“ก่อนออกรบต้องรู้จักข้าศึกให้มากฉันท์ใด.....ก่อนลงสนามแข่งทำธุรกิจก็ต้องรู้จักคู่แข่งให้มากที่สุดฉันท์นั้น
และวิธีที่ดีที่สุดก็คือ.....ปลอมตัวให้เนียน สวมบท Spy แล้วสืบข้อมูลให้ได้มาไว้ในกำมือ"
และวิธีที่ดีที่สุดก็คือ.....ปลอมตัวให้เนียน สวมบท Spy แล้วสืบข้อมูลให้ได้มาไว้ในกำมือ"
– Anonymous –
ว่ากันว่า ทำธุรกิจแล้วไม่มองดูคู่แข่งก็เท่ากับหยุดพัฒนาตัวเอง เชื่อหรือไม่ว่า คู่แข่งทางธุรกิจนั้นไม่ต่างอะไรกับกระจกที่เอาไว้สะท้อนมองดูตัวเอง “เมื่อวานนี้เราเป็นอย่างไร” “วันนี้เราดูดีขึ้นหรือไม่” และ “ในอนาคตข้างหน้ารูปลักษณ์ธุรกิจของเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร” สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องมองหาที่ไหนให้ไกล เพราะสามารถเปรียบเทียบได้จากเพื่อนร่วมสังเวียน
อย่ารอช้า.....หยิบสูท พร้อมแว่นตาดำขึ้นมาให้ดี เพราะวันนี้เราจะออกล่าล้วงลับข้อมูลคู่แข่ง เพื่อนำมาปรับปรุงและสร้างแต้มต่อให้ธุรกิจกัน
1. สะกดรอยตามบนโซเชียล
ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ Facebook, Instagram, Twitter, YouTube, TikTok หรือช่องทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ ต้องรู้จักส่องความเคลื่อนไหวต่างๆ ให้ดี หรือจะลงมือกด Follow เอาไว้ดูก็ได้ว่า คู่แข่งนั้นขยับตัวอย่างไร ทำคอนเทนต์แบบไหน โพสต์ไหนที่ได้รับ Engagement ดีที่สุด ฟีดแบคหรือคอมเมนต์ที่ได้นั้นเป็นแบบไหน พวกเขามีวิธีตอบกลับอย่างไร และมีการทำแคมเปญการตลาดบนช่องทางเหล่านี้อย่างไร ดูเป็นแนวทางเอาไว้ให้รู้ว่า แบบไหนดี แบบไหนทำให้ดีขึ้นได้อีก หรือแบบไหนที่ไม่ควรทำ และนำมาประยุกต์และปรับใช้ให้เข้ากับตัวเอง
นอกจากนี้ หากแบรนด์คู่แข่งมี E-mail หรือ Newsletter ให้กดติดตาม อย่าลังเลที่จะเข้าไปเป็นหนึ่งในสาวกของพวกเขาดู เพราะเป็นอีกช่องทางที่จะทำให้รู้ถึงข่าวสาร ข้อมูลโปรดักต์ใหม่ วิธีการทำโปรโมชั่น และวิธีการสื่อสารกับลูกค้าที่อาจทำให้ได้แนวไอเดียดีๆ ว่า ทำอย่างไรถึงจะตกลูกค้าใหม่และรักษาลูกค้าเก่าเอาไว้ได้
2. แฝงตัวเป็นลูกค้า
อยากได้ลูกเสือก็ต้องเข้าถ้ำเสือ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากรู้ว่า คู่แข่งขายอะไร ขายแบบไหน ให้บริการลูกค้าอย่างไร พูดคุยกับลูกค้าแบบไหน และประสบการณ์ที่ลูกค้าได้เป็นอย่างไร ลองแฝงตัวเข้าไปเป็นลูกค้าที่ร้านของคู่แข่งดู หรือลองสั่งสินค้า ใช้บริการ เพื่อดูว่าการจัดส่งเป็นอย่างไร ส่งช้า-เร็วแค่ไหน ชำระเงินสะดวกหรือไม่ เมื่อสินค้ามาส่งแล้วมีสภาพเป็นอย่างไร และบริการหลังการขายเป็นอย่างไร จุดไหนดีก็เรียนรู้ไว้ จุดไหนแก้ไขให้ดีขึ้นได้ก็นำมาพัฒนา
3. ใช้คำถามสืบสวน
เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด ลองใช้คำถามในฐานะที่เป็นลูกค้าเป็นตัวนำทางดู ไม่ว่าจะเป็นการถามเข้าไปทาง E-mail, Twitter, Facebook, เว็บไซต์ หรือโทรสายตรงเข้าไปสอบถาม ดูวิธีการตอบ การสื่อสาร และการให้ข้อมูลของคู่แข่งว่าเป็นอย่างไร ตอบได้ช้า-เร็วแค่ไหน มีความรู้ในสิ่งที่จะต้องตอบมากน้อยขนาดไหน และมีปฏิกิริยารับมือแบบไหน ยิ่งในกรณีที่เป็นการ Complain ต่างๆ วิธีนี้นอกจากจะได้ข้อมูลของสินค้าแล้ว ยังทำให้เห็นกึ๋นในการให้บริการลูกค้าของคู่แข่งอีกด้วย
4. เฝ้าสังเกต ณ Trade Show
หากคู่แข่งไปออกงานแสดงสินค้าแล้วล่ะก็ โอกาสดีมาถึงแล้ว ลองไปยืนข้างๆ บูธของพวกเขาดูว่า พวกเขามาโปรโมทอะไรกัน มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาหรือไม่ กลุ่มเป้าหมายที่เขาอยากได้คือใคร หรือรุกตลาดใหม่ – ขยายตลาดเดิมหรือไม่ เพราะหลายครั้งที่การออกงานแฟร์ งานแสดงสินค้า หรืออีเว้นท์ต่างๆ จะถูกใช้เป็นเวทีในการโปรโมทสินค้าหรือบริการใหม่ รวมถึงข้อมูลต่างๆ ที่ยังไม่เคยเปิดเผยมาก่อน
5. เนียนคุยกับซัพพลายเออร์
ซัพพลายเออร์ คู่ค้า หรือคนจัดหาวัตถุดิบเป็นอีกแหล่งข้อมูลชั้นดี ลองเลียบๆ เคียงๆ พูดคุยเยี่ยงบทสนทนาปกติถึงความเคลื่อนไหวของคู่แข่งดูว่า ทำอะไรอยู่บ้าง ตอนนี้เป็นอย่างไร มีแนวโน้มจะทำอะไรต่อหรือไม่ ซึ่งข้อนี้อาจจะต้องอาศัยคอนเน็กชันและความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันอยู่สักหน่อย เผลอๆ อาจจะได้รู้อะไรที่ไม่คาดคิดมาก่อนก็ได้
การ Spy หรือล้วงลับข้อมูลคู่แข่งแบบนี้ ควรอยู่บนกติกาของความถูกต้องและเหมาะสม และยังต้องวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาให้ดี เพื่อที่จะทำให้เห็นว่า “เราสามารถเรียนรู้และทำอะไรได้บ้างจากการมองดูคู่แข่ง” “อะไรที่เป็นแต้มต่อของเรา” และ “อะไรเป็นสิ่งที่เราต้องปรับตัว” นั่นเอง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี