ้างก็ได้
- ลดการรบกวน สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การสร้างสมาธิในการทำงาน
ถ้าเรามีสมาธิจดจ่อกับอะไรสักอย่างมากๆ หรืออาจเรียกได้ว่าหมกมุ่นกับมันเราจะละทิ้งความรู้สึกอื่นๆ ไปเลย ยกตัวอย่างศิลปินที่มีสมาธิกับการวาดรูป เงยหน้ามาอีกทีอาจพบว่าเวลาผ่านไป 3 ชั่วโมงโดยไม่รู้ตัว แต่สำหรับทุกวันนี้เราเข้าสู่ภาวะนั้นได้ยากเย็น เพราะมีสิ่งเร้าหรือสิ่งรบกวนจากรอบตัวที่จะทำให้ฟุ้งซ่านได้ง่ายๆ เช่น เสียงแจ้งเตือนจากโทรศัพท์ หรือเวลาที่ทำงานที่บ้าน คนในครอบครัวหรือสัตว์เลี้ยงนี่ล่ะที่จะคอยมากวนใจอยู่ตลอด
เพื่อช่วยให้พนักงานมีสมาธิกับการทำงานมากขึ้น ลองกระตุ้นให้พวกเขาใช้ชั่วโมงแรกของทุกเช้าเพื่อทำงานที่สำคัญโดยปราศจากสิ่งรบกวน โดยออกกฎเล็กๆ ว่าจะไม่จัดประชุมในช่วงเวลานี้ และอนุญาตให้พวกเขาปิดแจ้งเตือนโทรศัพท์หรือแอปพลิเคชันต่างๆ แล้วปล่อยให้เขาใช้เวลากับการทำงานของตัวเองอย่างเต็มที่
นี่ก็เป็นวิธีการกระตุ้นให้พนักงานของคุณกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาได้บ้าง แม้จะต้องเผชิญกับช่วงเวลาวิกฤตอยู่ก็ตาม
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี