วิธีกำจัด Toxic Workplace ทำองค์กรให้เป็นมิตรกับพนักงาน

TEXT : รุจรดา วัฒนาโกศัย







Main Idea
 
  • ที่ทำงานก็เหมือนกับบ้านหลังที่ 2 เพื่อนร่วมงานคือคนที่เราต้องเจอหน้าและปฏิสัมพันธ์มากที่สุด แต่หากต้องทนอยู่ในสถานที่ทำงานที่เป็นพิษ เจอเพื่อนร่วมงานที่สุดแสนจะไม่เป็นมิตร หรือเจ้านายที่ 2 มาตรฐาน คงทำให้พนักงานไม่อยากทำงานสักเท่าไร
 
  • ผู้ประกอบการจึงต้องสังเกตองค์กรของตัวเองให้ดีว่ากำลังมีสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษอยู่หรือไม่ แล้วลงมือขับสภาวะเป็นพิษก่อนพนักงานจะหมดไฟ ไร้แรงทำงาน




      คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในที่ทำงานถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน คนที่พบเจอมากที่สุดในแต่ละวันก็คือเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน ฉะนั้นแล้วหากองค์กรไหนมี Toxic Culture หรือ วัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษ ทั้งที่เกิดจากการกลั่นแกล้ง การเมืองในที่ทำงาน เจ้านายสองมาตรฐาน หรือขั้นตอนการทำงานที่ทำให้งานไม่คืบหน้าสักที เรื่องพวกนี้ย่อมส่งผลต่อสภาพจิตใจพนักงานเป็นแน่
              

      ผู้ประกอบการจงสังเกตองค์กรของตัวเองให้ดีว่ากำลังมีสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษหรือไม่ แล้วลงมือแก้ไขก่อนที่พนักงานจะหมดพลังใจจนไม่มีแรงทำงาน และนี่วิธีช่วยขับสภาวะที่เป็นพิษออกจากออฟฟิศของคุณ
 


 
  • รับรู้และยอมรับข้อบกพร่องที่มีในองค์กร


      บริษัทส่วนใหญ่จะทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงการยอมรับข้อบกพร่องในองค์กร จนกว่าจะมีการฟ้องร้องหรือโพสต์ในโซเชียลมีเดียจึงจะยอมแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่แทนที่จะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ถึงเพียงนั้น ผู้นำที่ดีควรทำงานเชิงรุก ตรวจสอบภายในองค์กรเป็นประจำว่ามีอะไรเกิดขึ้นในองค์กรบ้าง กระบวนการทำงานเป็นอย่างไร วิธีเวิร์คหรือไม่เวิร์ค พฤติกรรมของพนักงานเป็นอย่างไร มีการซุบซิบนินทากันหรือไม่ มีช่องว่างระหว่างเจ้านายและลูกน้องหรือเปล่า มีการฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพกับพนักงานไหม และพนักงานทุกคนมีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานเท่าเทียมกันหรือเปล่า เมื่อรับทราบข้อบกพร่องเหล่านี้แล้วก็จะรู้ว่าควรเริ่มต้นแก้ที่ตรงไหน
 


 
  • สื่อสารอย่างแข็งขันและตอกย้ำเป้าหมายและวิสัยทัศน์ขององค์กร


       การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กรทุกขนาด การตอกย้ำถึงเป้าหมาย ความก้าวหน้าของบริษัท และวิสัยทัศน์สำหรับอนาคตจะทำให้พนักงานมีส่วนร่วมและทำให้พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร มีสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสื่อสารในที่ทำงานว่า พนักงาน 74 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกว่าพวกเขาพลาดข่าวสารในบริษัท มีพนักงานเพียง 13 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่ใช้อินทราเน็ตสื่อสารภายในองค์กรทุกวัน และยังพบว่าองค์กรที่มีกลยุทธ์การสื่อสารในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพมีแนวโน้มจะแข่งขันได้ดีกว่าคู่แข่งในตลาดถึง 2.5 เท่า
              

       จากสถิติดังกล่าว บริษัทจึงควรมีช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและทำให้พนักงานทุกคนเข้าถึงได้ รวมถึงสำรวจพนักงาน รับฟังความคิดเห็นของพวกเขา แล้วฟีดแบคความเห็นเหล่านั้นด้วย
 




 
  • ฝึกอบรมและเตรียมเครื่องมือสำหรับการศึกษาเพื่อพัฒนาการทำงาน


       เป้าหมายของการฝึกอบรมคือการให้วิธีการทำงานที่พนักงานสามารถนำไปใช้ได้ทันที หรือเป็นการอบรมเพื่อปรับพฤติกรรม ขจัดนิสัยเชิงลบด้วยการแสดงตัวอย่างของพฤติกรรมที่เป็นพิษและสถานการณ์ที่พวกเขาต้องเจอหากคนในออฟฟิศมีนิสัยแบบนั้น การฝึกอบรมควรกำหนดเป้าหมายเฉพาะประเด็น เช่น การเลือกปฏิบัติ การกลั่นแกล้ง การล่วงละเมิด และเพื่อให้ได้ผลลัพธ์สูงสุดควรใช้เวลาไม่นานเกินไป และทุกคนได้โต้ตอบกัน โดยสามารถใช้สื่อต่างๆ เช่น วิดีโอ อีเมล์ ทำแบบฝึกหัดการสร้างทีม หรือการเปิดอภิปรายก็ได้
 



 
  • ปฏิบัติกับพนักงานทุกคนด้วยมาตรฐานเดียวกัน


       ผู้นำและฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎเกณฑ์ในองค์กร เพราะความลำเอียง หรือเพิกเฉยต่อพฤติกรรมบางอย่างคือการบ่มเพาะความเป็นพิษให้เกิดขึ้นในองค์กร เช่น พนักงานทุกคนมีสิทธิเข้าร่วมการฝึกอบรม เทรนนิ่งต่างๆ กำหนดบทลงโทษสำหรับพนักงานที่ทำผิดอย่างเท่าเทียมโดยไม่คำนึงถึงตำแหน่ง อย่างไรก็ตามมาตรฐานสำหรับพนักงานระดับผู้จัดการหรือผู้นำองค์กรสูงกว่าพนักงานทั่วไป ให้ทุกคนทำรายงานการทำงานและมีการตรวจสอบอย่างเหมาะสม ที่สำคัญที่สุดคือสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้พนักงานส่งเสียง ให้พวกเขาได้บอกเล่าหรือรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่ทำงานได้โดยไม่ต้องกลัวจะถูกโจมตี ซึ่งจะทำให้สามารถรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นและแก้ไขได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น


 

              


     เชื่อเถอะว่า สถานที่ทำงานที่น่ารักจะทำให้พนักงานทุ่มพลังกายและพลังใจทำงานกันอย่างเต็มที่เลยล่ะ
 

 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: MANAGEMENT

เจาะลึกแนวคิด Work Life Balance องค์กรที่อยากมัดใจ Gen Z ต้องรู้ เมื่อเงินเดือนไม่ใช่ข้อเรียกร้องสูงสุด

 แนวคิดการทำงานของ Gen Z เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก เนื่องจากมีความแตกต่างจากรุ่นก่อนหน้าค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่อง Work Life Balance ที่กลุ่มคน Gen Z ส่วนใหญ่มองว่า Work Life Balance เป็นสิ่งสำคัญมาก

ป้องกันแรงงานขาดลาออกไปเลี้ยงลูก SME สหรัฐ ผุดไอเดียยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เปิดที่เลี้ยงเด็กคู่กับธุรกิจเดิม

เพราะค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งทุกวันนี้ ไม่ถูกเลย หลายบริษัท ร้านค้าต้องเสียพนักงานดีๆ ไป ก็เพราะด้วยเหตุผลว่า “ต้องออกไปดูแลลูก ไม่มีคนเลี้ยงลูกให้”