‘เรียนรู้ให้เป็น’ เชื่อเถอะ! ทุกการเปลี่ยนแปลงมีความหมายกับ SME เสมอ

TEXT : นิตยา สุเรียมมา
 


 

Main Idea
 
  • ในการทำธุรกิจแน่นอนว่าการพบเจอปัญหาอุปสรรคต่างๆ ย่อมเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งก็มีทั้งปัญหาที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ เราสามารถเรียนรู้อะไรจากวิกฤตครั้งนั้นได้บ้างหรือเปล่าต่างหาก
 
  • ในครั้งนี้จึงอยากชวนผู้ประกอบการ SME มาเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยการตรวจเช็ก สำรวจธุรกิจของตัวเองว่ามีอะไรที่เราควรปรับและเปลี่ยน หรือมีอะไรที่พอลงมือทำได้บ้างในช่วงที่กำลังเกิดวิกฤตเช่นนี้
 
 

     Charles Darwin นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ได้กล่าวไว้ว่า มนุษย์ไม่ใช่เผ่าพันธุ์ที่แข็งแกร่งที่จะมีชีวิตรอด หรือฉลาดที่สุดในการมีชีวิตอยู่ แต่คือ สิ่งที่สามารถปรับตัวและเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุดต่างหาก


     นี่น่าจะเป็นคำกล่าวที่บอกได้ดีที่สุดถึงศักยภาพของมนุษย์ในยามเจอวิกฤตแต่ละครั้งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ว่าเราสามารถผ่านพ้นมันมาได้อย่างไร เพราะมนุษย์ คือ ผู้ที่รู้จักปรับตัวกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดีนั่นเอง ซึ่งครั้งนี้ก็เช่นกันนอกจากร่องรอยบาดแผลที่ทิ้งไว้แล้ว ลองมาดูกันสิว่าผู้ประกอบการธุรกิจสามารถเรียนรู้และปรับตัวจากวิกฤตนี้อย่างไรได้บ้าง ถ้าจะกล่าวคำว่า เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เวลานี้น่าจะเหมาะสมที่สุดแล้วล่ะ
 



 
  • ยอมรับวิถีดิจิทัล
               
     หากคุณเป็นองค์กรหนึ่งที่อาจยังไม่ได้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในองค์กรมากนัก เวลานี้น่าจะเรียกได้ว่าดีที่สุดแล้วที่คุณจะลองเปิดใจนำนวัตกรรมต่างๆ เหล่านั้นเข้ามาทดลองใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจของคุณดูบ้าง เพราะอย่างที่ได้เห็นแล้วว่าปัจจุบันมีตัวช่วยจากเทคโนโลยีสมัยใหม่เกิดขึ้นมากมาย แถมเทคโนโลยีสมัยนี้ก็มีราคาถูก และใช้งานได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ถึงเวลาแล้วที่คุณจะต้องลองสำรวจดูบ้าง เพื่อหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้กับธุรกิจของตัวเองดู เช่น หากคุณเป็นร้านออฟไลน์อย่างเดียว ก็อาจนำออนไลน์เข้ามาใช้ หรือหากขายอาหารที่มีหน้าร้านอย่างเดียว ก็อาจลองใช้บริการดิลิเวอรีดูบ้าง
               
     ลองถามตัวเอง : เทคโนโลยีอะไรบ้างที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจได้?
 



 
  • ค้นหาศักยภาพที่ซ่อนอยู่

     ในยามที่เกิดวิกฤตขึ้นเช่นนี้ อยากให้คุณลองตั้งคำถามกับตัวเองขึ้นมาสิว่า คุณจะสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมดอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้าของคุณ ณ เวลานี้ได้อย่างไรบ้าง เพราะในเวลานี้การเอาตัวรอดให้ได้ คือสิ่งสำคัญที่สุด คุณอาจจะต้องลองปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจสินค้าหรือบริการของตัวเอง โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในมือขณะนี้ เหมือนเช่นกับแบรนด์แฟชั่นเครื่องสำอางและเสื้อผ้าหลายแบรนด์กำลังทำกันอยู่ในขณะนี้ เช่น แทนที่จะมุ่งผลิตเครื่องสำอางคอลเลกชันใหม่ ก็อาจเลือกที่จะผลิตเป็นน้ำยาฆ่าเชื้อออกมาขายแทน หรือจากเสื้อผ้าดีไซน์ใหม่ๆ ก็หันมาผลิตหน้ากากอนามัยออกมาจำหน่ายแทน เป็นต้น
               
     ลองถามตัวเอง : ลูกค้าต้องการอะไรมากที่สุดในตอนนี้ ธุรกิจของเราจะเติมเต็มสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไรบ้าง?
 



 
  • แบ่งปัน เพื่อสร้างคุณค่า
               
     เพราะทุกคนตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันหมดในขณะนี้ ไม่ว่าผู้ประกอบการหรือลูกค้าของธุรกิจเอง ดังนั้นถึงแม้อาจจะไม่สามารถช่วยเหลือหรือทำอะไรได้มากในตอนนี้ คุณอาจลองใช้เวลาว่างที่มีในช่วงนี้ใช้ศักยภาพ องค์ความรู้ คุณค่าที่มีอยู่สร้างให้เกิดประโยชน์ต่อลูกค้าและสังคมขึ้นมาได้ อย่าปล่อยให้สถานการณ์ที่เข้ามาเป็นเพียงแค่ฝันร้าย แต่จงใช้มันให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจของคุณได้ อย่างน้อยๆ ก็เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์และการสื่อสารกับลูกค้าของคุณเอง เช่น หากเป็นร้านตัดผม ซึ่งตอนนี้หลายร้านปิดกิจการชั่วคราวอยู่ คุณอาจลองแบ่งปันภาพทรงผมเท่ๆ แนะวิธีจัดแต่งทรงพร้อมกับการสื่อสารข่าวสารไปถึงลูกค้าด้วย เช่น พวกเราคิดถึงคุณและหวังว่าจะได้พบกันในไม่ช้า
               
     ลองถามตัวเอง : เราจะมีวิธีมีส่วนร่วมและสื่อสารกับลูกค้าธุรกิจได้อย่างไรบ้าง?
 



 
  • มองหาพันธมิตรธุรกิจใหม่ๆ

     มีคำกล่าวที่ว่าถ้าต้องการเติบโตอย่างรวดเร็วให้ไปคนเดียว แต่ถ้าต้องการไปได้ไกลให้ไปด้วยกัน จากเดิมคุณอาจเคยชินกับการดำเนินธุรกิจเพียงลำพังคนเดียว แต่ในสถานการณ์เช่นนี้บางครั้งก็อาจยากลำบากเกินไปหากจะต้องรับมืออยู่คนเดียว คุณอาจลองมองหาพันธมิตรธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถทำประโยชน์ร่วมกันได้ด้วย อย่างน้อยๆ สองหัวก็ดีกว่าหัวเดียว ช่วยกันคิด ช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ นอกจากจะช่วยให้สร้างรายได้เข้ามาเพิ่มขึ้นแล้ว อาจทำให้คุณได้รู้จักลูกค้ากลุ่มใหม่ ตลาดใหม่ รวมถึงโอกาสธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาด้วยก็ได้ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวสามารถทำได้หลายระดับ ไม่จำเป็นต้องเป็นโปรเจกต์ใหญ่ๆ เสมอไป อาจเป็นโปรเจกต์เล็กๆ ความร่วมมือง่ายๆ ก่อนก็ได้ เช่น การทำโปรโมชั่นร่วมกัน การแบ่งปันพื้นที่วางจำหน่ายสินค้าร่วมกัน

     ลองถามตัวเองว่า : ธุรกิจของเราสามารถปรับเปลี่ยนหรือทำอะไรร่วมกับใครได้บ้าง?
 
  



 
  • เป็นเวลาที่ดีของการทดลองสิ่งใหม่
               
     ในยามสถานการณ์ปกติ ไม่ง่ายเท่าไรนักที่เราจะได้ทดลองหรือปรับเปลี่ยนอะไรอย่างที่อยากลองทำ เพราะอาจส่งผลกระทบในหลายส่วนได้ แต่ในยามที่ทุกอย่างไม่มีอะไรจะเสียแล้วเช่นนี้ ก็นับเป็นโอกาสที่ดีเช่นกันหากเราอยากทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ซึ่งแม้จะไม่ได้ผลที่ดีก็ไม่เป็นไร แต่เราก็ได้เรียนรู้ และสามารถนำข้อผิดพลาดต่างๆ เหล่านั้นมาปรับปรุงแก้ไขในอนาคตได้ แน่นอนว่าคุณอาจต้องทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่จงอย่าล้มเลิกความพยายาม กล้าหาญ และอดทนไว้ คุณอาจได้ค้นพบสิ่งใหม่ที่ดีกับธุรกิจของตัวเองขึ้นมาได้

     ลองถามตัวเอง : สำหรับความคิดใหม่นี้ อะไร คือ ความล้มเหลว หรือเลวร้ายที่จะเกิดขึ้น และเราจะได้เรียนรู้อะไรจากมันบ้าง?
 
             

  

     แม้วิกฤตครั้งนี้จะหนักหนานัก แต่จงจำไว้ว่าคุณไม่ใช่เพียงคนที่ได้รับผลกระทบ ยังมีเพื่อนๆ ผู้ประกอบการ รวมถึงลูกค้าหลายคนที่ได้รับผลกระทบไม่แตกต่างกัน ฉะนั้นอะไรที่อยู่เหนือการควบคุมก็จงปล่อยวาง ลองคิดและลงมือทำในสิ่งที่คุณทำได้ดีกว่า แล้วเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MANAGEMENT

Quiet Quitting เวอร์ชั่นใหม่จากจีน! ประท้วงแบบใหม่ แบบสับ แห่แต่งชุดไม่เหมาะสมไปทำงาน เรียกร้องสวัสดิภาพที่ดี

“Quiet Quitting” หรือ “การลาออกเงียบ” เทรนด์การทำงานของคนยุคนี้ที่มีการพูดถึงกันมากเมื่อช่วง 2 ปีก่อน ล่าสุดคนรุ่นใหม่ หรือ คน Gen Z ต่างหันมาแต่งตัวไปทำงานด้วยชุดที่ไม่เหมาะสม เช่น การสวมชุดที่ดูคล้ายชุดนอนมาทำงาน, การแต่งกายด้วยชุดเวอร์วัง อย่างเสื้อคลุมขนสัตว์ที่ดูรุ่มร่าม เป็นต้น โดยมองว่าไม่ได้ทำผิดกฎอะไร แค่อยากแสดงออกเชิงสัญญาลักษณ์เฉยๆ

ไม่อยากเจ๊งต้องอ่าน รวมทางออกให้ธุรกิจไปต่อ ยามเจอวิกฤตเศรษฐกิจเลวร้าย

ความท้าทายไม่เคยขาดหายไปสำหรับผู้ประกอบการ SME ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเศรษฐกิจถดถอย แต่ทุกปัญหาล้วนมีทางออกเสมอสำหรับผู้ที่มีวิสัยทัศน์และยืนหยัดด้วยปรัชญาที่ถูกต้อง

5 หนังครอบครัวฟีลกู้ด ที่คนทำธุรกิจควรดู

เพราะครอบครัว คือ รากฐานสำคัญของทุกอย่าง หลายธุรกิจแจ้งเกิดเติบโตประสบความสำเร็จได้  เนื่องในวันครอบครัว 14 เมษายนนี้ เลยอยากชวนมาดู 5 หนังเรื่องราวธุรกิจที่มีความอบอุ่นของครอบครัวเป็นแรงผลักดันจนสำเร็จมาฝากกัน