Main Idea
- เพิ่งจะก้าวข้ามปีมาไม่นาน องค์กรส่วนใหญ่คงเพิ่งจะผ่านพ้นจากการควักกระเป๋าก้อนใหญ่จ่ายโบนัสและเตรียมขึ้นเงินเดือนให้พนักงานในปี 2020
- การจ่ายโบนัสและการขึ้นเงินเดือนเปรียบเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงหัวใจของพนักงานที่ทำงานมาหนักทั้งปีให้ชุ่มชื่น ที่สำคัญยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจ ‘อยู่หรือไป’ ในองค์กรอีกด้วย
เพิ่งจะก้าวข้ามปีมาไม่นาน องค์กรส่วนใหญ่คงเพิ่งจะผ่านพ้นจากการควักกระเป๋าก้อนใหญ่จ่ายโบนัสและเตรียมขึ้นเงินเดือนให้พนังงานในปี 2020 การจ่ายโบนัสและการขึ้นเงินเดือนเปรียบเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงหัวใจของพนักงานที่ทำงานมาหนักทั้งปี แถมยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจ ‘อยู่หรือไป’ ในองค์กรอีกด้วย เพราะหากองค์กรของคุณมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการจ่ายโบนัสไม่ขาด ขึ้นเงินเดือนให้ตามความเหมาะสม ก็ทำให้พวกเขารู้สึกถึงความมั่นคงและการเติบโตภายในองค์กรแต่ถ้าคุณหยุดนิ่ง ไม่จ่ายโบนัสไม่ขึ้นเงินเดือน อาจทำให้พวกเขารู้สึกสั่นคลอนและมองไปถึงความไม่มั่นคงทางการเงินของบริษัท
ล่าสุดมีตัวเลขที่น่าสนใจอย่างผลสำรวจการจ่ายโบนัสประจำปี 2019 และการขึ้นเงินเดือนปี 2020จาก Experis (เอ็กซ์พีริส) บริษัทในเครือแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เขามีการสำรวจกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ พนักงาน 250 คนขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วน 11 เปอร์เซ็นต์ และองค์กรขนาดกลาง พนักงาน 50-250 คน สัดส่วน 64 เปอร์เซ็นต์ และองค์กรขนาดเล็ก พนักงานต่ำกว่า 50 คน สัดส่วน 25 เปอร์เซ็นต์ โดยทำการสำรวจทั้งหมด 1,000 รายจาก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจให้บริการ ธุรกิจด้านการผลิตและธุรกิจการจัดจำหน่าย
- SME หน้าใหม่จูงใจพนักงานด้วยเงินเดือนสูงขึ้น
ต้องยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศมีความผันผวนค่อนข้างสูง หลายองค์กรจึงมีมาตรการรัดเข็มขัด การขึ้นเงินเดือนจึงไม่หวือหวาสักเท่าไหร่ โดยผลสำรวจเผยว่าการขึ้นเงินส่วนใหญ่มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 3-5 เปอร์เซ็นต์ โดยกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่และขนาดกลางมีทิศทางการปรับขึ้นเงินเดือนใกล้เคียงกันคือประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ มีอัตราการปรับเงินเดือนอยู่ที่ 3-5 เปอร์เซ็นต์ ส่วน 33 เปอร์เซ็นต์ปรับขึ้นเงินเดือน 5-7 เปอร์เซ็นต์
ส่วนองค์กรขนาดเล็กหรือ SME หน้าใหม่กำลังน่าจับตามองเนื่องจากมีอัตราการปรับขึ้นเงินเดือน 10 เปอร์เซ็นต์สูงถึง 6 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าองค์กรขนาดใหญ่และขนาดกลาง เหตุผลหลักคือการสร้างแรงจูงใจและดึงดูดพนักงานด้วยการปรับเงินเดือนให้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดเพื่อรักษากำลังพลที่มีเอาไว้ ส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรด้านไอทีและที่ปรึกษาด้านไอที นอกจากนี้องค์กรขนาดเล็กยังมีอัตราส่วนในการปรับขึ้นเงินเดือน 3-5 เปอร์เซ็นต์นั้นมีมากเกินครึ่ง
แต่ถ้าแบ่งการสำรวจตามกลุ่มธุรกิจ 3 กลุ่มหลัก กลุ่มธุรกิจให้บริการ (Service Provider) ธุรกิจด้านการผลิต และธุรกิจการจัดจำหน่าย ได้มีผลสำรวจดังนี้
- กลุ่มธุรกิจให้บริการ 47 เปอร์เซ็นต์ มีอัตราส่วนการปรับขึ้นเงินเดือนอยู่ที่ 3-5 เปอร์เซ็นต์ และ 34 เปอร์เซ็นต์ มีอัตราส่วนปรับขึ้นเงินเดือนมากกว่า 5-7 เปอร์เซ็นต์
- ส่วนธุรกิจด้านการผลิต 50 เปอร์เซ็นต์ มีการปรับขึ้นเงินเดือนอยู่ที่ 3-5 เปอร์เซ็นต์ และ 2 เปอร์เซ็นต์ มีการปรับขึ้นเงินเดือนเพิ่มมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป
- ธุรกิจการจัดจำหน่าย 52 เปอร์เซ็นต์ มีการปรับขึ้นเงินเดือนอยู่ที่ 3-5 เปอร์เซ็นต์ และ 34 เปอร์เซ็นต์ มีการปรับขึ้นเงินเดือน 5-7 เปอร์เซ็นต์
- ธุรกิจรถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ ประกันภัยจ่ายโบนัสสูงสุด
มาถึงตัวเลขการจ่ายโบนัสของแต่ละองค์กรกันบ้าง โดยองค์กรส่วนใหญ่มีการจ่ายโบนัสเฉลี่ยที่ 1-2 เดือน สำหรับการจ่ายโบนัส 1 เดือนมีจำนวน 42 เปอร์เซ็นต์ ส่วน 2 เดือนอยู่ที่ 34 เปอร์เซ็นต์และ 3-5 เดือนอยู่ที่ 13 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มอุตสาหกรรมที่จ่ายโบนัสสูงถึง 5 เดือนขึ้นไปจะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต
แต่ถ้าแยกตามกลุ่มธุรกิจ จะพบว่า
- ธุรกิจให้บริการ แนวโน้มการจ่ายโบนัสเฉลี่ย 1 เดือนและ 2 เดือนมีสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ 41 เปอร์เซ็นต์ กับ 40 เปอร์เซ็นต์
- ธุรกิจด้านการผลิต มีการจ่ายโบนัส 1 เดือน คิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ และมีการจ่ายโบนัส 2 เดือน 39 เปอร์เซ็นต์ และมีการจ่ายโบนัส 3-5 เดือนคิดเป็น 19 เปอร์เซ็นต์ ของกลุ่มธุรกิจนี้
- ธุรกิจการจัดจำหน่าย มีการจ่ายโบนัส 1 เดือน คิดเป็น 46 เปอร์เซ็นต์ จ่ายโบนัส 2 เดือน คิดเป็น 37 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตามปัจจัยสนับสนุนการจ่ายโบนัสประจำปีขององค์กรต่างๆ จะอิงตามผลประกอบการรวมขององค์กรเป็นหลัก โดยสัดส่วนของการปรับขึ้นเงินเดือนและการจ่ายโบนัสขององค์กรยังไม่ทิ้งห่างจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามากนักเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจผันผวน หลายองค์กรต่างก็เร่งปรับตัวอย่างหนักเพื่อพัฒนาตัวเอง หนีตายและเอาตัวรอดในยุค Disruption ซึ่งฝั่งผู้ประกอบการเองจึงต้องมีการสื่อสารและทำความเข้าใจกับพนักงานให้ดีถึงการเติบโตขององค์กรที่อาจมีการชะลอตัวและส่งผลต่ออัตราการปรับขึ้นเงินเดือนและโบนัส เชื่อว่าถ้าคุณสื่อสารอย่างจริงใจ พนักงานจะเข้าใจและพร้อมจะอยู่เคียงข้างคุณแน่นอน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี