​บริหารงานอย่างไร ให้ได้ใจลูกน้อง

 


เรื่อง : เจษฎา ปุรินทวรกุล

    ถ้าคุณมีโอกาสได้คุยกับคนจำนวนมาก ในหัวข้อเกี่ยวกับ “เจ้านาย” คุณจะพบว่าแต่ละคนมีเรื่องชวนปวดหัวของหัวหน้ามากมายและแตกต่างกันออกไป ซึ่งผู้ประกอบการที่กำลังจะเริ่มต้นธุรกิจเป็นของตัวเอง อาจเคยเป็นลูกจ้างมาก่อน อาจเคยพบเห็นการทำตัวที่ไม่ค่อยมีเหตุมีผลของหัวหน้า

   และเมื่อตัวเองเริ่มต้นธุรกิจก็อยากจะทำตัวเป็นหัวหน้าที่มีความเป็นกันเองกับลูกน้อง นั่นถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะการที่เราเป็นหัวหน้าที่ดี มีความเป็นผู้นำ จะส่งผลต่อความพึงพอใจของพนักงาน ไม่ต้องเสียเวลาและเสียเงินจ้างพนักงานมาเรียนรู้งานใหม่ๆ ไม่ต้องคอยสอนสิ่งต่างๆ ซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งอัตรา Turnover Rate ที่สูง จะส่งผลกระทบต่อกำไร และภาพลักษณ์ของธุรกิจอย่างเห็นได้ชัด

    และนี่คือ 4 เคล็ดลับ ที่จะช่วยให้คุณกลายเป็นเจ้านายที่ใครต่างก็ชื่นชมและให้ความเคารพ

 


    1. ให้ความเชื่อใจกับลูกน้อง หัวหน้างานบางคน ชอบควบคุมการทำงานของลูกน้องทุกขั้นตอน คอยถามทุกขั้นตอนว่าทำไปถึงไหนแล้ว ทำนั่นหรือยัง ทำนี่หรือยัง ทวงงานเช้า กลางวัน เย็น (ทั้งๆ ที่เราก็ทำงานให้เขาเห็นอยู่ตลอด) สิ่งนี้จะสร้างแรงกดดันและความขัดแย้งระหว่างคุณกับลูกจ้างเอาได้ง่ายๆ เพราะไม่มีใครชอบหัวหน้าที่มาคอยควบคุมลูกน้อง หรือต้องส่งงานไปให้ตรวจอนุมัติทุกขั้นตอนหรอก

    หัวหน้าที่ดีจะบอกคุณได้ว่างานที่ต้องทำนั้น ต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง มอบหมายงานให้คุณทำและแจ้งว่าต้องทำถึงขั้นไหนและส่งต่อไปให้ใครทำต่อ นอกจากนั้นยังควรสนับสนุนลูกจ้างให้ได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมเพื่อให้พวกเขามีความรู้ ความชำนาญในงานที่ทำเพิ่มขึ้น

    2. คิดบวกและมีความกระตือรือร้น บุคคลที่อยู่ในตำแหน่งหัวหน้า (ที่ดี) ส่วนใหญ่จะมีความกระตือรือร้นและมีความมั่นใจในธุรกิจ หรืองานที่เขาทำ แต่ถ้าหัวหน้าคนไหนมีทัศนคติเชิงลบ หรือไม่สนใจที่จะทำงานสักเท่าไหร่ ลูกน้องของคุณก็จะซึมซับสิ่งเหล่านั้น กลายเป็นคนเช้าชาม เย็นชามเหมือนกับคุณ

    แม้ว่าบางวันอาจเป็นวันแย่ๆ ของเรา แต่ด้วยความเป็นหัวหน้า คุณก็ต้องพยายามแสดงความมุ่งมั่นให้ลูกน้องเห็น คอยรับรู้ว่าพวกเขาทำงานหนักมากแค่ไหน ที่สำคัญ หมั่นยิ้มบ่อยๆ เพราะรอยยิ้มสามารถเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานที่แย่ๆ ให้กลายเป็นสถานที่ดีๆ ได้ไม่ยาก  
 
   
    3. แชร์ข้อมูลซึ่งกันและกัน หัวหน้างานหรือเจ้าของกิจการที่ไม่เคยแชร์ข้อมูลต่างๆ ของบริษัทให้ลูกจ้างรับรู้ จะสูญเสียความน่าเชื่อถือและความเคารพไปได้ง่ายๆ แม้ว่าข้อมูลบางเรื่องอาจไม่เหมาะสมที่จะเปิดเผยให้ลูกจ้างรับรู้ แต่ถ้าเวลาที่เหมาะสมมาถึงก็ควรต้องแจ้งให้พวกเขารับรู้บ้าง เช่น การเติบโตขององค์กร วิกฤตต่างๆ โบนัสปีนี้จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ซึ่งคุณมีแผนบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านั้นไว้แล้ว อย่าปล่อยให้พวกเขาเก็บไปคิดเองว่าคุณไม่สนใจปัญหาเหล่า คุณไม่รู้ปัญหา หรือไม่รู้จะจัดการอย่างไร

    ที่สำคัญคือควรหมั่นสอบถามลูกจ้างบ้าง ว่าพวกเขาทำงานกันเป็นอย่างไร พยายามรับรู้ปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญหน้าด้วยทุกวัน และให้ทุกคนสามารถแบ่งปันไอเดียดีๆ ที่จะสามารถพัฒนาภาพรวมในการทำงานได้ ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ บอกข้อดี ให้ไอเดียเพื่อพัฒนาจุดอ่อนกับพนักงาน จะช่วยให้พวกเขาเติบโตขึ้นไปได้อีกขั้น อาจฟังดูเหนื่อยสักนิด แต่พวกเขาจะรักและเคารพคุณอย่างแน่นอน

    4. สร้างความไว้วางใจ หัวหน้าหลายๆ คนไม่ชอบ “ลงทุน” สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกน้อง คุณอาจคิดว่าคุณคือหัวหน้า มีหน้าที่ออกคำสั่ง รอดูผลงาน ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกน้อง ไม่ต้องคุยกันเหมือนเพื่อนก็ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วคงไม่ถูกต้องซะทีเดียว เพราะการทำงานเป็นทีมต้องมีความสามัคคี ยิ่งถ้าพนักงานสนิทสนมกับคุณ เคารพ และไว้วางใจ งานที่ทำก็จะออกมาดีตามไปด้วย ลองนึกภาพง่ายๆ หากมีคนที่คุณไม่ชอบมาขอให้คุณช่วยทำงานสักชิ้น กับคนที่คุณสนิทสนมมากๆ มาขอให้ช่วย งานชิ้นไหนจะออกมาดีกว่ากัน ดังนั้น การลงทุนเรื่องเวลาเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีจึงเป็นสิ่งที่ผู้นำไม่ควรมองข้าม  

อ้างอิงข้อมูลจาก Jacqueline Whitmore 
Create by smethailandclub.com
   





 

RECCOMMEND: MANAGEMENT

เขียนสัญญาเช่ายังไงให้รัดกุม ธุรกิจไม่เสียเปรียบ

สัญญาเช่า เรื่องใกล้ตัวผู้ประกอบการหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่รู้ไหมการมีสัญญาเช่าที่ดีและรัดกุม สามารถป้องกันปัญหาและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้มากมาย

ทำงานให้ได้งาน 4 เทคนิคบริหารเวลา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ทำไมบางคนงานท่วมหัว ทำงานยุ่งอยู่ตลอดเวลา แต่งานกลับไม่หมดซะที แถมยังส่งงานไม่ทันกำหนด เราเลยมีเทคนิค เช่น Eisenhower Matrix, Eat that frog, Pomodoro และ กฎ 80/20  ซึ่งจะช่วยให้บริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพและชีวิตการทำงานไม่เครียดอีกต่อไป

ประชุมยังไงให้ได้งาน เทคนิคจาก 4 คนดังที่ประสบความสำเร็จ 

การประชุมที่มีประสิทธิภาพนำไปสู่ความสำเร็จ มักจะมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง เราจึงมีเคล็ดลับการประชุมที่แตกต่างกันของคนดังที่ประสบความสำเร็จ  พร้อมแนะนำเทคนิคที่จะช่วยให้การประชุมมีประสิทธิภาพมาฝาก