Work From Home ช่วยได้! ผลวิจัยชี้คนทำงานแฮปปี้ การทำงานดีขึ้นเมื่ออยู่บ้าน




Main Idea
 
  • สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้คนต้องปรับโหมดสู่การทำงานแบบ Work From Home เปลี่ยนบ้านเป็นที่ทำงาน และใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับบ้าน
 
  • หลายคนอาจคิดว่าประสิทธิภาพในการทำงานอาจลดลง คนส่วนใหญ่อาจต้องรู้สึกเหงา อึดอัด และอัดอั้น แต่ผลการวิจัยกลับพบว่า คนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจกับการทำงานแบบยืดหยุ่น มองว่าการทำงานจากที่บ้านทำให้ชีวิตการทำงานดีขึ้น รู้สึกเหงาน้อยลง
 
  • ปรากฎการณ์นี้เองที่อาจส่งผลให้รูปแบบการทำงานในอนาคตเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร หากมาตรการล็อกดาวน์สิ้นสุดลง เมื่อคนส่วนใหญ่เห็นด้วยและแฮปปี้ในการทำงานจากที่บ้าน 




      สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้คนต้องกักตัวอยู่ในบ้าน และปรับตัวสู่การทำงานแบบ Work From Home ผู้ประกอบการหลายคน เกิดคำถามขึ้นมาว่า การทำงานที่บ้านจะให้ผลลัพธ์ที่ดีจริงหรือไม่ พนักงานจะยังทำงานได้ดี และมีประสิทธิภาพเหมือนตอนอยู่ที่ทำงานแค่ไหน ที่สำคัญสุขภาพกายและใจของคนทำงานจะเป็นอย่างไรเมื่อต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับบ้าน





      ซิกน่าอินเตอร์เนชันแนลมาร์เกตส์ ร่วมกับ บริษัท กันตาร์ (Kantar) เผยผลสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360 ประจำปี 2563 ของซิกน่า (360 Well-Being Survey) เกี่ยวกับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 (ชุดแรก) เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อภาวะความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก โดยมีดัชนีชี้วัดที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านความเป็นอยู่ทางกายภาพ, ครอบครัว, สังคม, การเงิน และการทำงาน โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 10,204 คนจาก 8 ประเทศ คือ จีน, ฮ่องกง, สิงคโปร์, สเปน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก หัวข้อที่ศึกษาประกอบด้วย ภาวะความเหงา การทำงานจากที่บ้าน การบริการด้านสุขภาพเสมือนจริง ความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงาน และวิถีชีวิตแบบใหม่ ซึ่งพบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
 
 


  • ชีวิตการทำงานดีขึ้น และสื่อสารกันมากขึ้นเมื่อ Work From Home


      หนึ่งในผลการศึกษาที่พบคือ การทำงานที่บ้านเพิ่มความพึงพอใจในการทำงาน ความสัมพันธ์และการสื่อสารเกี่ยวกับงานมากขึ้น โดยแม้อาจต้องใช้เวลาไปกับการทำงานที่ยาวนานขึ้น แต่คนยังมองว่าการทำงานจากที่บ้านทำให้ชีวิตการทำงานของพวกเขาดีขึ้น จากรายงานพบว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทย ระบุว่า วันทำงานของพวกเขามีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น ตามมาด้วยประเทศสเปน 80 เปอร์เซ็นต์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 79 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่ามีค่าเฉลี่ยสูงกว่าทั่วโลกถึง 76 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเหตุนี้อาจบ่งชี้ได้ว่ารูปแบบการทำงานของผู้คนอาจจะเปลี่ยนไปอย่างถาวร เมื่อมาตรการล็อกดาวน์สิ้นสุดลง


      ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยยังระบุอีกว่า พวกเขาใกล้ชิดกับเพื่อนร่วมงานมากขึ้นในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤต โดย 68 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยว่าการทำงานจากที่บ้านและการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ช่วยปรับปรุงการสื่อสารและการเชื่อมต่อกับเพื่อนร่วมงานให้ดียิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับ 64 เปอร์เซ็นต์ จากค่าเฉลี่ยทั่วโลก แต่ในทางกลับกัน ก็ยังมีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามอีก 8 เปอร์เซ็นต์ ที่ระบุว่าไม่ได้ช่วยปรับปรุงระบบการทำงานแต่อย่างใด
 



 
  • อยู่บ้านเหมือนจะเฉา แต่คนกลับรู้สึกเหงาน้อยลง

 
       ผลการศึกษายังพบอีกว่า ผู้คนรู้สึกเหงาลดลง โดยการล็อกดาวน์อาจเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้คนได้ จากรายงานของเดือนเมษายนพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า พวกเขารู้สึกโดดเดี่ยวและห่างไกลจากผู้อื่นลดลง (8 เปอร์เซ็นต์) เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม (11 เปอร์เซ็นต์) แต่เมื่อสอบถามว่าพวกเขาเหล่านั้นรู้สึกใกล้ชิดกับผู้อื่นมากขึ้นหรือไม่ พบว่า 73 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ตอบแบบสอบถาม ตอบว่า ใช่ และระบุว่า รู้สึกใกล้ชิดกับผู้อื่นมากยิ่งขึ้นในเดือนเมษายน เมื่อเปรียบเทียบกับ 69 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนมกราคม ทั้งนี้ แม้ในหลายประเทศจะมีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบเบ็ดเสร็จ แต่ในบางประเทศ อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พบว่า ระดับความใกล้ชิดถูกพัฒนาขึ้น จาก 71 เปอร์เซ็นต์ เป็น 80 เปอร์เซ็นต์ และ ในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นจาก 70 เปอร์เซ็นต์ เป็น 79 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสเปนเพิ่มขึ้นจาก 81 เปอร์เซ็นต์ เป็น 91 เปอร์เซ็นต์
 



 
  • ชั่วโมงการทำงานยาวนานขึ้น แต่ยังพอใจกับการเปลี่ยนบ้านเป็นที่ทำงาน

       แม้คนส่วนใหญ่จะใช้เวลาการทำงานที่ยาวนานมากขึ้น แต่ส่วนมากกลับเห็นด้วยในมาตรการการทำงานจากที่บ้าน และลงความเห็นว่า รูปแบบการทำงานในอนาคตอาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร ทั้งนี้จากการสำรวจ พบว่า ประเทศส่วนใหญ่ที่มีมาตรการทำงานจากที่บ้าน กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา หรือที่เรียกว่า ‘Always on’ และรู้สึกว่าวันทำงานของพวกเขายาวนานมากยิ่งขึ้น โดย 75 เปอร์เซ็นต์ ของคนไทยเห็นด้วยกับเรื่องนี้


        “ธีรวุฒิ สุธนะเสรีพร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิกน่า ประกันภัย จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นว่า คะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่เกี่ยวกับความรู้สึกความเหงาและโดดเดี่ยวที่ลดลงนั้นเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง แต่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของเทคโนโลยีทางดิจิทัลที่ให้ผลลัพธ์ในเชิงบวก


        “เราพบว่าทัศนคติต่อการทำงานของผู้คนมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยคนไทยจำนวนมากมองว่า การทำงานจากที่บ้านให้ผลลัพธ์ในเชิงบวกได้หลายแง่มุมมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการปรับสมดุลความรับผิดชอบต่อครอบครัว และหน้าที่การงาน แม้ว่าพวกเขาจะรู้สึกว่าชั่วโมงการทำงานยาวนานขึ้นก็ตาม ทั้งนี้จากผลสำรวจดังกล่าว ทำให้เรามองภาพรวมของประเทศไทยได้ชัดเจนมากขึ้น เมื่อผู้ตอบแบบสอบถามหลายคนรู้สึกว่าพวกเขามีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานมากขึ้นแม้ว่าต้องทำงานจากที่บ้าน ซึ่งสอดคล้องไปกับวิถีการทำงานของ  ซิกน่า ประเทศไทย ที่ยังคงรักษามาตรฐานในการให้บริการลูกค้าได้อย่างยอดเยี่ยม ตลอดจนการตัดสินใจขยายทางเลือกในการทำงานจากที่บ้านให้แก่พนักงานในบางแผนกไปจนถึงสิ้นปี”
 
 

ที่มา : ซิกน่า      
 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MANAGEMENT

เขียนสัญญาเช่ายังไงให้รัดกุม ธุรกิจไม่เสียเปรียบ

สัญญาเช่า เรื่องใกล้ตัวผู้ประกอบการหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่รู้ไหมการมีสัญญาเช่าที่ดีและรัดกุม สามารถป้องกันปัญหาและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้มากมาย

ทำงานให้ได้งาน 4 เทคนิคบริหารเวลา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ทำไมบางคนงานท่วมหัว ทำงานยุ่งอยู่ตลอดเวลา แต่งานกลับไม่หมดซะที แถมยังส่งงานไม่ทันกำหนด เราเลยมีเทคนิค เช่น Eisenhower Matrix, Eat that frog, Pomodoro และ กฎ 80/20  ซึ่งจะช่วยให้บริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพและชีวิตการทำงานไม่เครียดอีกต่อไป

ประชุมยังไงให้ได้งาน เทคนิคจาก 4 คนดังที่ประสบความสำเร็จ 

การประชุมที่มีประสิทธิภาพนำไปสู่ความสำเร็จ มักจะมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง เราจึงมีเคล็ดลับการประชุมที่แตกต่างกันของคนดังที่ประสบความสำเร็จ  พร้อมแนะนำเทคนิคที่จะช่วยให้การประชุมมีประสิทธิภาพมาฝาก