เปลี่ยนประชุมธรรมดาให้เป็น “ช่วงเวลามือซ้าย” กลยุทธ์เปิดใจพนักงานที่คุณก็ทำได้

TEXT: อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา





Main Idea
 
 
  • “มือซ้าย” นั้นสำคัญไฉน ในองค์กรแห่งหนึ่ง  พวกเขาจัดให้มีการประชุมระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ช่วงเวลามือซ้าย” หรือ Left Hand Session  โดยหัวหน้ามีหน้าที่รับฟังความรู้สึกต่างๆ ของลูกน้อง ว่าจะมีอะไรที่อยาก Feedback กับหัวหน้าบ้าง
 
  • การยกมือซ้ายระหว่างการพูด เป็นสัญลักษณ์ที่แทนหมายความว่า “ขออภัยในคำพูด ขอให้ผู้ฟัง ฟังแต่เนื้อหาที่ตั้งใจจะสื่อ โดยมองข้ามคำพูดที่อาจฟังดูไม่ดีไปเสีย” ทุกคนจึงกล้าพูดกล้าแสดงความคิดเห็น เพราะไม่ต้องระมัดระวังคำพูดที่อาจจะเป็นภัยกับตัวเองอีกต่อไป



     เมื่อหลายเดือนก่อน ผมไปทำงานในฐานะที่ปรึกษาให้กับบริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่ง ที่นี่เขามีวัฒนธรรมการทำงานหนึ่งที่น่าสนใจมาก
               

     โดยองค์กรเชื่อว่าการทำงานจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากบรรยากาศในการทำงานนั้นเป็นแบบ “เปิด” ​คือ ทุกคนสามารถพูดความรู้สึกที่มีต่อกัน และแสดงความคิดเห็นได้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งฟังดูแล้ว ก็ไม่ใช่แนวคิดที่แปลกประหลาดอะไร หลายๆ องค์กรก็พูดอย่างนี้เช่นกัน


     แต่ที่นี่ต่างจากที่อื่นตรงที่ เขาสามารถ​นำนโยบายที่ฟังดูสวยหรูแต่ค่อนข้างเพ้อฝันนี้ มาทำให้เกิดขึ้นจริงได้
               




      โดยในแต่ละเดือน องค์กรจะจัดให้มีการประชุมระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องภายในหน่วยงานเดียวกัน เป็นเวลาประมาณ 30-45 นาที เรียกว่า “ช่วงเวลามือซ้าย” (Left Hand Session) ซึ่งในการประชุมนี้ หัวหน้ามีหน้าที่รับฟังความรู้สึกของพนักงาน ว่าตลอดระยะเวลาที่ทำงานร่วมกันในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ลูกน้องมีความสุขความทุกข์อะไร และอยากให้ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) อะไรกับหัวหน้าบ้าง


     ผมมีโอกาสเข้าไปนั่งสังเกตการณ์ พบว่าบรรยากาศการประชุม ทุกคนกล้าพูดกล้าแสดงความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างที่แสดงความคิดเห็น ผู้ที่กำลังพูดจะยกมือซ้ายขึ้นมาสูงระดับหู และแบมือออก (คล้ายๆ ท่าการกล่าวคำปฏิญาณหรือสาบาน ... ทำนองนั้น)
               




     ผมไม่เข้าใจว่าทำไมทุกคนที่พูด ต้องทำท่าอย่างนั้น พอจบการประชุม จึงแอบไปสอบถามผู้บริหารที่ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมวันนั้น


     ท่านอธิบายว่า คนแต่ละคนมีวิธีการพูดไม่เหมือนกัน บางคนโชคดีมีพรสวรรค์ สามารถคัดสรรและประดิดประดอยคำพูดให้ฟังรื่นหู ในขณะที่บางคนมีความตั้งใจดี แต่โชคร้ายที่เป็นคนปรุงแต่งคำพูดไม่เป็น พูดแล้วกลายเป็นภัยกับตัวเอง





     เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ระหว่างคนพูดเก่งกับพูดไม่เก่ง จึงกำหนดให้ผู้พูดยกมือซ้ายขึ้น ซึ่งในองค์กร สัญลักษณ์การยกมือซ้ายระหว่างการพูด หมายความว่า


       “ขออภัยในคำพูด ที่อาจเลือกสรรคำพูดได้ไม่ดี พูดแล้วไม่เสนาะหู ขอให้ผู้ฟัง ฟังแต่เนื้อหาที่ตั้งใจจะสื่อ โดยมองข้ามคำพูดที่อาจฟังดูไม่ดี ไปเสีย”


     พอได้ฟังคำอธิบาย จึงเข้าใจเลยว่าทำไมในระหว่างการประชุม Left Hand Session ทุกคนจึงกล้าพูดกล้าแสดงความคิดเห็น เป็นเพราะพวกเขาไม่ต้องระมัดระวังว่า พูดแล้วจะเป็นภัยต่อตัวเองไหม พูดแล้วจะถูกมองไม่ดีหรือมีศัตรูเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ... การยกมือซ้าย คล้ายการมี “ม่านบาเรีย” (ม่านพิเศษที่ทำหน้าที่เป็นโล่ป้องกันภัย ในหนังการ์ตูนสมัยก่อน) มาคอยปกป้องคุ้มครอง ให้รอดพ้นจากหายนะทั้งปวง




     ในช่วงแรกๆ การยกมือซ้าย ทำกันเฉพาะในห้องประชุม Left Hand Session เดือนละครั้งเท่านั้น แต่ระยะหลังๆ ลุกลามไปทั่วองค์กร พนักงานพูดกับหัวหน้า เจ้านายพูดกับลูกน้อง เพื่อนร่วมงานพูดคุยกันเอง รวมถึงการประชุมต่างๆ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เป็นทางการหรือแบบสบายๆ เมื่อต้องพูดอะไรต่อกัน ที่อาจฟังดูละเอียดอ่อน ผมเห็นคนยกมือซ้ายเต็มไปหมด
               

     กลายเป็นวัฒนธรรมการทำงานที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นกันได้อย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา ไม่มีใครถือสาคำพูดใคร แต่มองลึกลงไปถึงเนื้อหาและความตั้งใจที่อีกฝ่ายต้องการสื่อ


      ช่างเป็นบรรยากาศการทำงานที่น่าอภิรมย์ดีแท้ อยากให้สังคมไทย สามารถพูดคุยกันได้แบบ “ยกมือซ้าย” จังเลย
               

      วันนี้แค่นี้ สวัสดีครับ
               
 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MANAGEMENT

เขียนสัญญาเช่ายังไงให้รัดกุม ธุรกิจไม่เสียเปรียบ

สัญญาเช่า เรื่องใกล้ตัวผู้ประกอบการหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่รู้ไหมการมีสัญญาเช่าที่ดีและรัดกุม สามารถป้องกันปัญหาและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้มากมาย

ทำงานให้ได้งาน 4 เทคนิคบริหารเวลา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ทำไมบางคนงานท่วมหัว ทำงานยุ่งอยู่ตลอดเวลา แต่งานกลับไม่หมดซะที แถมยังส่งงานไม่ทันกำหนด เราเลยมีเทคนิค เช่น Eisenhower Matrix, Eat that frog, Pomodoro และ กฎ 80/20  ซึ่งจะช่วยให้บริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพและชีวิตการทำงานไม่เครียดอีกต่อไป

ประชุมยังไงให้ได้งาน เทคนิคจาก 4 คนดังที่ประสบความสำเร็จ 

การประชุมที่มีประสิทธิภาพนำไปสู่ความสำเร็จ มักจะมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง เราจึงมีเคล็ดลับการประชุมที่แตกต่างกันของคนดังที่ประสบความสำเร็จ  พร้อมแนะนำเทคนิคที่จะช่วยให้การประชุมมีประสิทธิภาพมาฝาก