เปลี่ยน SME มาเป็น “นักสื่อสารในภาวะวิกฤต” ช่วยธุรกิจฝ่าโควิด-19


 

Main Idea
 
  • ความท้าทายอย่างยิ่งยวดของผู้ประกอบการ เมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤต ไม่ใช่เพียงแค่การคิดกลยุทธ์ เพื่อรับมือกับปัญหา และประคับประคองกิจการให้อยู่รอดได้เท่านั้น แต่ยังรวมถึง “การจัดการการสื่อสารในภาวะวิกฤต” (Crisis Communication Management) ได้ด้วย
 
  • และนี่คือ 3 หัวใจหลัก ของการสื่อสารในภาวะวิกฤต จาก “ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย” แห่งดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชันส์ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถตั้งรับ ปรับจูน และเข้าใจอย่างเท่าทัน ตลอดจนมีแนวทางการสื่อสารที่จะนำพาตนเองข้ามพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้
 
 

     ในภาวะวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ณ ขณะนี้ เป็นโจทย์ใหญ่ของผู้ประกอบการ SME ทุกคน ที่ต้องคิดกลยุทธ์ รับมือกับปัญหา เพื่อประคับประคองกิจการให้อยู่รอดจนสามารถข้ามผ่านวิกฤตนี้ไปได้


     ซึ่งหนึ่งในความท้าทายและมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด นั่นคือทักษะด้าน “การจัดการการสื่อสารในภาวะวิกฤต” (Crisis Communication Management)   เรื่องที่อาจคุ้นชินขององค์กรขนาดใหญ่ และหน่วยงานต่างๆ ที่ได้นำเทคนิคในด้านการสื่อสารมาประยุกต์ใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการจัดการการสื่อสารในภาวะวิกฤติอย่างรอบด้าน แต่สำหรับ SME เรื่องนี้อาจไม่ง่ายนัก
               




     ลองมาฟัง “ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย” ประธานที่ปรึกษา บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชันส์ จำกัด ธุรกิจให้บริการด้านการปรึกษางานประชาสัมพันธ์ของเมืองไทย เพื่อรู้เทคนิคการสื่อสารในภาวะวิกฤต ที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถตั้งรับ ปรับจูน และเข้าใจอย่างเท่าทัน มีแนวทางการสื่อสารที่จำเป็นเพื่อนำไปปรับประยุกต์ใช้จริงได้
 

     หลักสำคัญ 3 ประการ ของการสื่อสารในภาวะวิกฤต
 
               
     ดร.ดนัย บอกถึงหลักสำคัญในการสื่อสารในภาวะวิกฤต ที่มีอยู่ 3 ประการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า การดำเนินธุรกิจจะสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งประกอบด้วย
 




1.ต้องวางแผนการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร



     ในภาวะวิกฤต ผู้ประกอบการควรวางแผนรองรับเหตุฉุกเฉินหรือ Disruption ต่างๆ ให้ครอบคลุมทั้งแผนการสื่อสารเชิงรุกและเชิงรับ โดยต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความโปร่งใส พร้อมทั้งกำหนดทีมงาน ผู้มีส่วนในการตัดสินใจ รวมถึงมีการสื่อสารในองค์กรล่วงหน้าให้ทุกคนเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ เตรียมการทุกด้านที่เกี่ยวข้องให้พร้อม เพื่อสามารถนำไปปฏิบัติได้ทันทีอย่างมีประสิทธิภาพ
 




2.สื่อสารอย่างโปร่งใส ด้วยความฉับไวทันท่วงที มีความยืดหยุ่นและจริงใจ



     ซึ่งนี่คือหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส และส่งเสริมภาพลักษณ์ของธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น โดยผู้ประกอบการต้องใส่ใจทุกคนในองค์กรรวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างทั่วถึง โดยเริ่มต้นจากการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และการดูแลสุขภาพอนามัยของบุคลากรในองค์กรทั้งหมด รวมทั้งการเพิ่มมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ เพื่อให้กระบวนการทำงานมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ต้องขจัดความเชื่อและความเข้าใจที่ผิดด้วยการให้ข้อมูลที่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว ต้องก้าวทันสถานการณ์และพร้อมชี้แจงแนวทางการรับมือ ด้วยข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน
 




3.แยก Fact vs. Fake News ป้องกันความสับสนของข้อมูลข่าวสาร และพร้อมตอบสนองต่อสถานการณ์ได้ทุกที่
 


     ไม่ว่าจะทำงานจากที่บ้านหรือทำงานในสำนักงานก็ตาม ทุกฝ่ายจะต้องวางแผนและเตรียมการรองรับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงต่างๆ เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องไม่ติดขัด เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งในยุคนี้มีเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ที่เข้ามาช่วยในการสื่อสารกับลูกค้า รวมถึงการสื่อสารภายในองค์กร เช่น การประชุมและจัดการอบรมผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่มีให้เลือกมากขึ้นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก ซึ่งวิธีการเหล่านี้ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ได้
 




     ดร.ดนัย บอกว่า แม้วิกฤตนี้จะรุนแรงขึ้นทุกวัน แต่ผู้ประกอบการก็ต้องสื่อสารได้ด้วยความเข้าใจอย่างท่องแท้ เพราะวิกฤตการณ์มันอาจจะเป็นโอกาสให้กับหลายๆ ธุรกิจ จะได้มีกิจกรรมตลอดจนการสร้างคุณค่าและความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งนั่นเองที่จะนำมาซึ่งชื่อเสียงที่ดีในระยะยาว แม้วิกฤตจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ถ้าเรายึดมั่นในการสื่อสารที่ดี ภาพลักษณ์ที่สร้างขึ้นจากการสื่อสารอย่างโปร่งใสนั้น จะทำให้เราอยู่ในใจผู้บริโภคและคนทั่วไปได้อย่างยาวนานได้นั่นเอง
 

     “การจัดการการสื่อสารในภาวะวิกฤต” อาจเคยเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับ SME แต่คงไม่ใช่กับผู้ประกอบการในยุคนี้ ที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงทุกวัน ถึงเวลาลุกมาเปลี่ยนตัวเอง เพิ่มทักษะบริหาร มาเป็นนักสื่อสารในภาวะวิกฤต เพื่อนำพาองค์กรของคุณข้ามพ้นวิกฤตแล้วไปสู่โอกาสใหม่ๆ ได้ในอนาคต
               
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MANAGEMENT

เขียนสัญญาเช่ายังไงให้รัดกุม ธุรกิจไม่เสียเปรียบ

สัญญาเช่า เรื่องใกล้ตัวผู้ประกอบการหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่รู้ไหมการมีสัญญาเช่าที่ดีและรัดกุม สามารถป้องกันปัญหาและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้มากมาย

ทำงานให้ได้งาน 4 เทคนิคบริหารเวลา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ทำไมบางคนงานท่วมหัว ทำงานยุ่งอยู่ตลอดเวลา แต่งานกลับไม่หมดซะที แถมยังส่งงานไม่ทันกำหนด เราเลยมีเทคนิค เช่น Eisenhower Matrix, Eat that frog, Pomodoro และ กฎ 80/20  ซึ่งจะช่วยให้บริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพและชีวิตการทำงานไม่เครียดอีกต่อไป

ประชุมยังไงให้ได้งาน เทคนิคจาก 4 คนดังที่ประสบความสำเร็จ 

การประชุมที่มีประสิทธิภาพนำไปสู่ความสำเร็จ มักจะมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง เราจึงมีเคล็ดลับการประชุมที่แตกต่างกันของคนดังที่ประสบความสำเร็จ  พร้อมแนะนำเทคนิคที่จะช่วยให้การประชุมมีประสิทธิภาพมาฝาก