Main Idea
กลยุทธ์สร้างองค์กรของคนรุ่นใหม่
- ครีเอทีฟการรีครูต สร้างแรงจูงใจที่ดึงดูดคนรุ่นใหม่
- เปิดใจกว้าง ให้เวที ให้อิสระในการคิด
- ใช้จุดแข็งของคนรุ่นใหม่และข้อดีของรุ่นก่อนมาหลอมรวมกันได้
- ทำให้คนต่างเจเนอเรชั่นสามารถทำงานด้วยกันได้
- โฟกัสในจุดมุ่งหมาย ทำงานเป็นทีม ไม่มีคำว่า One Man Show
การบริหารองค์กรที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ คือความท้าทายของการทำธุรกิจยุคนี้ ยุคที่องค์กรกำลังก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คนรุ่นเก่าเริ่มโรยรา ประสบการณ์หลายอย่างนำมาใช้ไม่ได้ในโลกยุคใหม่ ตลาดคนรุ่นใหม่เป็นอนาคต มีเทคโนโลยีเป็นตัวเปลี่ยนเกม และเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค แต่โลกของการบริหารคนรุ่นใหม่ เป็นองค์กรของคนรุ่นใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย
มาฟัง “มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SEA (Thailand) กลุ่มธุรกิจสัญชาติสิงคโปร์ที่ครอบคลุมทั้ง เกมออนไลน์ (Garena) ธุรกิจอี-เพย์เมนต์ (Airpay) และอี-คอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม (Shopee) แบ่งปันมุมคิดการสร้างองค์กรคนรุ่นใหม่ ที่เริ่มจากคนแค่ 40 คนเมื่อ 8 ปีก่อน เป็นองค์กรกว่า 4,000 คนในวันนี้ โดยมีคนรุ่นใหม่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ
จุดเริ่มต้นสร้างองค์กรคนรุ่นใหม่ในแบบ SEA
วันนี้น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักธุรกิจเกมออนไลน์อย่าง Garena เจ้าของเกมยอดนิยม ROV ธุรกิจอี-เพย์เมนต์ Airpay หรือแม้แต่สวรรค์ของนักช้อปออนไลน์อย่าง Shopee นี่คือบริษัทลูกใน SEA Group ธุรกิจยักษ์ใหญ่สัญชาติสิงคโปร์
SEA ขายธุรกิจเข้ามาประเทศไทยเมื่อประมาณ 8 ปีก่อน โดยเริ่มจากทำธุรกิจเกมออนไลน์ ในยุคที่ประเทศไทยยังไม่เปิดใจและเข้าใจธุรกิจนี้ ไม่เก็ตในกีฬา E-Sport คนส่วนใหญ่ยังมองความมั่นคงของการทำงานคือการอยู่บริษัทใหญ่ ยังมองธุรกิจเกมในแง่ลบ ความท้าทายจึงตกมาเป็นของ มณีรัตน์ หลัง “Forreste Li” ผู้ก่อตั้ง SEA ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่ Stanford University สหรัฐอเมริกา ชักชวนให้เธอมาบริหาร SEA ประเทศไทย
“พอเข้ามาก็มองว่ามีหลายเรื่องที่จะต้องปรับ จะทำอย่างไรที่ทำให้คนข้างนอกเข้าใจ และมองธุรกิจเกมในอีกด้านหนึ่ง เพราะจริงๆ แล้วเกม หรือ Media ต่างๆ ก็คือเครื่องมือเครื่องมือหนึ่ง อยู่ที่เราจะใช้มันยังไงได้บ้าง และเราในฐานะที่เป็นคนให้บริการธุรกิจเกม จะทำให้สังคมเข้าใจได้ยังไงว่า เกมมีด้านบวก และเกมจริงๆ มันเป็นอาชีพได้ มันสามารถสร้าง Digital Skill ที่ทุกวันนี้เราพูดถึงกัน ทำอย่างไรภาพลักษณ์ตรงนี้ถึงจะเปลี่ยนไปได้ เราทำงานกันค่อนข้างมากในตอนนั้น”
แม้จะมีธุรกิจแล้วในต่างประเทศ แต่การมาตั้งไข่ในประเทศใหม่ก็เหมือนต้องเริ่มจากศูนย์ มณีรัตน์ ยอมรับว่า การหา Talent หาคนเก่งๆ เข้ามาทำงานในธุรกิจเกมในตอนนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก แม้เด็กรุ่นใหม่จะอยากทำ แต่พ่อแม่ก็จะมีคำถามว่าธุรกิจจะมั่นคงและมีอนาคตจริงหรือไม่ เธอต้องใช้ประสบการณ์ที่เคยทำงานที่ปรึกษาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เริ่มไปโรดโชว์กับมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าไปคุยกับอาจารย์ คุยกับน้องๆ เพื่อให้มองเห็นโอกาสของการร่วมงานกับธุรกิจใหม่ เริ่มจากการหาคนที่ใช่ ไปพร้อมกับสร้างการรับรู้และเข้าใจในตลาดไทย
“ต้องบอกว่ามันก็เหมือนกับการที่เราปั้นก้อนหิมะ ปั้นก้อนแรกๆ มันก็ยาก แต่พอเริ่มเป็นก้อนขึ้นมาแล้ว โมเมนตัมเกิดมันก็ทำให้ปั้นง่ายขึ้น ซึ่งตอนนี้มันก็โฟลว์ไปได้เรื่อยๆ แต่ตอนแรกก็เหนื่อยเอาการอยู่” เธอเล่า
เทคนิคสรรหาคนทำงานรุ่นใหม่
SEA เริ่มต้นธุรกิจในไทยโดยมีพนักงานประมาณ 40 คน ก่อนจะขยับขยายมาสู่ 3 ธุรกิจ เติบโตเป็น 4 พันคนในปัจจุบัน ความน่าสนใจของที่นี่คือพนักงานส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยที่ 27-28 ปี เป็นองค์กรของคนรุ่นใหม่โดยสมบูรณ์
“เราเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับ Internet Product และลูกค้าผู้ใช้งานเป็นคน Gen Y และ Gen Z ทั้งนั้นเลยเพราะฉะนั้นเราเชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่ พนักงานของเรากว่า 4,000 คน อายุเฉลี่ยประมาณ 27-28 ปี ในบริษัทเราใช้คนรุ่นใหม่เยอะมาก แน่นอนว่าวิธีสรรหาคนก็ต้องครีเอทีฟหน่อย บางทีการรีครูตแบบธรรมดามันไม่พอ เพราะเด็กสมัยนี้เขามองหาอะไรมากไปกว่าแค่เม็ดเงินกับเรื่องของความก้าวหน้า เขามองเรื่องของการจูงใจ (Motivation) มองอย่างอื่น อีกเยอะมาก เพราะฉะนั้นการรีครูตคนในตอนเริ่มต้นก็ต้องครีเอทีฟ ที่บริษัทจะมีวิธีการวิเคราะห์ที่จะใช้ทั้งการสัมภาษณ์ที่อาจทำให้โดนใจเด็กสมัยนี้หน่อย และในขณะเดียวกันก็สามารถคัดกรองสิ่งที่เราต้องการได้ด้วย” เธอเล่า
อีกแนวทางหนึ่งคือการวางไกด์ไลน์ของคนที่อยากจะให้มาร่วมงานกับ SEA ที่ไม่เพียงเป็นคนเก่ง แต่ต้องฟิตไปกับค่านิยมหลักขององค์กรด้วย นั่นคือ We Serve, We Adapt, We Run, We Commit และ We Stay Humble
“เราจะใช้ตัวนี้ในการคัดเลือกคน ประเมิน และใช้ในการพัฒนาเขาด้วย นั่นเป็นสิ่งที่เราทำเยอะมาก และในแง่ของการบริหารงาน พอเขาเข้ามาในองค์กรแล้ว สิ่งที่เราทำต่อมาคือเราจะให้เวทีเขาได้แสดงผลงานโดยเฉพาะน้องที่เป็นเจน Z และมิลเลนเนียล เขาอยากรู้ว่าเขาพูดแล้วมีคนฟังหรือเปล่า เขามีส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มแวลู่ให้กับบริษัทได้หรือไม่ งานที่เขาทำมันสร้าง Impact ไม่ใช่แค่การทำงานวันต่อวัน เขาต้องการเข้าใจว่าเขากำลังทำอะไรอยู่” เธอสะท้อนความต้องการของคนทำงานยุคใหม่ ที่มากไปกว่าแค่เรื่องรายได้และผลตอบแทนที่พึงมี
เปิดใจให้อิสระคนรุ่นใหม่ในการพูดและสื่อสาร
ในการทำงานของระดับหัวหน้างานที่อายุประมาณ 30 ต้นๆ ต้องดูแลลูกน้อง โดยเฉพาะเด็กเข้าใหม่ที่อายุเฉลี่ย 24-25 ปี จะเน้นการสื่อสารแบบเปิด (Open Communication) โดยต้องรับฟังซึ่งกันและกัน ต้องเข้าใจกัน และต้องให้อิสระในการพูด
“เวลาคุยกับน้องในทีมสิ่งที่เราจะให้คือเราจะตั้งเป้าหมายให้เป็นเป้าหมายร่วมกัน แต่จะไม่บอกว่าเขาต้องทำยังไง ยกตัวอย่าง Shopee สมมุติวันที่ 11 เดือน 11 เราก็มาคุยกันว่าแคมเปญ 11.11 เราอยากให้ออกมาเป็นแนวไหนงบประมาณที่จะใช้ในการทำการตลาดเท่าไร เสร็จแล้วรายละเอียดน้องๆ จะเป็นคนจัดการ เขาอยากจะเลือกใช้คนดังคนไหน อยากจะทำแคมเปญกับใคร อยากจะไป Partner กับใคร เราให้อิสระในการที่เขาจะคิดอย่างเต็มที่ แต่ไม่ถึงกับปล่อยเขาตกน้ำโดยที่ไม่สนใจอะไรเลย แต่จะคอยช่วยเหลือและสนับสนุนเขา”
มณีรัตน์ บอกเราว่า เด็กรุ่นใหม่ต้องยอมรับว่าพลังงานเยอะ มีความคิดสร้างสรรค์ที่สูง แต่ในขณะเดียวกันประสบการณ์อาจจะยังไม่มากเท่ากับคนรุ่นเก่า ที่ผ่านประสบการณ์มามากกว่า เรียนรู้ความผิดพลาดมา ดังนั้นหากองค์กรใดสามารถใช้จุดแข็งของคนรุ่นใหม่และข้อดีของรุ่นก่อน มาหลอมรวมกันได้ ทำให้คนต่างเจเนอเรชั่นสามารถทำงานด้วยกันได้ ในแง่ของการบริหารทีมก็จะราบรื่นขึ้น และนำไปสู่ผลลัพธ์ในการทำงานที่องค์กรต้องการได้
เปลี่ยนตัวเองเป็นผู้นำในองค์กรคนรุ่นใหม่
สำหรับองค์กรที่ต้องการขับเคลื่อนด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ “ผู้นำ” องค์กรมีส่วนสำคัญ มณีรัตน์บอกเราว่า มีสองเรื่องที่สำคัญมากๆ คือผู้นำต้องเปิดใจกว้างยอมรับทุกอย่าง เพราะถ้ายังยึดติดกับความคิดหรือไม่เปิดใจ ก็จะเสียโอกาสในการไปพบเจอสิ่งใหม่ๆ การเปิดใจกว้างจะทำให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้ยินอะไรใหม่ๆ และรับฟังอะไรใหม่ๆ มากขึ้น อีกตัวที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของการปรับตัว โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่ดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นสิ่งใกล้ตัว อยู่กับผู้คนทั้งในชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงาน ทั้งในการทำธุรกิจ และบิสิเนสโมเดลต่างๆ ทุกอย่างล้วนมีดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้อง
“ในเรื่องของทักษะในการปรับตัว จะไม่ได้พูดถึงแค่ว่าน้องๆ ที่จะเข้ามาร่วมงานกับเราที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับองค์กร แต่มองว่าองค์กรหรือผู้นำเองก็ต้องปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ต่างๆ ด้วย ถ้าเราเปิดใจทำทุกอย่างได้เร็ว โอกาสในการที่จะเจออะไรใหม่ๆ ได้ก่อนคนอื่น ได้เข้าไปในธุรกิจใหม่ๆ ก็จะเร็วมากกว่าคนอื่น และถ้าเราเข้าไปได้เร็วกว่า โอกาสที่จะชนะในตลาดนั้น ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย”
มณีรัตน์ บอกว่า การเป็นผู้นำองค์กรหรือต้องนำทีม ย่อมเจอกับเรื่องยากๆ อยู่เสมอ ฉะนั้นสิ่งที่ผู้นำจะต้องยึดมั่นก็คือการโฟกัสไปที่เป้าหมายและไม่หลุดเป้าหมายนั้น
“สิ่งหนึ่งที่จะบอกตัวเองเป็นประจำคือ เราต้องโฟกัส คือจุดมุ่งหมายของเรา บางทีเดินไปเราอาจจะเจอหนามตำขา เจอหินสะดุดล้มอะไรบ้าง หรือเจอทางตัน แต่ถ้าเราไม่ลืมว่าโฟกัสหรือเป้าหมายสุดท้ายของเราคืออะไร ก็เชื่อว่าเราจะสามารถหาทางออกได้ และไม่รู้สึกหลงทาง เพราะฉะนั้นเรื่องของโฟกัสมันสำคัญมากๆ
อีกสิ่งหนึ่งที่มองว่าสำคัญคือ คุณไม่ได้อยู่คนเดียว มันไม่ได้มีคำว่า One Man Show ไม่มีคำว่าคนคนเดียวทำได้ทุกอย่าง แต่มองว่าที่บริษัทโตขึ้นมาได้อย่างทุกวันนี้ และเรายังดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เป็นเพราะว่าเรามีทีม และเราก็มีความร่วมมือที่ดีของน้องๆ ในทุกฝ่ายที่ทำงานร่วมกัน มองว่าหากผู้นำมีสองตัวนี้ เวลาที่ต้องเจอกับอะไรยากๆ ก็จะสามารถผ่านไปได้ นั่นคือ ไม่ลืมว่าเราจะไปทางไหน และเราไม่ได้เดินไปคนเดียว” เธอสรุปในตอนท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี