Main Idea
- การเลือกพนักงานเข้ามาทำงานเป็นสิ่งสำคัญ แต่กว่าจะเจอ “คนที่ใช่” นั้นไม่ง่ายเลย มีหลายองค์ประกอบที่ต้องใช้ในการตัดสินใจ ดูว่าจะเข้ากันได้ไหม คุยเรื่องเดียวกันรู้เรื่องหรือไม่ และจะอยู่ร่วมกันไปได้อีกนานแค่ไหน
- โดยคุณอาจต้องเจอคนเป็นสิบ เป็นร้อยถึงจะได้เจอคนที่ใช่จริงๆ สักคน ในวันนี้เรามี How to การเลือกพนักงานที่ใช่ และเคล็ดลับในการดึงดูดคนเหล่านั้นเข้ามาทำงานกับคุณให้รับรู้กัน
กว่าจะเจอคนที่ใช่นั้นไม่ง่าย มีหลายองค์ประกอบที่ต้องใช้ในการตัดสินใจ ดูว่าจะเข้ากันได้ไหม คุยเรื่องเดียวกันรู้เรื่องหรือไม่ และจะอยู่ร่วมกันไปได้นานแค่ไหน ดูเผินๆ คล้ายเป็นการเลือกคู่ชีวิต แต่ไม่ใช่ เพราะเรากำลังพูดถึงการเลือก “พนักงานที่ใช่” เข้ามาทำงานร่วมกันในองค์กร โดยคุณอาจต้องเจอคนเป็นสิบ เป็นร้อยถึงจะได้คนที่ใช่จริงๆ สักคน และในวันนี้เราเลยมี How to การเลือกพนักงานที่ใช่ และเคล็ดลับในการดึงดูดคนเหล่านั้นเข้ามาทำงานกับคุณ
How to 1 : ตำแหน่งงานไม่คลุมเคลือ
ก่อนที่จะไปถึงจุดที่จะหาพนักงานที่ใช่ ต้องเริ่มต้นด้วยเรื่องพื้นฐานอย่างการเขียนตำแหน่งงานและหน้าที่ให้ชัดเจนเพื่อที่จะได้สื่อสารออกไปได้อย่างถูกต้อง การเขียนตำแหน่งงาน บรรยายลักษณะงานให้ชัดเจนนั้น เป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่จะดึงดูดคนที่ใช่เข้ามาหาคุณ อีกทั้งยังตัดคนที่ไม่ตรงตามความต้องการออกไปได้อีกด้วย
How to 2 : งานของคุณน่าสนใจมากพอ
ไม่ใช่แค่องค์กรที่เลือกพนักงานเท่านั้น แต่พนักงานที่ดีก็เลือกองค์กรด้วยเช่นกัน นอกเหนือจากตำแหน่งงาน ลักษณะงานที่ชัดเจน คุณต้องมีความน่าสนใจมากเพียงพอให้เขากดสมัครกับคุณ ไม่ว่าจะเป็น สวัสดิการต่างๆ เขาจะได้อะไรจากการทำงานนี้บ้าง เป็นต้น
How to 3 : ทุกอย่างต้องชัดเจน
อย่าทำให้องค์กรของคุณดูลึกลับ เพราะพนักงานยุคใหม่ต้องการความชัดเจน ความโปร่งใส บางองค์กรมักจะไม่ระบุเงินเดือน สวัสดิการ หรือแม้แต่วันทำงาน เช่น องค์กรของคุณต้องการให้พนักงานทำงานวันเสาร์ แต่ไม่ระบุลงไป เป็นต้น หากคุณอยากให้พนักงานดีๆ อยู่กับคุณหรืออยากดึงดูดคนที่ใช่เข้ามาทำงาน ต้องเคลียร์ทุกอย่างให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น
How to 4 : ต้องการอะไร บอกไปตรงๆ
อีกเรื่องคือคุณต้องถามตัวเองก่อนว่า คุณต้องการอะไร ต้องการคนแบบไหน บอกไปตรงๆ ไม่ทำให้ตำแหน่งงานนั้นคลุมเครือหรือจับหลายตำแหน่งมาชนกันภายในตำแหน่งเดียว เพราะการทำงานหลายอย่าง หลายหน้าที่ไปพร้อมๆ กันภายใต้ความคาดหวังว่าทุกอย่างจะต้องเพอร์เฟ็กต์นั้นอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พนักงานที่ใช่ของคุณหมดไฟได้ง่ายๆ
How to 5 : เรซูเม่ อาจไม่ได้บอกทุกสิ่ง
แน่นอนว่าเรซูเม่อาจจะบอกคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้สมัคร บอกประวัติ ความเป็นมา บอกความสามารถและบอกสิ่งที่พวกเขาทำได้ แต่เรซูเม่อาจไม่ได้บ่งบอกแนวคิด ทัศนคติของพวกเขา ฉะนั้น การพิจารณาจากเรซูเม่จึงไม่สามารถตัดสินได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าพวกเขาจะเป็นคนที่ใช่สำหรับคุณหรือไม่
How to 6 : เลี่ยงคำถามง่ายๆ
เล่าเรื่องของคุณหน่อย จุดแข็งคืออะไร จุดอ่อนคืออะไร ทำไมเราต้องรับคุณ นี่คือตัวอย่างของคำถามง่ายๆ ที่ใครๆ ก็สามารถเตรียมคำตอบแบบสวยหรูมาได้ ลองถามคำถามเหนือความคาดหมายแล้วดูปฏิกิริยาการตอบกลับและคำตอบของพวกเขาดูสิ เช่น หนังสือที่อ่านเล่มล่าสุดคือเล่มไหน คุณทะเลาะกับใครครั้งล่าสุด ถ้ามองอนาคตตัวเองใน 10 ปีข้างหน้าจะเห็นอะไร หากถามคนรอบข้างคุณว่าตัวคุณเป็นแบบไหน คำตอบที่ได้จะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ลองจำลองสถานการณ์ให้พวกเขาแก้ปัญหา เช่น ถ้าเกิดปัญหาแบบนี้ในงาน คุณจะจัดการอย่างไร เป็นต้น
How to 7 : ทำใจให้เป็นกลาง อย่าเข้าข้างใครมากเกินไป
แน่นอนว่า ก่อนที่ผู้สมัครจะเดินทางมาสัมภาษณ์ คุณคงได้เห็นประวัติและเรซูเม่ของพวกเขามาก่อนหน้านั้น หลายคนคงเห็นรุ่นน้องในมหาวิทยาลัยของตัวเองหรือผู้สมัครที่จบจากสถาบันชั้นนำ ผู้สมัครที่เกรดเฉลี่ยสูงไปจนถึงผู้สมัครที่หน้าตาดี แต่เมื่อถึงเวลาจริง อย่าให้ใจของคุณเอนเอียงไปที่ใคร ต้องทำตัวเองให้เป็นกลาง เปิดใจรับฟังทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ใช้สถาบัน เกรดเฉลี่ย หน้าตา เป็นตัวตัดสินใจในการเลือกใครสักคน แต่ให้มองลึกไปที่ทัศนคติ ความคิด การแสดงออก ความมั่นใจ ความอ่อนน้อม ดูว่าผู้สมัครเหมาะสมกับตำแหน่งที่คุณต้องการไหม
How to 8 : ถ้าไม่ใช่ก็ต้องปล่อยไป
อย่าฝืน หากคุณเจอคนที่ไม่ใช่ อย่ารีบร้อนที่จะดึงคนที่ไม่ต้องการเข้ามาทำงาน ลองใช้เวลาในการเลือกสรรให้มากๆ เพราะไม่อย่างนั้น คุณจะทั้งเวลา เสียทั้งเงิน และเมื่อถึงเวลาที่ใช่ คนที่ใช่ก็จะเข้ามาหาคุณเอง
นี่คือเคล็ดลับดีๆ ที่องค์กร SME อย่างคุณก็นำไปใช้ได้ เพื่อไม่ใช่แค่หาพนักงานให้เข้ามาทำงานกับองค์กร แต่เป็นการหา “พนักงานที่ใช่” เพื่อเข้ามาตอบโจทย์ และสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจของคุณได้ในอนาคต
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี