พนักงานคิดยังไงกับนายจ้าง ในวันที่ธุรกิจสั่นคลอนเพราะโควิด

 
 
Main Idea 
 
 
  • ในยามที่เกิดวิกฤตนับเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการ SME อย่างยิ่ง ที่จะต้องนำพาองค์กรข้ามผ่านวิกฤตนั้นไปให้ได้ โดยที่องค์กรยังแข็งแกร่ง ลูกค้ายังภักดี ขณะที่พนักงานก็ยังคงมีไฟและมีใจกับองค์กร
 
  • SME Thailand ชวนผู้ประกอบการมาหาคำตอบที่หลายคนอาจมองข้าม นั่นคือในยามวิกฤต “พนักงาน” กำลังคิดยังไงกับองค์กรและนายจ้างอย่างคุณ ยังไว้วางใจ พร้อมสู้ไปด้วยกัน หรือแอบถอดใจและพร้อมตีจากองค์กรไปแล้ว

_____________________________________________________________________________________________
 

     ผู้ประกอบการอาจรู้ใจตัวเองดีว่า รู้สึกอย่างไรในวันที่ต้องเจอกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่เคยตั้งคำถามกลับกันไหมว่า แล้ว “พนักงาน” ของคุณล่ะ กำลังคิดยังไงกับองค์กรและนายจ้างอย่างคุณ ในวันที่รอบข้างกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤต เขายังไว้วางใจ พร้อมสู้ไปด้วยกัน หรือแอบถอดใจและพร้อมตีจากองค์กรไปแล้ว 
นี่เป็นงานวิจัยที่เกิดขึ้นในระดับโลก แต่กำลังส่งสัญญาณอะไรบางอย่างกลับมายังผู้ประกอบการไทย และเราอยากให้ SME ได้รู้ 




     หน่วยงานด้านการวิจัยพฤติกรรมธุรกิจและผู้บริโภคของเฟลชแมน ฮิลลาร์ด  (FleishmanHillard’s TRUE Global Intelligence practice)  ได้เปิดเผยผลการศึกษาเกี่ยวกับมุมมองของผู้บริโภคทั่วโลกต่อการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่สะท้อนความจริงว่า ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนการรับรู้ พฤติกรรม ค่านิยมและสังคมอย่างไรบ้าง
หนึ่งในประเด็นที่เก็บตกได้จากงานวิจัยชิ้นนี้ คือมุมมองของลูกจ้าง ที่มีต่อนายจ้างในช่วงวิกฤต 


     งานวิจัยดังกล่าวทำการสำรวจประชากรในหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีความเสี่ยงทางการแพทย์ และผู้ที่ถือว่าเป็นแรงงานที่มีความจำเป็น (ร้อยละ 65 ของผู้ใหญ่วัยทำงาน) ซึ่งส่วนใหญ่รู้สึกถึงผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ 


 
  • ไวรัสมา พาความมั่นใจพนักงานหล่นหาย

     ระหว่างที่ผู้ประกอบการคิดถึงการรับมือกับความอยู่รอดขององค์กร หาวิธีมัดใจลูกค้าให้ภักดีกับแบรนด์ในช่วงวิกฤตให้ได้ แต่จากผลวิจัยพบว่า นายจ้างขององค์กรทุกขนาดไม่ว่าจะองค์กรขนาดใหญ่ หรือกิจการเล็กๆ อย่าง SME ได้รับการประเมินผลต่ำจากพนักงาน โดยมีเพียงร้อยละ 29 ของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้นที่ให้คะแนน “ยอดเยี่ยม” หรือ “ดีมาก” กับนายจ้าง


     โดยแม้จะตระหนักดีว่า อาจมีการเลิกจ้างหรือให้พักงานในภาวการณ์เช่นนี้ แต่ร้อยละ 89 ของพนักงานคาดหวังว่านายจ้างจะยังใจกว้างพอ และมีแนวทางที่สร้างสรรค์ในการลดผลกระทบให้กับลูกจ้าง


     ขณะที่คนทำงานร้อยละ 91 คาดหวังว่า บริษัทต่างๆ จะดำเนินการเพื่อช่วยให้พนักงานมีสุขภาพที่ดี เช่น จัดหาอุปกรณ์ป้องกันไวรัส เจลทำความสะอาดมือ เพื่อให้แน่ใจว่าคนทำงานอย่างพวกเขามีเวลาพักเบรก เพื่อล้างมือและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพบริเวณสถานที่ทำงาน เพื่อให้เกิดการรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ Social distancing ตามนโยบายที่รณรงค์ให้ร่วมมือ 




     พนักงานร้อยละ 78 เข้าใจดีว่าบางบริษัทอาจจะต้องพักงานและเลิกจ้างพนักงาน ขณะที่ร้อยละ 52 ระบุว่านายจ้างดูแลพนักงานได้ดีขึ้นและถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องทำในขณะนี้


     ขณะที่ร้อยละ 63 ของพนักงาน ต้องการสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ ที่ได้มีการนำเสนอในช่วงของการระบาดของเชื้อไวรัสให้คงอยู่ต่อไปอย่างถาวร


     ร้อยละ 21 ของพนักงาน ซึ่งปกติจะต้องทำงานในสำนักงานหรือสถานประกอบการ ในตอนนี้ต่างคาดหวังว่าจะมีตัวเลือกให้สามารถทำงานจากที่บ้านได้


     ร้อยละ 26 ของพนักงาน กล่าวว่า พวกเขากำลังมองหางานใหม่ที่นายจ้างให้การช่วยเหลือพนักงานของตนเอง และจะไม่จงรักภักดีต่อนายจ้างเพียงเพราะการกระทำของเขาในช่วงเหตุการณ์ของระบาดของเชื้อไวรัสเท่านั้น 


 
  • นายจ้างไทยต้องรับมือกับความท้าทายนี้

     “โสพิส เกษมสหสิน” รองประธานอาวุโส พาร์ตเนอร์และผู้จัดการทั่วไป เฟลชแมน ฮิลลาร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า จากงานวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงสิ่งสำคัญที่องค์กรควรจะเร่งกระทำในปัจจุบัน อีกทั้งยังสามารถนำข้อมูลจากการศึกษามาประยุกต์ใช้กับบริบทของประเทศไทยได้ โดยงานวิจัยเผยให้เห็นว่า ยิ่งผู้ประกอบการเผชิญกับภัยคุกคามมากเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามด้านเศรษฐกิจและสังคม ก็ยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างหลักในเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจกัน บนพื้นฐานของความรับผิดชอบ โปร่งใส การสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอและจริงใจต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป้าหมายแห่งความสำเร็จร่วมกัน 




     ฉะนั้นการสื่อสารอย่างเป็นระบบ เน้นคุณค่าและการกระทำ จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถรับมือกับอุปสรรคและความท้าทายที่หลากหลายในโลกปัจจุบันได้ ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นการช่วยสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งดีๆ กับพนักงาน องค์กร ตลอดจนสังคมของเราอีกด้วย


     “ในประเทศไทยควรมีการให้คำแนะนำแก่ออฟฟิศต่างๆ ในประเด็นที่เกี่ยวกับการรักษาระยะห่างทางสังคม เพื่อให้พนักงานมีสุขภาพดี ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างปกติ  นายจ้างต้องรับรู้ถึงข้อกังวลด้านสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน และยังต้องสร้างความคาดหวังเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับพนักงานด้วย ถึงแม้อาจจะมีการต่อต้านอยู่บ้าง แต่ด้วยการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อรายงานสถานการณ์และการเข้าไปข้องเกี่ยวกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในระหว่างที่มีการกำหนดแนวทางให้กลับไปทำงานเช่นเดิม เชื่อว่าองค์กรจะสามารถส่งเสริมให้เกิดการสร้างสมรรถนะและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ในการทำงาน ซึ่งจะช่วยให้มีการฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืนได้” เขาสรุปในตอนท้าย 
 

     ในโลกของการทำธุรกิจ SME ไม่สามารถเดินเพียงลำพังได้ การที่จะไปถึงจุดมุ่งหมายที่ตั้งใจไว้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือจากเหล่าพนักงาน นั่นเองที่สะท้อนว่า เสียงของพนักงานสำคัญ โดยเฉพาะในยามที่เกิดวิกฤต อย่างน้อยเมื่อเรือสั่นคลอน การรักษาพนักงานไว้ได้ ก็จะเป็นแรงกำลังช่วยประคับประคองเรือของคุณให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ และพร้อมที่จะเผชิญความท้าทายอีกมากมายในอนาคต 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

Sequence quotient รู้ว่าต้องทำอะไรก่อน-หลัง เทคนิคผู้บริหารต้องรู้อยากให้ธุรกิจโต

ในช่วงที่ผ่านมาได้เกิดกระแสดราม่าที่ร้อนแรงขึ้นกับคอนเทนต์ของคุณ CK Cheong (ซีเค เจิง) CEO ของ FASTWORK เรื่อง “มุมมองการบริหารเวลา แนะ ต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน แต่ทุกคนมีเวลาเท่ากัน”

มัดรวม 5 ไอเดียประหยัดต้นทุนธุรกิจโรงแรมไซส์เล็ก

ฤดูร้อนมาเยือนแล้ว เป็นอีกหนึ่งไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวฟากฝั่งทะเล จะทำยังไงให้มีรายได้เยอะขึ้น นอกจากการหาลูกค้าเพิ่ม การช่วยลดต้นทุนก็เป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ โดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็กที่ไม่ได้มีเงินทุนมากมาย วันนี้เลยอยากชวนมาลดต้นทุนธุรกิจกับ 5 ไอเดียประหยัดต้นทุนโรงแรมไซส์เล็กกัน

รู้ก่อนเจ๊ง ความปลอดภัยทางไซเบอร์กับอนาคตธุรกิจ 40% ของเป้าหมายอาชญากรรมไซเบอร์ คือ SME

จากข้อมูลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย พบว่า การโจมตีทางไซเบอร์ต่อ SME เพิ่มขึ้น 35% โดยที่ 40% ของเป้าหมายอาชญากรรมไซเบอร์ทั้งหมดในประเทศคือ SME