หมดยุคชีวิตรูทีน! เมื่อคนอยากทำงานในออฟฟิศไม่เกิน 20% ของเวลางาน




Main Idea
 
 
  • วัฒนธรรมการทำงานรูปแบบใหม่ถือกำเนิดขึ้นแล้ว เมื่อโลกมาถึงจุดเปลี่ยน งานประเภทเข้า 9 โมงเช้า เลิก 5 โมงเย็น สัปดาห์ละ 5 วัน อาจไม่มีอีกต่อไป
 
  • การที่เราสามารถทำงานจากที่บ้านได้มากขึ้น ส่งผลต่อทัศนคติของผู้คนที่มีต่อวัฒนธรรมการทำงานในอนาคต
 
  • คนกว่า 53 เปอร์เซ็นต์ ต้องการทำงานจากที่บ้านอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของเวลางาน ขณะที่ 1 ใน 4 ระบุว่าต้องการทำงานในออฟฟิศไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของเวลางาน





      SME รู้ไหม? ว่าวัฒนธรรมการทำงานรูปแบบใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว เมื่อโลกมาถึงจุดเปลี่ยนหลังการมาเยือนของไวรัสโควิด-19 และผลกระทบที่ว่านี้ กำลังเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานแบบรูทีน ประเภทเข้า 9 โมงเช้า เลิก 5 โมงเย็น สัปดาห์ละ 5 วัน ที่อาจจะไม่มีอีกต่อไป
               

      ซิกน่า อินเตอร์เนชันแนล มาร์เกตส์ ในเครือบริษัทซิกน่า (NYSE:CI) เผยแพร่ข้อมูลใหม่ล่าสุดจากการศึกษาผลกระทบทั่วโลกจากโควิด-19 หรือ Cigna COVID-19 Global Impact Study ซึ่งตอกย้ำว่าวัฒนธรรมการทำงานของคนทั่วโลกอาจเปลี่ยนไปอย่างถาวรเนื่องจากโควิด




               
               
      โควิดเปลี่ยนชีวิตมนุษย์รูทีน


      งานวิจัยล่าสุดของซิกน่าจัดทำขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน เป็นการติดตามสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลกในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ ซึ่งพบว่าผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลก 18 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกว่าชีวิตจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพิ่มขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ จากการสำรวจเมื่อเดือนเมษายน โดยตัวเลขดังกล่าวในเกาหลี สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นเป็น 38 เปอร์เซ็นต์, 26 เปอร์เซ็นต์ และ 25 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม มีผู้ตอบแบบสำรวจในจีนแผ่นดินใหญ่เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่คิดเช่นนี้


      งานวิจัยดังกล่าววัดระดับความเป็นอยู่ด้วยปัจจัยชี้วัดหลัก ได้แก่ ปัจจัยทางกายภาพ สังคม การเงิน ครอบครัว และการทำงาน, คะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่, การติดตามประเมินสุขภาพเสมือนจริง และการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับชีวิตวิถีใหม่

 


 
      คนอยากทำงานออฟฟิศน้อยลง


      ผู้ตอบแบบสำรวจ 60 เปอร์เซ็นต์ สามารถทำงานจากที่บ้านได้ในขณะนี้ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อทัศนคติของผู้คนที่มีต่อวัฒนธรรมการทำงานในอนาคต


      ผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่าครึ่ง (53 เปอร์เซ็นต์) ระบุว่า ในอนาคต พวกเขาต้องการทำงานจากที่บ้านอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของเวลางาน โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นแตะ 67 เปอร์เซ็นต์ ในสิงคโปร์, 56 เปอร์เซ็นต์ ในสเปนและไทย และ 40 เปอร์เซ็นต์ ในเกาหลี ขณะเดียวกัน ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบหนึ่งในสี่ (22 เปอร์เซ็นต์) ต้องการมากกว่านั้น โดยระบุว่าต้องการทำงานในออฟฟิศไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ของเวลางาน


       ผลสำรวจเผยให้เห็นว่า ความต้องการทำงานที่ออฟฟิศเต็มเวลาอยู่ในระดับต่ำมากในขณะนี้ โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจไม่ถึงหนึ่งในสี่ (23 เปอร์เซ็นต์) ที่ต้องการกลับไปทำงานที่ออฟฟิศเต็มเวลา ซึ่งความต้องการดังกล่าวมีระดับต่ำสุดในสิงคโปร์และไทย (17 เปอร์เซ็นต์) และจีนแผ่นดินใหญ่ (19 เปอร์เซ็นต์)
 



 
      ความกังวลต่อโควิดยังไม่หมด


      การที่หลายบริษัทเริ่มกลับมาทำงานที่ออฟฟิศได้สร้างความวิตกกังวลครั้งใหม่ในหมู่พนักงาน โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 42 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกกังวลว่าจะติดเชื้อโควิดจากการเดินทาง การประชุมต่อหน้า หรือการอยู่ในออฟฟิศร่วมกัน ความกังวลนี้เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 54 เปอร์เซ็นต์ ในสิงคโปร์ และ 51 เปอร์เซ็นต์ ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ลดลงเหลือเพียง 19 เปอร์เซ็นต์ ในฮ่องกง อย่างไรก็ตาม ฮ่องกงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลังทำการสำรวจเสร็จสิ้นไปแล้ว


      นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจ 41 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกกังวลเกี่ยวกับมาตรการป้องกันในที่ทำงาน เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม และการสวมหน้ากากอนามัย โดยผู้ตอบแบบสำรวจในไทยและสิงคโปร์กังวลมากที่สุด (47 เปอร์เซ็นต์) ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจในนิวซีแลนด์มีความกังวลน้อยที่สุด (26 เปอร์เซ็นต์)




 
      การรับมือของนายจ้างต่อวิถีการทำงานใหม่


      ผลสำรวจยังบอกอีกว่า พนักงานต้องการความช่วยเหลือแตกต่างกันเมื่อต้องกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ ขณะเดียวกัน ความช่วยเหลือที่นายจ้างให้กับพนักงานในตอนนี้ก็แตกต่างกัน


      นายจ้างส่วนใหญ่แสดงความรับผิดชอบอย่างจริงจัง โดยผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่าครึ่ง (52 เปอร์เซ็นต์) ระบุว่า นายจ้างมีการจัดหาผลิตภัณฑ์ป้องกันและฆ่าเชื้อให้พนักงาน เช่น หน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นแตะ 62 เปอร์เซ็นต์ ในจีนแผ่นดินใหญ่, 58 เปอร์เซ็นต์ ในไต้หวัน และ 55 เปอร์เซ็นต์ ในสิงคโปร์และนิวซีแลนด์


      อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสำรวจ 60  ระบุว่า ต้องการให้นายจ้างช่วยออกค่าใช้จ่ายพิเศษ เช่น ค่าผลิตภัณฑ์ป้องกันและฆ่าเชื้อ รวมถึงค่าสาธารณูปโภคจากการทำงานที่บ้าน โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 73 เปอร์เซ็นต์ และ 71 เปอร์เซ็นต์ ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และสิงคโปร์ ซึ่งมีการใช้เครื่องปรับอากาศมาก ในทางตรงกันข้าม ผู้ตอบแบบสำรวจราวหนึ่งในห้า (19 เปอร์เซ็นต์) ระบุว่านายจ้างมีมาตรการที่เหมาะสมอยู่แล้ว โดยนายจ้าง 29 เปอร์เซ็นต์ ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, 18 เปอร์เซ็นต์ ในสิงคโปร์ และ 11 เปอร์เซ็นต์ ในฮ่องกง ให้ความช่วยเหลือพนักงานในส่วนนี้


       นอกจากนี้ การส่งเสริมสุขภาพจิตก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พนักงานต้องการ แม้ว่าผู้ตอบแบบสำรวจเกือบหนึ่งในสี่ (24 เปอร์เซ็นต์) ระบุว่านายจ้างส่งเสริมสุขภาพจิตอยู่ในขณะนี้ แต่ 50 เปอร์เซ็นต์ ต้องการมากกว่านั้น โดยนายจ้างในนิวซีแลนด์ (40 เปอร์เซ็นต์) และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (34 เปอร์เซ็นต์) เป็นผู้นำในการส่งเสริมสุขภาพจิต เทียบกับนายจ้างเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ ในเกาหลี และ 16 เปอร์เซ็นต์ ในฮ่องกง
 




      จากผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่ามีช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างความคาดหวังของพนักงานกับความเป็นจริงที่ทุกคนเผชิญอยู่  โดยพนักงานคาดหวังให้นายจ้างอุดช่องว่างนี้ด้วยการให้ความช่วยเหลือในสิ่งที่จำเป็นอย่างเพียงพอ และเดินหน้าสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ต่างฝ่ายต่างสนับสนุนกัน ในขณะที่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ชีวิตวิถีใหม่ นายจ้างต้องยกระดับความเป็นอยู่ของพนักงานอย่างครอบคลุม โดยเน้นไปที่การลดและจัดการความเครียดและความวิตกกังวลของพนักงานลงให้ได้
 

       นี่คือเทรนด์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งส่งสัญญาณมายังการทำงานในประเทศไทยด้วย ผู้ประกอบการ SME เอง ก็ต้องเกาะติด และศึกษาความเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อสามารถปรับองค์กรให้เท่าทันกับวัฒนธรรมการทำงานรูปแบบใหม่ ไม่แน่ว่าอาจจะได้ผลลัพธ์ดีๆ เกิดขึ้นในธุรกิจคุณจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็ได้นะ
 

 
ที่มา : ซิกน่า
 
 




 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: MANAGEMENT

เขียนสัญญาเช่ายังไงให้รัดกุม ธุรกิจไม่เสียเปรียบ

สัญญาเช่า เรื่องใกล้ตัวผู้ประกอบการหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่รู้ไหมการมีสัญญาเช่าที่ดีและรัดกุม สามารถป้องกันปัญหาและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้มากมาย

ทำงานให้ได้งาน 4 เทคนิคบริหารเวลา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ทำไมบางคนงานท่วมหัว ทำงานยุ่งอยู่ตลอดเวลา แต่งานกลับไม่หมดซะที แถมยังส่งงานไม่ทันกำหนด เราเลยมีเทคนิค เช่น Eisenhower Matrix, Eat that frog, Pomodoro และ กฎ 80/20  ซึ่งจะช่วยให้บริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพและชีวิตการทำงานไม่เครียดอีกต่อไป

ประชุมยังไงให้ได้งาน เทคนิคจาก 4 คนดังที่ประสบความสำเร็จ 

การประชุมที่มีประสิทธิภาพนำไปสู่ความสำเร็จ มักจะมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง เราจึงมีเคล็ดลับการประชุมที่แตกต่างกันของคนดังที่ประสบความสำเร็จ  พร้อมแนะนำเทคนิคที่จะช่วยให้การประชุมมีประสิทธิภาพมาฝาก