Main Idea
- ในช่วงวิฤตเช่นนี้ นอกจากการรักษาธุรกิจให้รอดแล้ว การรักษาพนักงานให้อยู่กับคุณและฝ่าวิกฤตไปด้วยกันก็สำคัญเช่นเดียวกัน
- และเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณได้พนักงานที่มอบใจให้องค์กรแล้ว เมื่อนั้นพวกเขาจะทุ่มเทเพื่อคุณ พร้อมจะฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรคไปกับคุณ และช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ เป็นช่วงเวลาพิสูจน์ได้ดีว่าคุณเป็นผู้นำที่พนักงานรักมากแค่ไหน!
เมื่อโลกของเรากำลังปั่นป่วน ทุกอย่างพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ อะไรหลายๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นแบบฉับพลัน หลายธุรกิจกำลังเผชิญหน้ากับความยากลำบาก และสตินั้นสำคัญมากในการต่อสู้เพื่อผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้อย่างสตรอง! นอกจากที่คุณต้องรักษาธุรกิจเอาไว้ให้ได้แล้ว อีกหนึ่งอย่างที่ต้องรักษาให้ได้นั่นคือ “ใจของพนักงาน” เพราะพวกเขาคือพละกำลังสำคัญที่จะช่วยให้คุณฝ่าวิกฤตไปได้ ฉะนั้น ในฐานะของผู้นำองค์กร คุณต้องรู้ก่อนว่าพวกเขาต้องการอะไรจากผู้นำในยามวิกฤตเช่นนี้
- ให้พวกเขามีความยืดหยุ่นมากขึ้น
หนึ่งในเรื่องที่ผู้นำสามารถทำได้เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของพนักงานนั่นคือความยืดหยุ่นในการทำงาน บางองค์กรอาจมีนโยบายให้พนักงาน Work From Home หรือมีการสลับวันกันเข้าทำงาน ปรับเปลี่ยนเวลาเข้างานเพื่อให้ไม่ต้องเจอผู้คนแออัดเวลาเดินทางมาทำงาน
- ดูแลสุขภาพใจของพนักงานในยามยาก
ความเครียดไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเจ้าของธุรกิจเท่านั้น พนักงานหลายคนก็มีอาการเครียด มีความกังวลถึงสภาวะที่ไม่แน่นอน หลายคนไม่มีเงินเก็บเพียงพอสำหรับอนาคตหากต้องตกงาน สิ่งสำคัญในช่วงนี้คือการที่องค์กรมีการดูแลใจของพนักงาน เช่น มอบสิทธิ์ให้พนักงานเข้าพบนักจิตวิทยาฟรี จัดเวลาพบปะบนโลกออนไลน์สำหรับพนักงานที่ทำงานที่บ้านเพื่อให้พวกเขาได้เข้าสังคมผ่านการวิดีโอคอล เป็นต้น
- ดูแลสุขภาพกาย
นอกจากการดูแลสุขภาพใจของพนักงานแล้ว ในช่วงวิกฤต ผู้นำควรดูแลสุขภาพกายของพนักงานด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำประกันโควิดให้พนักงาน ดูแลความสะอาดของบริษัทเพื่อสร้างความมั่นใจให้คนทำงาน มีเจลแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัยให้พนักงาน นอกจากนี้บางบริษัทอาจมีการเลี้ยงอาหารกลางวันสำหรับพนักงานที่ต้องเดินทางมาทำงานที่บริษัทอยู่ ก็จะช่วยให้พนักงานอุ่นใจมากยิ่งขึ้น
- ทำให้พวกเขาเชื่อมั่น
ความไว้วางใจ ความเชื่อใจ ถ้าคุณทำให้พวกเขารู้สึกเช่นนี้ได้ คุณจะได้พนักงานที่พร้อมจะทุ่มเทเพื่อองค์กร แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น คุณจำเป็นที่จะต้องสร้างรากฐานความรู้สึกเหล่านี้ให้แข็งแกร่งเสียก่อน ที่สำคัญต้องสร้างอย่างจริงใจด้วย วิธีการสร้างความเชื่อมั่นยามวิกฤต เริ่มต้นจากความรู้สึกห่วงใยพวกเขา เข้าใจความรู้สึกของพนักงาน รู้ว่าพวกเขาต้องการอะไร นอกจากนี้คุณควรที่จะเปิดเผยข้อมูลต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็น สถานการณ์ของบริษัท แผนการรับมือ สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต อย่าปล่อยให้พนักงานคาดเดาทุกอย่างไปเอง เรื่องของการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญมากในช่วงเวลานี้
- ความกดดันไม่ใช่ทางออก
แน่นอนว่าการเป็นผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับภาระในช่วงวิกฤตนั้นเครียดมาก แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเครียดแล้วนำความเครียดไปลงที่พนักงาน กดดันพวกเขา นั่นไม่ใช่ทางเลือกที่ดีแน่นอน สิ่งที่คุณควรทำคือสร้างแรงใจในเชิงบวก ผลักดันพวกเขาให้ทำงานด้วยพลังงานด้านบวก ไม่ใช่ด้านลบ สร้างความสนุกและความท้าทายในการทำงาน ยิ่งคุณกดดันพวกเขาหรือบอกว่าที่ผ่านมายังไม่ดีพอ ยิ่งทำให้แรงใจในการทำงานลดลงประกอบกับความเครียดในช่วงวิกฤตที่พนักงานจนเผชิญ ทั้งความหวาดระแวงเรื่องของไวรัสขณะเดินทางมาทำงาน สภาพคล่องทางการเงินที่สั่นคลอนและความกดดันในองค์กร เมื่อทุกอย่างรวมกันยิ่งทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของพวกเขาลดลงอย่างแน่นอน
เพราะพนักงานคือทรัพยากรที่สำคัญในการทำธุรกิจ หากคุณรู้ใจพนักงาน ดูแลเอาใจใส่พวกเขา คุณจะคว้าใจพวกเขาได้ไม่ยาก
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี