Main Idea
- การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจไปจนถึงตลาดแรงงาน ทำให้จำนวนคนตกงานสูงกว่าทุกวิกฤตที่ประเทศไทยเคยเจอมา โดยมีคนทำงานถูกเลิกจ้างหรือพักงานสูงถึง 1 ใน 4 ของแรงงานทั้งประเทศ
- หลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ธุรกิจต่างๆ เริ่มกลับมาเปิดดำเนินการปกติและเริ่มรับสมัครพนักงานอีกครั้ง โดยมีแนวโน้มจะรับสมัครคนที่ตกงานในช่วงโควิด-19 กลับไปทำงานใหม่ รวมถึงเปิดโอกาสให้กับเด็กจบใหม่ด้วย
- อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจยังไม่มั่นใจในสภาพเศรษฐกิจและมีความกังวลว่าจะเกิดการระบาดระลอกที่ 2 จึงพิจารณาการจ้างงานในรูปแบบสัญญาจ้างมากขึ้น เพื่อให้องค์กรสามารถปรับเปลี่ยนการจ้างงานได้อย่างรวดเร็ว
การระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SME เข้าสู่สภาวะชะงักงัน รายได้หดหาย ไปจนถึงขั้นปิดกิจการเลยก็มี หลายบริษัทหาทางออกด้วยการลดต้นทุนด้านต่างๆ รวมไปถึงการลดภาระค่าใช้จ่ายในการจ้างงาน ซึ่งมีการคาดการณ์ตัวเลขคนตกงานพุ่งสูงถึง 3-8 ล้านคน สูงกว่าทุกวิกฤตในอดีตของไทย แต่ทว่าหลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ธุรกิจส่วนใหญ่กลับมาดำเนินการได้ปกติ เราจึงได้เห็นสัญญาณบวกของตลาดแรงงานในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 อีกครั้ง
- ผลกระทบของโควิด-19 ต่อตลาดแรงงานไทย
จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) ได้สำรวจผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ครอบคลุมผู้ประกอบการกว่า 400 บริษัท และคนทำงานกว่า 1,400 คน พบว่า มีคนทำงานที่ได้รับผลกระทบมากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ โดย 9 เปอร์เซ็นต์ถูกเลิกจ้าง และ 16 เปอร์เซ็นต์ต้องหยุดงานแต่ยังคงสถานะลูกจ้างอยู่
ในขณะที่สถานการณ์การจ้างงานในฝั่งของผู้ประกอบการที่มีในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะต้องเผชิญกับความท้าทาย ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ปรับแผนดำเนินงานในการรับมือ โดยพบว่า 52 เปอร์เซ็นต์ ส่งเสริมให้พนักงานทำงานที่บ้าน 47 เปอร์เซ็นต์ ปรับนโยบายการจ้างงาน ซึ่งในจำนวนนายจ้างที่ได้ปรับนโยบายการจ้างงานพบว่า 39 เปอร์เซ็นต์ หยุดการรับพนักงานใหม่ และ 12 เปอร์เซ็นต์ ลดจำนวนพนักงาน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการกว่า 37 เปอร์เซ็นต์ จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเงินเดือนและค่าตอบแทน อาทิ 21 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีการปรับเงินเดือน 20 เปอร์เซ็นต์ พิจารณามาตรการลดเงินเดือน และ 18 เปอร์เซ็นต์ จะงดการจ่ายโบนัส
- การฟื้นตัวของตลาดแรงงานในครึ่งปีหลัง
หลังคลายมาตรการล็อกดาวน์ เศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวจึงได้เห็นธุรกิจต่างๆ เริ่มเปิดรับแรงงานอีกครั้ง จากการสำรวจเหล่าผู้ประกอบการกว่า 88 เปอร์เซ็นต์ที่จะกลับมาจ้างงานในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 โดยที่ผู้ประกอบการกว่า 33 เปอร์เซ็นต์ ชี้ว่าอยากจะจ้างงานผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โควิด-19 และผู้ประกอบการกว่า 53 เปอร์เซ็นต์ มีแนวโน้มที่จะว่าจ้างเด็กจบใหม่เพื่อทำงานในตำแหน่งระดับพนักงานทั่วไป
พบว่าผู้ประกอบการมีแนวโน้มจ้างงานมากที่สุดใน 5 สายงานใน 6 เดือนข้างหน้า ได้แก่ 1.งานไอที 2.งานการตลาดและงานประชาสัมพันธ์ 3.งานขาย/งานบริการลูกค้า/งานพัฒนาธุรกิจ 4.งานต้อนรับ/งานในร้านอาหารและบริการเครื่องดื่ม และ 5.งานจัดซื้อ
ซึ่งการสำรวจฝั่งคนทำงาน พบว่าในช่วงที่ผ่านมามีการค้นหางานเพิ่มขึ้น 26 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับ 3 เดือนก่อน ในขณะที่ค้นหาคำแนะนำเรื่องงานเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์
- การจ้างงานแบบสัญญาจ้าง เทรนด์มาแรงหลังโควิด-19
“พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์” ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การจ้างงานในปัจจุบันว่า ช่วงโควิด-19 ทำให้แต่ละองค์กรมีมุมมองการทำงานในหลากหลายรูปแบบ โดยบางองค์กรอยากได้บุคลากรที่ทำงานจากที่ไหนก็ได้ หรือทำงานที่บ้าน (Work from Home) แล้วยังสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่บางองค์กรยังมีความไม่แน่ใจในสภาพเศรษฐกิจว่าจะกลับมาดีขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ ทั้งยังมีความกังวลว่าอาจจะมีการระบาดระลอกที่ 2 จึงพิจารณาการหาคนทำงานในลักษณะสัญญาจ้าง ไม่ใช่พนักงานประจำมากยิ่งขึ้น เพราะหากเกิดอะไรขึ้นจะสามารถปรับเปลี่ยนการจ้างงานได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง
การทำงานในยุคหลังโควิด-19 ผู้ประกอบการในองค์กรต่างๆ ควรเร่งกระตุ้นการมีส่วนร่วมของพนักงาน เพื่อลดความรู้สึกไม่มั่นคงในการทำงาน ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมความสมดุลของชีวิตและการทำงาน รวมถึงสวัสดิภาพของพนักงาน หลังจากเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะฟื้นฟูหลังจากวิกฤติครั้งนี้ ซึ่งคนทำงานจะมองหาองค์กรในมุมที่แตกต่างออกไป โดยองค์กรที่สามารถสร้างจุดแข็งและสร้างความแตกต่างในเชิงผลตอบแทนจะได้เปรียบในการดึงคนที่มีความรู้ความสามารถไปร่วมงานด้วย
ที่มา : jobsDB
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี