Happy Meeting! ไอเดียพลิกการประชุมแสนน่าเบื่อ ให้เป็นเรื่องสนุกและได้งานมากขึ้น

TEXT : ยุวดี ศรีภุมมา





Main Idea
 
  • เพราะการประชุมเป็นสิ่งที่คนทำงานต้องเจอตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นประชุมประจำสัปดาห์ ประชุมหาไอเดียใหม่ ประชุมสรุปงานและอื่นๆ อีกมากมาย พอพูดถึงการประชุมทีไรก็ทำให้ใครหลายคนส่ายหน้าและเกิดอาการเบื่อหน่ายขึ้นมาทันที
 
  • จะดีกว่าไหม ถ้าการประชุมครั้งต่อไปของคุณจะกลายเป็นความสนุกยิ่งขึ้น รวดเร็วยิ่งขึ้น ได้งานมากขึ้นแถมยังน่าเบื่อน้อยลงอีกด้วยนะ
 



     แค่พูดถึงคำว่า ‘ประชุม’ ก็ทำให้หลายคนเกิดอาการเบื่อหน่ายขึ้นมาทันที เพราะการประชุมส่วนใหญ่ที่เจอมักจะกินเวลาทำงานยืดยาว วกไปเรื่องนู่น วนมาเรื่องนี้ กว่าจะได้ใจความสำคัญจริงๆ ก็หมดเวลาประชุมไปซะแล้ว บางทีการประชุมก็แทบไม่ได้อะไรเลยด้วยซ้ำ ทำให้หลายคนเบื่อเซ็งกับการประชุมได้ง่ายๆ


     วันนี้เราเลยมีไอเดียพลิกการประชุมที่น่าเบื่อให้เต็มไปด้วยความสนุก แถมยังได้งานจริงๆ อีกด้วยนะ



 
  • เคลียร์จุดประสงค์ของการประชุมให้ชัดเจน

     สิ่งสำคัญอย่างแรกของการประชุมคือการเคลียร์จุดประสงค์การประชุมในแต่ละครั้งให้ชัดเจน โดยต้องรู้ก่อนว่าประเด็นสำคัญที่จะนำมาถกเถียงและหาข้อสรุปกันนั้นคือเรื่องอะไร การมีจุดประสงค์ที่ชัดจะช่วยให้การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่หลงทาง ไม่ยืดเยื้อและยังช่วยให้คุณหาข้อสรุปได้ง่ายขึ้นอีกด้วย



 
  • เริ่มต้นด้วยพลังบวก

     การประชุมส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นในช่วงเช้าของวัน ฉะนั้นการเริ่มต้นประชุมควรเริ่มต้นด้วยพลังงานที่ดีเพื่อส่งต่ออารมณ์ด้านบวกให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้นำการประชุมต้องเริ่มจากรอยยิ้ม การทักทายและพลังใจให้แก่พนักงาน หากคุณสามารถเริ่มต้นวันใหม่ได้ดี วันทั้งวันก็จะราบรื่นและการประชุมของคุณก็ไม่จะตึงเครียดเกินไปด้วย
 


 
  • เปิดให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น

     การประชุมที่ดี มีประสิทธิภาพและสนุกคือการประชุมที่ทุกคนมีส่วนร่วมและสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ต้องกลัวว่าความเห็นของตัวเองจะผิดหรือว่าไม่ถูกใจผู้นำ ฉะนั้น ในฐานะผู้นำ คุณต้องสร้างบรรยากาศในการประชุมที่ทุกคนพร้อมแสดงความคิดเห็นได้และไม่มีใครมาตัดสินว่า ‘แบบนั้นไม่ดี’  ‘ไม่ควรคิดแบบนี้’ เพราะจะทำให้ทุกคนไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอีกต่อไป นอกจากนี้ยังควรขอบคุณพวกเขาเสมอสำหรับความคิดเห็นต่างๆ



 
  • ไม่ประชุมนานเกินไป

     ยิ่งการประชุมกินเวลานานเท่าไหร่ ยิ่งได้ประสิทธิภาพน้อยลง เพราะทุกคนจะเริ่มรู้สึกเหนื่อยล้ากับการประชุมเหมือนว่ายน้ำวนอยู่ในอ่าง หาทางออกไม่เจอ การประชุมที่สนุกจะต้องมีการควบคุมเวลาอยู่ที่ประมาณ 15–30 นาที อย่างช้าที่สุดประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้ผู้เข้าร่วมประชุมรู้สึกหมดพลังไปเสียก่อน



 
  • สร้างความแปลกใจให้ผู้เข้าประชุม

     หากคุณอยากทำให้การประชุมสนุกยิ่งขึ้นและช่วยกระตุ้นไอเดียสร้างสรรค์ของพนักงาน ลองหาอะไรใหม่ๆ มาเป็นส่วนหนึ่งการประชุมดูสิ ไม่ว่าจะเป็นของเล่นกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ มีรูปภาพตลกหรือว่าคลิปวิดีโอเจ๋งๆ มาใช้ประกอบการประชุม เป็นต้น
 


 
  • ไม่ต้องประชุมในห้องประชุมบ้างก็ได้
     อีกหนึ่งไอเดียช่วยให้การประชุมน่าเบื่อน้อยลง ลองเปลี่ยนสถานที่ประชุมดูบ้าง จากเดิมที่ต้องประชุมในห้องประชุมสี่เหลี่ยม มีกระดานอันใหญ่หน้าห้อง ทุกคนนั่งล้อมวงกัน มาเป็นการประชุมในสวนใต้ร่มไม้หรือจะเป็นการนั่งประชุมในร้านกาแฟ เป็นต้น การเปลี่ยนบรรยากาศจะช่วยให้ทุกคนผ่อนคลายและไม่ต้องอยู่ในกรอบเดิมๆ
 
 
     ถ้าใครอยากพลิกการประชุมที่น่าเบื่อให้กลายเป็นการประชุมที่สนุกมากขึ้นก็นำไอเดียเหล่านี้ไปปรับใช้ดู บางทีคุณอาจจะได้ไอเดียธุรกิจใหม่ๆ จากพนักงาน รวมถึงได้งานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วยนะ
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: MANAGEMENT

ป้องกันแรงงานขาดลาออกไปเลี้ยงลูก SME สหรัฐ ผุดไอเดียยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เปิดที่เลี้ยงเด็กคู่กับธุรกิจเดิม

เพราะค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งทุกวันนี้ ไม่ถูกเลย หลายบริษัท ร้านค้าต้องเสียพนักงานดีๆ ไป ก็เพราะด้วยเหตุผลว่า “ต้องออกไปดูแลลูก ไม่มีคนเลี้ยงลูกให้”

Quiet Quitting เวอร์ชั่นใหม่จากจีน! ประท้วงแบบใหม่ แบบสับ แห่แต่งชุดไม่เหมาะสมไปทำงาน เรียกร้องสวัสดิภาพที่ดี

“Quiet Quitting” หรือ “การลาออกเงียบ” เทรนด์การทำงานของคนยุคนี้ที่มีการพูดถึงกันมากเมื่อช่วง 2 ปีก่อน ล่าสุดคนรุ่นใหม่ หรือ คน Gen Z ต่างหันมาแต่งตัวไปทำงานด้วยชุดที่ไม่เหมาะสม เช่น การสวมชุดที่ดูคล้ายชุดนอนมาทำงาน, การแต่งกายด้วยชุดเวอร์วัง อย่างเสื้อคลุมขนสัตว์ที่ดูรุ่มร่าม เป็นต้น โดยมองว่าไม่ได้ทำผิดกฎอะไร แค่อยากแสดงออกเชิงสัญญาลักษณ์เฉยๆ

ไม่อยากเจ๊งต้องอ่าน รวมทางออกให้ธุรกิจไปต่อ ยามเจอวิกฤตเศรษฐกิจเลวร้าย

ความท้าทายไม่เคยขาดหายไปสำหรับผู้ประกอบการ SME ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเศรษฐกิจถดถอย แต่ทุกปัญหาล้วนมีทางออกเสมอสำหรับผู้ที่มีวิสัยทัศน์และยืนหยัดด้วยปรัชญาที่ถูกต้อง