แปลและเรียบเรียง : เจษฏา ปุรินทวรกุล
ไม่ว่าจะยังไง เรื่องของพนักงานก็ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจ ยิ่งพนักงานที่มากประสบการณ์ มากความสามารถ เกิดวันหนึ่งเขาลาออกไป อาจเพราะเรื่องผลตอบแทนไม่ลงตัว ไม่มีโอกาสก้าวหน้าในสายงาน บรรยากาศการทำงานแย่ลง หรือด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม คนที่เป็นหัวหน้าไม่ควรคิดว่า “ช่างเถอะ เดี๋ยวเราก็หาคนใหม่ได้” เพราะการที่พนักงานลาออกจากบริษัทหนึ่งคนนั้น ไม่ใช่เรื่องที่คุณต้องกังวลว่าจะหาพนักงานมาแทนที่คนเก่าได้เมื่อไหร่เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมีเรื่องค่าใช้จ่ายลับที่ซ่อนอยู่ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่แอบดูดเงินเราอยู่แบบเงียบๆ โดยที่คุณอาจไม่รู้ตัว และเจ้าค่าใช้จ่ายลับที่ว่าก็คือ
ค่าความต่อเนื่องในการดำเนินงาน เมื่อพนักงานหายไปหนึ่งคน เชื่อเถอะว่าต่อให้มีการสอนงานให้กับคนใหม่ล่วงหน้า คนมาใหม่ก็ไม่มีทางเข้าใจสิ่งที่คนเก่าทำอยู่ได้ทั้งหมด จนกว่าจะเจอปัญหาเหล่านั้นด้วยตัวเอง และยิ่งถ้าบางบริษัทพนักงานที่ลาออกเกิดลาออกไปแบบกะทันหันขึ้นมา ก็ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะสิ่งที่เขารับผิดชอบอยู่ในมือ อาจเป็นเรื่องยอดขาย กระบวนการผลิต เอกสารที่ใช้ติดต่อกับหน่วยงานภายนอก ฯลฯ อันจะส่งผลให้บริษัทได้ยอดขายหรือกำไรน้อยลง หรืออาจทำให้กระบวนการผลิตติดขัดจนเสียหายไปทั้งระบบเลยก็เป็นได้
ค่ากำลังใจของพนักงาน ถ้าพนักงานคนหนึ่งออกจากบริษัทด้วยดี ทุกคนเบิกบาน ยิ้มส่ง และยินดีที่เขาได้พบเจอสิ่งที่ดีกว่าในชีวิต (อาจเป็นบริษัทใหม่ที่ใหญ่กว่า หรือไปเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัว) ก็โชคดีไป แต่ถ้าพนักงานคนนั้นจบกับบริษัทเดิมแบบไม่สวยละ มันก็จะกลายเป็นผลกระทบถึงเพื่อนๆ ของพนักงานคนนั้น อาจขาดแรงกระตุ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมลงลด ซึ่งมีซีอีโอ (CEO) หลายคนในสหรัฐฯ ที่วางแผนการเติบโตของบริษัทเอาไว้ 4-5 ปี แต่สุดท้ายกลับล่าช้าไป1-2 ปี กว่าจะทำได้สำเร็จ นั่นเป็นเพราะการลาออกของพนักงานทำให้แผนสะดุดลง
ค่าสูญเสียลูกค้า การสูญเสียพนักงานที่มีประสบการณ์ซึ่งคอยเทคแคร์ดูแลลูกค้าด้วยดีอย่างสม่ำเสมอไป มักส่งผลกระทบต่อความพึงพอใจของลูกค้า ยิ่งถ้าคนใหม่มาแล้วทำได้ไม่ดีเท่าคนเก่ายิ่งแล้วใหญ่ บางครั้งอาจแย่ถึงขั้นสูญเสียลูกค้าคนสำคัญไปเลยด้วยซ้ำ ลองนึกภาพตามดูนะ สมมติว่าลูกค้าดีลงานกับนาย A อยู่ คุยกันมา 3 เดือนจนถูกคอและเข้าใจนิสัยกันในระดับหนึ่ง อยู่ๆ บริษัทคุณให้นาย B มาดีลกับคุณ ต้องมาเริ่มทำความเข้าใจกันใหม่ แต่แล้วเดือนต่อมา บริษัทดันให้นาย C มาเริ่มดีลกับคุณใหม่ เป็นคุณจะเหนื่อยหรือเปล่า แน่นอนว่าลูกค้าอาจเกิดความรำคาญและมองหาบริษัทอื่นแทนในที่สุด
ค่าเสื่อมความน่าเชื่อถือ อัตราการเข้าออกของพนักงานมีมูลค่าด้านความน่าเชื่อถือของการบริหารจัดการภายในองค์กรที่สูงมากๆ ดังนั้น หากองค์กรมีพนักงานลาออกจากบริษัทมากๆ หรือลาออกเรื่อยๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือทั้งจากภายนอก ภายใน จนส่งผลกระทบต่อการทำงาน ความไว้วางใจของพนักงานที่มีต่อบริษัท ซึ่งจะทำให้พนักงานเหล่านี้ตัดสินใจลาออกได้ค่อนข้างง่าย
สิ่งสำคัญสำหรับการทำธุรกิจทุกๆ ธุรกิจในปัจจุบัน คือการสร้างบรรยากาศในที่ทำงาน หรือวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการรักษาพนักงานเอาไว้ให้ดี ซึ่งบ่อยครั้งที่เจ้าของบริษัทไม่พยายามมองถึงการลงทุนพัฒนา ซื้อใจ และให้เวลากับพนักงานในองค์กร เนื่องจากมองว่าเสียเงินและเวลาโดยเปล่าประโยชน์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะทางไหนคุณก็ต้องจ่าย และการจ่ายเพื่อรักษา ให้องค์กรเติบโต ลูกค้ารัก น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด
แปลและเรียบเรียงจากบทความของ Gwen Moran ผ่านทาง www.entrepreneur.com
Create by smethailandclub.com